เจ้าหญิงยาโนเรียแห่งบราซิล
เจ้าหญิงยาโนเรียแห่งบราซิล | |
---|---|
ยาโนเรีย มาเรีย ฮวนนา คาร์ลอตา ลีโอโพลดินา คันดิดา ฟรานซิสกา ซาเวียร์ เดอ เปาลา มิคาเอลา กาเบรียลา ราฟาเอลา กอนซากา เจ้าหญิงรัชทายาทแห่งจักรวรรดิบราซิล | |
![]() พระฉายาลักษณ์เจ้าหญิงยาโนเรียแห่งบราซิล ขณะมีพระชนมายุ 43 พรรษา พ.ศ. 2408 | |
เจ้าหญิงแห่งโปรตุเกส เจ้าหญิงแห่งบราซิล เจ้าหญิงรัชทายาทแห่งจักรวรรดิบราซิล เคานท์เตสแห่งอควิลา เคานท์เตสม่ายแห่งอควิลา | |
พระราชสวามี | เจ้าชายหลุยส์ เคานท์แห่งอควิลา |
พระราชบุตร | เจ้าชายหลุยส์ เคานท์แห่งร็อกคากูเกลมา เจ้าหญิงมาเรีย อิซาเบลลาแห่งบูร์บง-ทูซิชิลี เจ้าชายฟิลิปโปแห่งบูร์บง-ทูซิชิลี เจ้าชายมาเรีย เอ็มมานูเอลแห่งบูร์บง-ทูซิชิลี |
ราชวงศ์ | บราแกนซา |
พระราชบิดา | จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล |
พระราชมารดา | อาร์ชดัชเชสมาเรีย ลีโอโพลดีนาแห่งออสเตรีย |
ประสูติ | 11 มีนาคม พ.ศ. 2365 ณ พระราชวังเซา คริสโตเบา รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล |
สวรรคต | 13 มีนาคม พ.ศ. 2444 ณ นีซ ประเทศฝรั่งเศส (พระชนมายุ 79 พรรษา) |
เจ้าหญิงยาโนเรียแห่งบราซิล (พระนามเต็ม: ยาโนเรีย มาเรีย ฮวนนา คาร์ลอตา ลีโอโพลดินา คันดิดา ฟรานซิสกา ซาเวียร์ เดอ เปาลา มิคาเอลา กาเบรียลา ราฟาเอลา กอนซากา;[1] 11 มีนาคม พ.ศ. 2365 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2444) ทรงเป็นเจ้าหญิงบราซิลและเป็นเจ้าหญิงโปรตุเกส เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองในจักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิลกับอาร์ชดัชเชสมาเรีย ลีโอโพลดีนาแห่งออสเตรีย[1]
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ[แก้]
เจ้าหญิงยาโนเรียทรงประสูติในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2365 ณ พระราชวังเซา คริสโตเบาในรีโอเดจาเนโร ทรงดำรงเป็นเจ้าหญิงโปรตุเกส เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองในจักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิลกับจักรพรรดินีมาเรีย ลีโอโพลดีนา เจ้าหญิงทรงเข้ารับพิธีศีลจุ่มในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2365 ในวิหารหลวง และมีพระนามลำลองว่า "เจ้าหญิงแห่งอิสรภาพ" (Princesa da Independência)
เจ้าหญิงยาโนเรียทรงเจริญพระชันษาพร้อมๆกับพระอนุชาและพระภคินีของพระนาง เจ้าชายเปดรู, เจ้าหญิงเปาลา และ เจ้าหญิงฟรานซิสกา พระนามของเจ้าหญิงทรงถูกเลือกโดยพระราชบิดาเพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดรีโอเดจาเนโร เจ้าหญิงยาโนเรียประสูติหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายโจเอา คาร์ลอส พระเชษฐาเพียงหนึ่งเดือน
เจ้าหญิงทรงสูญเสียพระราชมารดาขณะมีพระชนมายุเพียง 4 พรรษาและทรงเห็นพระราชบิดาต้องเสด็จออกไปยังโปรตุเกสพร้อมกับพระมารดาเลี้ยงและพระเชษฐภคินีขณะมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา เจ้าหญิงต้องทรงเจริญพระชันษาด้วยการศึกษาที่เข้มงวดมาก
ในปีพ.ศ. 2376 เจ้าหญิงเปาลา พระขนิษฐาสิ้นพระชนม์ก่อนที่จะมีพระชนมายุครบ 10 พรรษา เจ้าหญิงยาโนเรียทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงพระราชบิดาว่า
- "ถึงเสด็จพ่อที่รัก ทั้งๆที่คำอธิษฐานของพวกเราคงจะไปถึงสวรรค์ น้องสาวที่น่ารักของเรา เปาลา มาเรียนาจากไปแล้ว ไม่พบการปลอบประโลม น้องสาวที่รักของเราจะไม่ได้อยู่กับเราอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ เปดรินโฮกลายเป็นคนป่วยจริงๆแล้ว คิดว่าเขาคงติดไข้เดียวกันจากเปาลา มาเรียนา แต่ขอขอบคุณสวรรค์ เขาอาการดีขึ้นและตอนนี้ยังคงนั่งเรียนอยู่ ในการแสดงความกตัญญูเรามานาชิและลูก ยาโนเรีย ธิดา จะไม่กินน้ำตาลจนกระทั่งวันครบรอบวันเกิดของเปดรู วันที่ 2 ธันวาคม เสด็จพ่อที่รักของลูก พวกเรากำลังหมดหวังและกังวลมาก พ่อจะมีค่ากับเราและยังรู้สึกคิดถึงพระพี่นางมาเรีย ดา กลอเรียและทุกคนที่อยู่กับเสด็จพ่อที่ลิสบอน เราจะสัญญาว่าจะเป็นเด็กที่เชื่อฟังและทรงโปรดรักยาโนเรีย, ฟรานซิสกา และเปดรูด้วย"
เจ้าหญิงรัชทายาท[แก้]

ด้วยการสละราชบัลลังก์ของจักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิลเพื่อเสด็จไปยังยุโรปและทำการฟื้นฟูราชบัลลัก์โปรตุเกสให้แก่พระราชธิดาพระองค์โตของพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถมาเรีย ดา กลอเรีย ทำให้การสืบราชสันตติวงศ์บราซิลต้องมีการปรับเปลี่ยน จากปีพ.ศ. 2378 จนถึงพ.ศ. 2388 เจ้าหญิงทรงได้รับพระอิศริยยศ เจ้าหญิงรัชทายาทแห่งบราซิลในฐานะทายาทโดยสันนิษฐานของพระอนุชา จักรพรรดิเปดรูที่ 2 แห่งบราซิล[1] โดยสภาสมัชชาแห่งชาติ เมื่อพระเชษฐภคินี สมเด็จพระราชินีนาถมาเรียทรงถูกตัดออกจากสิทธิการสืบราชบัลลังก์ด้วยกฎหมายมาตราที่ 91 ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2378 เจ้าหญิงยาโนเรียจึงทรงกลายเป็นทายาทโดยสันนิษฐานของราชบัลลังก์แห่งจักรวรรดิบราซิล
ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2379 เจ้าหญิงยาโนเรียทรงพระดำเนินไปยังห้องโถงของพระราชวังวุฒิสภา ทรงฉลองพระองค์ที่เต็มไปด้วยสีทองซึ่งจะสามารถเห็นเครื่องยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์กางเขนและทรงปรากฏพระองค์ในพระหัตถ์ที่ทรงถือบทสวดมนต์ ทรงประกาศด้วยพระสุรเสียงเคร่งขรึมว่า
- "ข้าพเจ้าสาบานที่จะปกปักษ์รักษา คาทอลิก,สมณทูต,โรมัน; จะยินยอมทำตามรัฐธรรมนูญแห่งชาติบราซิลและจะเชื่อฟังกฎหมายและองค์จักรพรรดิ"
ดังนั้นเจ้าหญิงยาโนเรียจึงทรงได้เป็นเจ้าหญิงรัชทายาทแห่งจักรวรรดิบราซิล จนกระทั่งการประสูติของเจ้าชายอฟอนโซ พระราชโอรสในจักรพรรดิเปดรูที่ 2 พระอนุชา
ความพยายามเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[แก้]

จักรพรรดิเปดรูที่ 2 พระอนุชา ยังทรงพระเยาว์ ในปีพ.ศ. 2379 รัฐบาลผู้สำเร็จราชการกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต และในตอนนี้เจ้าหญิงยาโนเรียทรงเริ่มเข้ามาในฐานะที่เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิเปดรูที่ 1 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนที่เป็นฝ่ายเสรีนิยมปานกลางได้ทำการถกเถียงว่าการสำเร็จราชการแทนพระองค์ถูกส่งผ่านไปอยู่กับเจ้าหญิงยาโนเรีย พระเชษฐภคินีในจักรพรรดิเปดรูที่ 2 และทรงเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทแห่งบราซิล ในขณะนั้นมีพระชนมายุ 15 พรรษา ดังนั้นพระนางจะสามารถรับเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ แต่ความคิดนี้ไม่ได้รับการดำเนินต่อ จากนั้นรัฐบาลจึงเข้าจัดการเสียเอง
อภิเษกสมรส[แก้]
ในฐานะที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์บราซิลที่สามารถสืบราชบัลลังก์ต่อได้ มันจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะจัดพิธีอภิเษกสมรสสำหรับเจ้าหญิงยาโนเรีย มาเรีย, จักรพรรดิเปดรูที่ 2 และเจ้าหญิงฟรานซิสกา พระภคินี[2]
คู่อภิเษกสมรสของทั้งเจ้าหญิงยาโนเรียและจักรพรรดิเปดรูที่ 2 มาจากราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง พระนางอภิเษกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์ เคานท์แห่งอควิลา (พระอนุชาในพระมเหสีของจักรพรรดิเปดรูที่ 2 คือ เจ้าหญิงเทเรซา คริสตินาแห่งทูซิชิลี) พระราชพิธีได้ถูกจัดในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2387 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร บราซิล[1] พระสวามีของพระนางเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งทูซิชิลีกับพระมเหสีพระองค์ที่สอง เจ้าหญิงมาเรีย อิซาเบลลาแห่งสเปน[1] ด้วยความไม่ลงรอยกันระหว่างเคานท์แห่งอควิลากับองค์จักรพรรดิ เจ้าหญิงยาโนเรียกับเคานท์แห่งอควิลาได้รับพระบรมราชานุญาตให้เสด็จออกจากบราซิลในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2387 ในปีพ.ศ. 2388 ฐานะการเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทของเจ้าหญิงยาโนเรียได้หมดไปเมื่อมีการประสูติของเจ้าชายอฟอนโซ พระราชโอรสในจักรพรรดิเปดรูที่ 2 พระอนุชา[3]
สิ้นพระชนม์[แก้]

เจ้าหญิงยาโนเรีย เคานท์เตสแห่งอควิลาสิ้นพระชนม์ที่นีซ ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2444 สิริพระชนมายุ 79 พรรษา เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิเปดรูที่ 1 และจักรพรรดินีมาเรีย ลีโอโพลดีนาที่สิ้นพระชนม์เป็นพระองค์สุดท้าย ชื่อเมืองยาโนเรียในรัฐมีนัสเชไรส์ ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นพระเกียรติแก่พระนาง
พระโอรสธิดา[แก้]
เจ้าหญิงยาโนเรียและเจ้าชายหลุยส์มีพระโอรสธิดาร่วมกัน 4 พระองค์ได้แก่
- เจ้าชายหลุยส์ เคานท์แห่งร็อกคากูเกลมา (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2388 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452) เจ้าชายทรงอภิเษกสมรสต่างฐานันดรกับมาเรีย อเมเลีย เบโลว์-ฮาเมล และมีบุตร 2 พระองค์
- เจ้าหญิงมาเรีย อิซาเบลลาแห่งบูร์บง-ทูซิชิลี (22 กรกฎาคม พ.ศ. 2389 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2402)
- เจ้าชายฟิลิปโปแห่งบูร์บง-ทูซิชิลี (12 สิงหาคม พ.ศ. 2390 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2465) เจ้าชายทรงอภิเษกสมรสต่างฐานันดรกับฟลอรา บูเนน และไม่มีบุตร
- เจ้าชายมาเรีย เอ็มมานูเอลแห่งบูร์บง-ทูซิชิลี (24 มกราคม พ.ศ. 2394 - 26 มกราคม พ.ศ. 2394)
พระอิศริยยศ[แก้]
- 11 มกราคม พ.ศ. 2365 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2365 : เจ้าหญิงยาโนเรียแห่งโปรตุเกส
- 12 ตุลาคม พ.ศ. 2365 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2378 : เจ้าหญิงยาโนเรียแห่งบราซิล, เจ้าหญิงแห่งโปรตุเกส
- 30 ตุลาคม พ.ศ. 2378 - 28 เมษายน พ.ศ. 2387 : เจ้าหญิงรัชทายาทแห่งบราซิล[1]
- 28 เมษายน พ.ศ. 2387 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2388 : เจ้าหญิงรัชทายาทแห่งบราซิล, เคานท์เตสแห่งอควิลา
- 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2388 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2440 : เคานท์เตสแห่งอควิลา
- 5 มีนาคม พ.ศ. 2440 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2444 : เคานท์เตสม่ายแห่งอควิลา
พระราชตระกูล[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Montgomery-Massingberd, Hugh, บ.ก. (1977). Burke's Royal Families of the World, Volume 1: Europe & Latin America. London: Burke's Peerage. p. 49. ISBN 0-85011-023-8.
- ↑ Barman, Roderick J. (1999). Citizen Emperor: Pedro II and the Making of Brazil, 1825–1891. Stanford, California: Stanford University Press. pp. 62, 75, 103. ISBN 0-8047-3510-7.
- ↑ Barman, Roderick J. (1999). Citizen Emperor: Pedro II and the Making of Brazil, 1825–1891. Stanford, California: Stanford University Press. pp. 49, 106. ISBN 0-8047-3510-7.
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Januária, Princess Imperial of Brazil
ก่อนหน้า | เจ้าหญิงยาโนเรียแห่งบราซิล | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีนาถมาเรียที่ 2 แห่งโปรตุเกส | ![]() |
![]() เจ้าหญิงรัชทายาทแห่งบราซิล (30 ตุลาคม พ.ศ. 2378 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2388) |
![]() |
เจ้าชายอฟอนโซแห่งบราซิล |