อี ฮวัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อีฮวาง)


อี ฮวัง
ชื่อเกาหลี
ฮันกึล
이황
ฮันจา
李滉
อาร์อาร์I Hwang
เอ็มอาร์Yi Hwang
นามปากกา
ฮันกึล
퇴계
ฮันจา
退溪
อาร์อาร์Toegye
เอ็มอาร์T'oegye
ชื่อสุภาพ
ฮันกึล
경호
ฮันจา
景浩
อาร์อาร์Gyeongho
เอ็มอาร์Kyŏngho
ชื่อมรณกรรม
ฮันกึล
문순
ฮันจา
文純
อาร์อาร์Munsun
เอ็มอาร์Munsun

อี ฮวัง (เกาหลี: 이황; 1501 – 1570) ชื่อรอง กย็องโฮ (เกาหลี: 경호) เป็นนักปราชญ์ลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) คนสำคัญของเกาหลีในสมัยราชวงศ์โชซอน[1] แนวคิดและผลงานของอี ฮวัง นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊อใหม่ของอาณาจักรโชซอนนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบหกเป็นต้นมา ทั้งยังเป็นบุคคลร่วมสมัยกันกับนักปราชญ์ลัทธิขงจื๊ออีกคนของเกาหลีอย่าง อี อี

ประวัติ[แก้]

อี ฮวังนั้นเกิดเมื่อ ค.ศ. 1501 ในรัชสมัยขององค์ชายยอนซัน ที่เมืองอันดง จังหวัดคย็องซังเหนือ เกาหลีใต้ในปัจจุบัน อี ฮวังเกิดในตระกูล ยังบัน ระดับล่าง บิดาคือ อีชิก (เกาหลี: 이식 李埴) เป็นขุนนางท้องถิ่น เมื่อ ค.ศ. 1533 อี ฮวังเดินทางมายังเมืองฮันยางเพื่อเข้าศึกษาในราชวิทยาลัยซองกยุงกวาน เพื่อเข้าทำการสอบควากอ (จอหงวนของเกาหลี) โดยเข้าเป็นศิษย์ของคิมอินฮุ (เกาหลี: 김인후 金麟厚) นักปราชญ์ขงจื้อใหม่คนสำคัญอีกคนหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อสอบควากอผ่านได้สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 1534 จึงเข้ารับราชการในสมัยของพระเจ้าจุงจง

อี ฮวังนั้นเป็นสมาชิกของนักปราชญ์กลุ่ม ซาริม (เกาหลี: 사림 士林) หรือกลุ่มที่ต่อต้านการปกครองของขุนนางกลุ่มที่มีอำนาจอยู่ในราชสำนักขณะนั้น อี ฮวังได้รับอิทธิพลจากนักปราชญ์กลุ่มซาริมต่างๆเช่น โชกวางโจ (เกาหลี: 조광조 趙光祖) ซึ่งถูกประหารชีวิตไปในข้อหากบฏเมื่อ ค.ศ. 1519 เมื่อเริ่มแรกอี ฮวังรับราชการอยู่ในฮงมุนกวาน อันเป็นหน่วยงานที่คอยตรวจสอบการทำงานของขุนนางผู้ใหญ่ อี ฮวังรับราชการในราชสำนักในรัชสมัยของพระเจ้าจุงจง พระเจ้าอินจง และพระเจ้ามยองจง อยู่เป็นเวลาประมาณยี่สิบปี จนกระทั่งค.ศ. 1545 เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ปราชญ์ปีอึลซา (เกาหลี: 을사사화 乙巳士禍) ยุนวอนฮย็อง (เกาหลี: 윤원형 尹元衡) พระเชษฐาของพระพันปีมุนจองและพระปิตุลาของพระเจ้ามยองจงเถลิงอำนาจขึ้นในราชสำนัก มีขุนนางฝ่าย ซาริม หลายคนรวมทั้ง อี แฮ (เกาหลี: 이해 李瀣) น้องชายของอี ฮวัง ต่างได้รับผลกระทบถูกลงโทษจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้อี ฮวังเกิดความเบื่อหน่ายในการเมืองราชสำนักและการฉ้อราชย์บังหลวง จึงลาออกจากราชการกลับไปยังบ้านเกิดของตนที่เมืองอันดงเมื่อ ค.ศ. 1549

โทซันซอวอน ที่เมืองอันดง จังหวัดคย็องซังเหนือ เกาหลีใต้ในปัจจุบัน บ้านเกิดของอี ฮวัง

เมื่อกลับมาอยู่บ้านเกิดที่เมืองอันดงแล้ว อี ฮวังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาค้นคว้าหลักปรัชญาของลัทธิขงจื้อใหม่ โดยเฉพาะสำนักของจูซื่อ (Zhu Xi) ซึ่งอี ฮวังยึดมั่นเป็นอย่างมาก และในระหว่างนี้อี ฮวังได้ผลิตผลงานเกี่ยวกับหลักปรัชญาขงจื้อขึ้นมาหลายเล่ม ใน ค.ศ. 1560 อี ฮวังริเริ่มการจัดตั้งและก่อสร้างสำนักปราชญ์โทซัน หรือ โทซันซอวอน (เกาหลี: 도산서원 陶山書院) ขึ้นที่เมืองอันดงบ้านเกิด ไว้เพื่อเป็นสำนักศึกษาสำหรับนักเรียนและนักปราชญ์ขงจื้อรุ่นใหม่ เพื่อสร้างคนดีมีคุณธรรมเข้ารับราชการในราชสำนัก เมื่อยุนวอนฮย็องถูกประหารชีวิตไปในค.ศ. 1565 พระเจ้ามยองจงทรงพยายามรวบรวมขุนนางฝ่ายซาริมกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง พระเจ้ามยองจงทรงร้องขอให้อี ฮวังกลับไปรับราชการอยู่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งอี ฮวังดำรงตำแหน่งเพียงเวลาไม่นานนัก และทูลลาออกกลับบ้านเกิด

ใน ค.ศ. 1568 อี ฮวังแต่งหนังสือเรื่อง แผนภูมิทั้งสิบเกี่ยวกับหลักคุณธรรม ("Ten Diagrams on Sage Learning" เกาหลี: 성학십도 聖學十圖) ถวายพระเจ้าซอนโจ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของอี ฮวัง และในปี ค.ศ. 1569 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมพิธีการ (เกาหลี: 이조판서 禮曹判書) แต่อี ฮวังอยู่ในตำแหน่งไม่นานนักและกลับสู่บ้านเกิดเช่นเดิม อี ฮวังถึงแก่กรรมที่เมืองอันดงบ้านเกิดของตนเมื่อปี ค.ศ. 1570 อายุ 69 ปี

สิ่งสืบทอด[แก้]

ภาพของอี ฮวังบนธนบัตร 1,000 วอนของเกาหลีใต้

พระเจ้าซอนโจทรงอุปถัมป์โทซันซอวอนใน ค.ศ. 1575 และให้มีการสร้างจนเสร็จสิ้น สำนักปราชญ์โทซันเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเกาหลีในสมัยโชซอนและดึงดูดนักเรียนจากทั่วภูมิภาคยองนัม เรียกแนวความคิดและหลักปรัชญาของอี ฮวังว่า สำนักยองนัม (เกาหลี: 嶺南學派) ใน ค.ศ. 1605 องค์ชายควางแฮทรงยกย่องอี ฮวังโดยสร้างศาลเพื่อกราบไหว้บูชาอี ฮวังขึ้นในซองกยุงกวาน ศิษย์ของอี ฮวังต่างเข้าไปมีบทบาทในราชสำนักเช่น ยู ซองลยอง หลักปรัชญาและผลงานของอี ฮวังเป็นที่ยึดถือของนักปราชญ์และขุนนางในสมัยต่อมา โดยเฉพาะฝ่ายตะวันออกหรือ ทงอิน และฝ่ายใต้หรือ นัมอิน ในสมัยต่อมา

Toegyero ถนนใจกลางโซล ตั้งชื่อตามเขา[2]และมีการใส่ภาพของเขาในธนบัตร 1,000 วอน[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Daehwan, Noh. "The Eclectic Development of Neo-Confucianism and Statecraft from the 18th to the 19th Century," เก็บถาวร มิถุนายน 14, 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Korea Journal. Winter 2003.
  2. (ในภาษาเกาหลี) Toegyero[ลิงก์เสีย] at Doosan Encyclopedia
  3. (ในภาษาเกาหลี) The new 1,000 won bill, Maeil Business News, 2006-01-17. Retrieved 2010-07-08.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Daehwan, Noh (Winter 2003). "The Eclectic Development of Neo-Confucianism and Statecraft from the 18th to the 19th Century". Korea Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-14.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]