อาเมะ โนะ อูซูเมะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาเมะ-โนะ-อูซูเมะ)
อาเมะ-โนะ-อูซูเมะ
เทพีแห่งรุ่งอรุณ การทำสมาธิ และศิลปะ
รูปปั้นของเทพีอาเมะ-โนะ-อูซูะเมะที่ศาลเจ้าอามะ-โนะ-อิวาโตะ
คู่ครองซารูตาฮิโกะ โอกามิ
เทียบเท่าในกรีกอีออส[1]
เทียบเท่าในโรมันออโรรา[1]
เทียบเท่าในศาสนาฮินดูอุษาเทวี[1]

อาเมะ-โนะ-อูซูเมะ-โนะ-มิโกโตะ (ญี่ปุ่น: 天宇受売命, 天鈿女命โรมาจิAme-no-Uzume-no-Mikoto) เป็นเทพีแห่งรุ่งอรุณ ความรื่นเริง การทำสมาธิ และศิลปะในลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่น และเป็นภรรยาของเทพซารูตาฮิโกะ โอกามิ เป็นเทพีที่มีชื่อเสียงจากความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวการหลบซ่อนตัวของอามาเตราซุ โอมิกามิ เทพีแห่งดวงอาทิตย์ ชื่อของพระนางยังเรียกได้อีกชื่อเป็น อามะ-โนะ-อูซูเมะ และยังมีอีกชื่อว่า โอมินาโมนะ-โนะ-โอกามิ เทพแห่งอินาริ ซึ่งอาจจะมีที่มาจากความสัมพันธ์กับสามีของพระนาง[2][3]

ตำนาน[แก้]

อามาเตราซุและถ้ำ[แก้]

อูซูเมะร่ายรำเพื่อล่อให้อามาเตราซุออกมาจากถ้ำ

เทพแห่งพายุซูซาโนโอะ น้องชายของเทพีอามาเตราซุ ได้ทำลายทุ่งนาของอามาเตราซุ ถลกหนังม้าขว้างไปที่เครื่องทอผ้าของพระนาง และสังหารหญิงรับใช้คนหนึ่งของพระนางอย่างโหดเหี้ยมเนื่องจากการวิวาทระหว่างทั้งสอง ฝ่ายเทพีอามาเตราซุโกรธมากและหนีไปหลบในถ้ำหินสวรรค์ อามะ-โนะ-อิวาโตะ โลกที่ไร้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์พลันมืดมิดและเหล่าทวยเทพก็ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมอามาเตราซุให้ออกจากที่ซ่อนได้

เทพีอูซูเมะผู้เฉลียวฉลาดจึงคว่ำถังน้ำใกล้ทางเข้าถ้ำและเริ่มร่ายรำบนนั้น ฉีกอาภรณ์ของพระนางออกต่อหน้าเทพองค์อื่น ๆ เหล่าเทพเห็นว่าตลกมากก็หัวเราะเสียงดัง[4] ว่ากันว่าการร่ายรำนี้เป็นการริเริ่มของระบำคางูระ อันเป็นการร่ายรำในพิธีกรรมของญี่ปุ่น[5]

เทพีอูซูเมะแขวนกระจกสัมฤทธิ์และมณีหยกขัดเงาที่งดงาม ฝ่ายเทพีอามาเตราซุได้ยินเสียงรื่นเริงด้านนอกจึงมองออกไปเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อพระนางเปิดถ้ำก็เห็นมณีและเงาสะท้อนอันงดงามของพระนางบนกระจกที่เทพีอูซูเมะแขวนไว้บนต้นไม้ จึงค่อย ๆ เดินออกมาจากที่ซ่อนของพระนาง

ในขณะเดียวกัน เทพอาเมะ-โนะ-ทาจิการาโอะ-โนะ-มิโกโตะก็รีบเข้าไปปิดถ้ำที่อยู่ด้านหลังหลังพระนางเพื่อไม่ให้พระนางหนีกลับเข้าไปหลบข้างในได้อีก เทพอีกองค์ผูกเชือกวิเศษชิเมนาวะไว้ตรงทางเข้าถ้ำ[6] เทพอาเมะ-โนะ-โคยาเนะ-โนะ-มิโกโตะและเทพอาเมะ-โนะ-ฟูโตดามะ-โนะ-มิโกโตะได้ขอร้องให้เทพีอามาเตราซุกลับมาเข้าร่วมกับเหล่าเทพอีกครั้ง พระนางตกลงและแสงสว่างก็กลับคืนสู่โลก

อูซูเมะและซารูตาฮิโกะ[แก้]

เทพซารูตาฮิโกะ (ซ้าย) และเทพีอูซูเมะ (ขวา)

เทพอามาเตราซุสั่งให้เทพีอูซูเมะร่วมเดินทางไปส่งนินิงิ หลานชายของพระนางในการเดินทางมายังโลก ขบวนมุ่งหน้าไปที่อาเมะ-โนะ-อูกิฮาชิ ("สะพานลอยแห่งสวรรค์") เพื่อที่จะมุ่งหน้าไปยังโลก แต่เทพซารูตาฮิโกะขวางไว้ อูซูเมะเข้ามาหาและเกลี้ยกล่อมให้ซารูตาฮิโกะเปิดทางให้นินิงิผ่าน ในเรื่องเล่ากระแสอื่น อูซูเมะได้เข้าไปเกี้ยวพาราสีซารูตาฮิโกะ

ต่อมาอูซูเมะและซารูตาฮิโกะแต่งงานกัน ทั้งคู่เป็นต้นตระกูลของตระกูลซารูเมะ [7][8][9]

การสักการะ[แก้]

แผ่นจารึกที่ศาลเจ้าอาเมะ-โนะ-อูซูเมะ เมืองทากาจิโฮะ

ปัจจุบันยังมีการสักการะเทพีอาเมะ-โนะอูซูเมะในฐานะเทพในลัทธิชินโต

มีศาลเจ้าหลายแห่งที่สร้างอุทิศให้กับเทพีอูซูเมะ เช่น ศาลเจ้าชิโยะ ศาลเจ้าสึบากิแห่งอเมริกา และศาลเจ้าสึบากิ[10][11]

ความคล้ายคลึงกับศาสนาพราหมณ์[แก้]

นักนิรุกติศาสตร์ไมเคิล วิตเซลกล่าวว่าอูซูเมะมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับอุษาเทวี เทพีของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีต้นแบบมาจากเทพี Hausos (*h₂éwsōs) ในเทพปรณัมของโปรโต-อินโด-ยูโรเปียน เทพีทั้งสององค์มีความคล้ายคลึงในหลายแง่มุม เช่น ถ้ำ (วลา/อิวาโตะ) และการเผยหน้าอกอันเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ วิตเซลเสนอว่าศาสนาญี่ปุ่นและศาสนาพราหมณ์มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดมากกว่าเมื่อเทียบกับเทพปรณัมอื่นในกลุ่มที่วิตเซลเรียกว่า Laurasian mythology และที่มาของเทพปรณัมทั้งสองอาจสืบย้อนไปถึงยุคอินโด-อิหร่านเมื่อราว 2000 ปีก่อนคริสตกาล และทำให้เทพีอูซูเมะมีความคล้ายคลึงกับเทพีอีออสในเทพปรณัมกรีกและออโรราในเทพปรณัมโรมัน[1]


อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Witzel, Michael (2005). Vala and Iwato: The Myth of the Hidden Sun in India, Japan, and beyond (PDF).
  2. "Treasures of the Morikami". Morikami Museum and Japanese Gardens. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-21. สืบค้นเมื่อ 23 August 2012.
  3. "Iwato". Hamada City. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 January 2014. สืบค้นเมื่อ 23 August 2012.
  4. Frédéric, Louis (2002). Japan Encyclopedia. Harvard University Press. pp. 27–28. ISBN 0-674-00770-0.
  5. Lancashire, Terence (2004). "From Spirit Possession to Ritual Theatre: A Potential Scenario for the Development of Japanese Kagura". Yearbook for Traditional Music. International Council for Traditional Music. 36: 90–108. ISSN 0740-1558. JSTOR 20058793.
  6. Addiss, Stephen; Groemer, Gerald; Rimer, Thomas, บ.ก. (2006). Traditional Japanese Arts And Culture: An Illustrated Sourcebook. University of Hawai'i Press. pp. 16–17. ISBN 978-0-8248-2878-3.
  7. Picken, Stuart D. B. (2004). Sourcebook in Shinto: Selected Documents (ภาษาอังกฤษ). Greenwood Publishing Group. ISBN 978-0-313-26432-0.
  8. Roberts, Jeremy (2009). Japanese Mythology A to Z (ภาษาอังกฤษ). Infobase Publishing. ISBN 978-1-4381-2802-3.
  9. Coulter, Charles Russell; Turner, Patricia (2013-07-04). Encyclopedia of Ancient Deities (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-135-96397-2.
  10. "Tsubaki Grand Shrine of America". www.tsubakishrine.org. สืบค้นเมื่อ Nov 23, 2020.
  11. "Chiyo Shrine". Hikone Travel Guide. 5 September 2017. สืบค้นเมื่อ Nov 23, 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]