เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (เสือ สนธิรัตน์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์
(เสือ สนธิรัตน์)
เสนาบดีกรมวัง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2392 – พ.ศ. 2404
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (สมบุญ)
ถัดไปเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญศรี บูรณศิริ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เสียชีวิตพ.ศ. 2404
พระนคร ประเทศสยาม
ศาสนาพุทธ
บุพการี

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ นามเดิมว่า เสือ เป็นเสนาบดีกรมวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรชายของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรงตำแหน่งเป็นพระยาราชนิกูล เป็นแม่ทัพในสงครามอานัมสยามยุทธ

ประวัติ[แก้]

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ สนธิรัตน์) เป็นบุตรชายของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) แม่ทัพและสมุหนายกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มารดาของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) คือเจ้าสุมณฑาเชื้อพระวงศ์ลาวเวียงจันทน์[1] เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) มีพี่น้องได้แก่ เจ้าจอมอำพัน ในรัชกาลที่ 2 พระยาเสนาพิพิธ (หมี) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (มั่ง) และเจ้าจอมมารดาปุก ในรัชกาลที่ 3

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ปรากฏครั้งแรกดำรงตำแหน่งเป็นพระยาราชนิกูล ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสงครามอานัมสยามยุทธพ.ศ. 2374 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปตีเมืองไซ่ง่อน พระยาราชนิกูล (เสือ) เป็นแม่ทัพติดตามเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ไปกับการศึกในครั้งนี้ เมื่อยกทัพถึงเมืองพนมเปญ เจ้าพระยาบดินทรเดชามอบหมายให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาราชนิกูล (เสือ) ยกทัพบกจำนวน 7,000 คน ไปทางตะวันออกทางเมืองบาพนมตัดตรงสู่เมืองไซ่ง่อน ในขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ยกทัพเรือไปทางแม่น้ำบาสักไปเมืองไซ่ง่อน ปรากฏว่าทัพเรือญวนสามารถเอาชนะทัพเรือสยามได้ในการรบที่คลองหวั่มนาว (Vàm Nao) เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังถอยทัพกลับ[2] ชาวกัมพูชาจึงลุกฮือขึ้นต่อต้านกองทัพสยาม ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูลถูกชาวกัมพูชาโจมตีจึงทราบว่าทัพหลักของสยามพ่ายแพ้และถอยกลับไปแล้ว จึงยกทัพกลับปรากฏว่าพอถึงแม่น้ำโขงเรือที่ใช้ข้ามแม่น้ำถูกชาวกัมพูชาเก็บหายไปสิ้น พระยาพิไชยสงคราม (เพชร) ผูกแพเป็นทุ่นข้ามแม่น้ำโขง[2] ทัพของพระยาราชนิกูล (เสือ) จึงสามารถข้ามแม่น้ำโขงกลับมาได้ พระยาราชนิกูลและพระยาจ่าแสนยบดี ไปตั้งหลักที่บ้านอินกุมารแขวงเมืองกำพงสวาย เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีคำสั่งให้พระยาราชนิกูลถอยทัพกลับนครราชสีมา

สงครามอานัมสยามยุทธครั้งต่อมาในพ.ศ. 2383 ขุนนางกัมพูชาทั้งหลายต่างลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของเวียดนาม เจ้าพระยาบดินทรเดชามอบหมายให้พระยาราชนิกูล (เสือ) ยกทัพจากเมืองเสียมราฐขึ้นไปทางด้านเหนือของทะเลสาบเขมรเข้าโจมตีค่ายของญวนที่เมืองชีแครงและเมืองกำปงสวาย พระยาราชนิกูลสามารถยึดเมืองชีแครงและกำปงสวายได้สำเร็จ แต่ต่อมาไม่นาน"องเตียนกุน" เจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng) แม่ทัพญวนยกทัพมาตีเมืองกำพงสวายและชีแครงคืนไปทัพของพระยาราชนิกูลแตกพ่ายกลับมา[2]

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 พระยาราชนิกูล (เสือ) ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นพระยาเพชรพิไชย เจ้ากรมล้อมพระราชวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2394 ทรงแต่งตั้งพระยาเพชรพิไชย (เสือ) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีสุวีรมหามัตยวงศ์ ราชพงศนิกรานุรักษ์ มหาสวามิภักดิบรมราโชประการาภิรมย์ สรรโพดมกิจวิจารณ์ มหามนเทียรบาลบดินทร์ ราชนิเวศนินทรามาตย์ อันเตบุริกนารถเสนาธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ[3] เสนาบดีกรมวัง

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปีระกา พ.ศ. 2404[4] น้องชายของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) คือพระยาอุไทยมนตรี (มั่ง) เจ้าเมืองปราจีนบุรี ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (มั่ง) เสนาบดีกรมวังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครอบครัว[แก้]

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ปรากฏบุตรธิดาดังนี้;[5]

  • เจ้าจอมพุ่ม ในรัชกาลที่ 3
  • พระยามหาเทพ (แสง)

อ้างอิง[แก้]

  1. พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. ศกุนตลา บทลครร้องสำหรับเล่นบทเวที: ประวัติท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร. พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร, กรกฎาคม พ.ศ. 2504.
  2. 2.0 2.1 2.2 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  3. ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔. ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗; โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
  4. สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545.
  5. รัตนกุลอดุลยภักดี, พระยา. ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.