เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ พันตรี เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ "ผู้พันตึ๋ง" เป็นนักโทษประหารชีวิต จากคดีฆาตกรรมผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เมื่อปี พ.ศ. 2544

ประวัติ[แก้]

เฉลิมชัย เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2496 เป็นบุตรของ พ.ท.ยอดชัย กับนางบัวกลีบ มัจฉากล่ำ จบการศึกษาระดับ ม.ศ.4(ปวช.)ที่โรงเรียนช่างกลนนทบุรี แผนกช่างไฟฟ้า และเข้าศึกษาต่อระดับ ปวส.ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ แผนกเทคนิคอุตสาหกรรม ระหว่างที่เป็นนักเรียนอาชีวะ เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปี พ.ศ. 2519 เขาถูกชักชวนจากพลตรี สุตสาย หัสดิน ให้เข้าร่วมขบวนการกระทิงแดง หลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายเฉลิมชัยได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และต่อมานายเฉลิมชัยเข้าสอบบรรจุเป็นทหารได้ ติดยศว่าที่ร้อยตรี ประจำศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด

เฉลิมชัย รับราชการจนในปี พ.ศ. 2531 ได้เลื่อนยศเป็น "พันตรี"

คดีฆ่าผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร[แก้]

เฉลิมชัย ถูกจับกุมตัวจากเหตุการณ์ที่นายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ถูกฆาตกรรมที่โรงแรมรอยัลแปซิฟิก ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยมีชนวนเหตุมาจากการทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงเขา

ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิต เฉลิมชัย ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น และศาลอุทธรณ์เห็นตามศาลชั้นต้น กระทั่งในปี พ.ศ. 2549 ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุด ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิต

ในปี พ.ศ. 2550 เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษลดวันต้องโทษ ได้ลดโทษจากโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ในปี พ.ศ. 2553 ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดวันต้องโทษอีกครั้ง จากจำคุกตลอดชีวิต เหลือจำคุก 50 ปี และในปี พ.ศ. 2554 ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดวันต้องโทษเช่นเดียวกัน จากจำคุก 50 ปี ได้ลดวันต้องโทษ 13 ปี[1] และได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 เขาถูกตำรวจจับกุมตัวอีกครั้งหลังจากกระทำผิดเงื่อนไขการพักโทษ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "อภัยโทษ′เสริม สาครราษฎร์′พ้นคุก 18ธ.ค. ′ชลอ-ผู้พันตึ๋ง-หมอวิสุทธิ์′แค่ลดโทษ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-05-02.
  2. รวบผู้พันตึ๋งกลับเข้าคุก ทำผิดการพักโทษ ออกไปนอกพื้นที่

ดูเพิ่ม[แก้]