อัลโฟนส์ มูคา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัลโฟนส์ มูคา
อัลโฟนส์ มูคา ประมาณปี ค.ศ. 1906
เกิดอัลโฟนส์ มารียา มูคา
24 กรกฎาคม ค.ศ. 1860(1860-07-24)
อิวันชิตเซ, โมเรเวีย, จักรวรรดิออสเตรีย (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก)
เสียชีวิต14 กรกฎาคม ค.ศ. 1939(1939-07-14) (78 ปี)
ปราก, รัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมเรเวีย
สัญชาติเช็ก
การศึกษาสถาบันวิจิตรศิลป์มิวนิก
สถาบันฌูว์ลีย็อง
สถาบันกาโลรอสซี
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม, มัณฑนศิลป์, ภาพประกอบ (illustration)
ผลงานเด่นThe Slav Epic (Slovanská epopej)
ขบวนการนวศิลป์
Patron(s)Count Karl Khuen of Mikulov

อัลโฟนส์ มารียา มูคา (เช็ก: Alfons Maria Mucha) เป็นศิลปินแนวนวศิลป์ (Art Nouveau) ที่มีผลงานออกแบบอย่างหลากหลาย ทั้งภาพโปสเตอร์ ปฏิทิน ภาพประกอบหนังสือ งานพิมพ์ ภาพพิมพ์หิน งานโลหะ งานหนัง การออกแบบเครื่องประดับ และการออกแบบของตกแต่งบ้าน อีกทั้งยังมีผลงานวาดภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกด้วย นับว่าเป็นศิลปินมากความสามารถ และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นคนหนึ่ง

ประวัติและชีวิตส่วนตัว[แก้]

ต้นกำเนิด[แก้]

อัลโฟนส์ มูคา เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1860 ในเมืองอิวันชิตเซ (Ivančice) ภูมิภาคโมเรเวีย ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก เขามีความสามารถในการร้องเพลง ส่วนศิลปะนั้น เริ่มต้น จัดเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของเขา แต่ต่อมา เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนท้องถิ่น ความสนใจทางด้านศิลปะจึงเริ่มมีมากขึ้น[1]

จุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปิน[แก้]

เมื่อเขามีอายุ 17 ปี ก็ได้ออกจากบ้านเพื่อมาทำงานเป็นจิตรกรตกแต่งฉากเวทีที่ริงเทอาเทอร์ (Ringtheater) ในเวียนนา แต่โรงละครเกิดไฟไหม้ทำให้เขาต้องตกงาน และต่อมาได้ถูกเชิญให้ไปตกแต่งปราสาทของเคานต์คาร์ล (Count Karl Khuen-Belasi) แห่งเอมมาโฮฟ (Emmahof) ในออสเตรีย ซึ่งถือเป็นผู้มีพระคุณต่อการสนับสนุนทางการเงินแก่เขาในการเข้าเรียนศิลปะในสถาบันสอนการศึกษาที่มิวนิก[2][3]

ในปี ค.ศ. 1887 เขาก็ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงปารีสเพื่อศึกษาต่อที่สถาบันฌูว์ลีย็อง (Académie Julian) และสถาบันกาโลรอสซี (Académie Colarossi) ซึ่งช่วงนี้เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนาบี ซึ่งเป็นศิลปินในลัทธิประทับใจยุคหลัง (post-impressionism) ที่มีเทคนิคหลากหลาย พวกเขาทำงานศิลป์ลงในหลายวัสดุนอกจากผ้าใบ ยังมีเซรามิก โปสการ์ด เสื้อผ้า นอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลจากคตินิยมศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นมางานศิลปะแบบนวศิลป์[4] ต่อมาในปี ค.ศ. 1889 มูคาต้องออกจากสถาบันกาโลรอสซีเมื่อเคานต์คาร์ลเสียชีวิต[5] และหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียนการ์ตูน เขียนภาพลงนิตยสาร และภาพประกอบโฆษณา นับเป็นช่วงเวลาที่เขามีผลงานผลิตออกมาจำนวนมาก ซึ่งลักษณะงานก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบที่เคยร่ำเรียนมาจากสถาบันศิลปะ แต่ก็ทำให้เขาได้สะสมประสบการณ์จากทำงานและได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะควบคู่กันไป และคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จด้านงานออกแบบตกแต่งต่อไป[6][7]

จุดพลิกผันให้กลายเป็นศิลปินผู้โด่งดัง[แก้]

ในปี ค.ศ. 1894 เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตมูคา เมื่อเขาวาดภาพ Gismonda ผลงานโปสเตอร์ชิ้นแรกที่เขาวาดให้แก่ซารา แบร์นาร์ต (Sarah Bernhardt) ซึ่งเขาได้งานชิ้นนี้อย่างบังเอิญ เนื่องจากภายในร้าน Lemercier ที่ซารา แบร์นาร์ต นางเอกละครผู้โด่งดังมาใช้บริการมีแต่ผลงานของมูคาที่จัดแสดงอยู่คนเดียวเท่านั้น เขาจึงได้งานจากซารา แบร์นาร์ต และผลงานโปสเตอร์สำหรับละครเรื่องนั้นส่งผลให้เขาโด่งดังอย่างมากในช่วงปี 90 ยากที่จะหาใครมาเทียบได้[8] มูคาทำสัญญากับซารา แบร์นาร์ตเป็นเวลา 6 ปี ตลอดช่วงเวลานี้ เขาออกแบบโปสเตอร์ที่งดงามให้เธอ 9 ชิ้น รวมทั้งช่วยงานเธอ ทั้งออกแบบเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและเวทีในละครต่าง ๆ ที่เธอมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย สาธารณชนเองก็ชอบงานของเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน มูคาก็ผูกมัดกับตัวเองด้วยสัญญาที่ทำไว้กับโรงพิมพ์ Champenois ที่ซึ่งเขามีรายได้ประจำจากการออกแบบโปสเตอร์ การทำงานร่วมกับโรงพิมพ์ครั้งนี้ นำทางให้เขาได้แสดงความสามารถด้านงานภาพพิมพ์หิน (lithography) ก็ยิ่งส่งให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง[9]

ราวปี ค.ศ. 1900 ถือเป็นช่วงเวลาที่มูคาประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดแทบในทุกด้าน ทั้งในด้านการเป็นศิลปินผู้โด่งดัง และยังเป็นอาจารย์สอนศิลปะการออกแบบด้วย[10] เขาจัดทำหนังสือ Documents Decoratives และ Figures Decoratives ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับนวศิลป์อย่างสมบูรณ์ แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่เขามีต่อการศึกษาศิลปะในโรงเรียน และพยายามที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านการออกแบบให้กว้างขวาง แม้หนังสือทั้งสองเล่มจะสนับสนุนให้มูคาที่ชื่อเสียงที่โด่งดังมากขึ้น แต่เมื่อหนังสือถูกจำหน่ายกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้า เนื่องจากสำนักพิมพ์ที่เขาทำสัญญาด้วยทำการตลาดโดยแถมหนังสือ Documents Decoratives เมื่อซื้อหนังสือ Figures Decoratives ซึ่งเหมือนเป็นการไม่ให้คุณค่าของหนังสือเท่าที่ควร ประกอบกับเมื่อออกจำหน่ายกลับทำให้เขายุ่งยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะลูกค้าไม่ได้สั่งซื้องานตามแบบในหนังสือ แต่มักจะขอเปลี่ยนแบบเพื่อให้ได้งานที่พิเศษไม่เหมือนใคร ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่มูคาตัดสินใจออกจากปารีสไปเผชิญโลกใหม่ที่อเมริกาก็เป็นได้[11]

ย้ายจากกรุงปารีสสู่สหรัฐอเมริกา[แก้]

เมื่อมูคาย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อหวังที่จะพบโลกใหม่ ซึ่งคงสอดคล้องกับประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นที่เป็นดินแดนแห่งโลกใหม่เป็นยุคแห่งความก้าวหน้าของสหรัฐอเมริกา (Progressive Era) ที่ซึ่งเขาทำงานด้านการออกแบบออกมาควบคู่ไปกับการสอนวาดภาพและองค์ประกอบที่สถาบันศิลปะชิคาโกด้วย[12] และเขายังได้พบรักและแต่งงานกับหญิงสาวชาวเช็กที่ชื่อ Marie Chytilova ในปี ค.ศ. 1906 ซึ่งภายหลังพวกเขามีลูกสาวและลูกชายด้วยกัน นอกจากนี้ มูคายังได้พบกับชาลส์ ริชาร์ด เครน นักอุตสาหกรรมชาวอเมริกันผู้ร่ำรวยและสนับสนุนให้เขาวาดภาพประวัติศาสตร์สาธารณรัฐเช็กโดยไม่เกี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายและราคา[13]

กลับบ้านเกิด[แก้]

ในปี ค.ศ. 1910 มูคาและครอบครัวเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ที่ซึ่งเขาทำผลงานชิ้นสุดท้าย ที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจและมีพื้นฐานมาจากผลงานด้านประวัติศาสตร์ก่อน ๆ ของเขาเอง เช่น ปี ค.ศ. 1880 งานภาพปูนเปียก (fresco) ที่เอมมาโฮฟในโมเรเวีย, ภาพฝาผนังที่งานนิทรรศการนานาชาติ กรุงปารีส ในปี ค.ศ. 1900, งานตกแต่งภายในโรงละครเยอรมันในนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1908 และงานภาพฝาผนังให้กับศาลาว่าการกรุงปราก โดยผลงานชิ้นสุดท้ายนี้ชื่อว่า "The Slav Epic" ภาพแห่งประวัติศาสตร์แห่งมหากาพย์ชนชาติสลาฟ ซึ่งเป็นผลงานที่ครอบงำการทำงานของมูคาในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ช่วงปลายปี ค.ศ. 1930 ลัทธิฟาสซิสต์เริ่มมีอำนาจมากขึ้นและมองว่าผลงาน "The Slav Epic" ของมูคามีแนวคิดชาตินิยม สลาฟ หากมองในแง่ร้ายก็เป็นการขัดต่ออำนาจของลัทธิ และเมื่อกองทัพนาซีย้ายเข้าไปอยู่ในสโลวาเกีย มูคาเป็นคนแรกที่กองทัพจับตัวไปสอบปากคำ แต่เมื่อพบว่ามูคาป่วยด้วยโรคปอดบวมจึงได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ทำให้เชื่อกันว่า เขาอาจจะได้รับการกระทำกระเทือนจากเหตุการณ์นี้ จนทำให้เขาเสียชีวิตเนื่องจากปอดติดเชื้อในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1939 ไม่นาน ก่อนที่จะเกิดการรุกรานของสโลวาเกียโดยกองทัพเยอรมัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดชีวิตการทำงานศิลปะของมูคา แทบจะไม่มีเวลาไหนเลยที่เขาได้หยุดสร้างงาน ซึ่งผลงานของเขาก็จะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยผลงานนั้นก็มีความแตกต่างกันหลาย ๆ ด้าน ทั้งศิลปะการออกแบบที่เป็นนวศิลป์อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนำเสนออย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพโปสเตอร์สำหรับซารา แบร์นาร์ตปฏิทิน ภาพประกอบหนังสือ นอกจากนี้ เขายังมีงานด้านประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏผลงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 เรื่อยมา ควบคู่ไปกับงานศิลปะการออกแบบและตกแต่ง[14]

แนวความคิดในการสร้างผลงาน[แก้]

อัลโฟนส์ มูคาเป็นศิลปินที่มีความสามารถสูงและประสบความเสร็จเป็นอย่างมาก เขาทำงานหลากหลายประเภท หลายสาขาวิชา ทั้งในเชิงพาณิชย์และวิจิตรศิลป์ ภาพวาดรูปผู้หญิง ดอกไม้ และธรรมชาติของเขาเป็นที่รู้จักกันดี รวมไปถึงความมีสุนทรีศาสตร์และปรัชญาในตัวสูง ผลิตผลงานออกมามากมายทั้งโปสเตอร์ ป้ายโฆษณา หนังสือออกแบบ อาทิการออกแบบเครื่องประดับ พรม วอลเพเปอร์ และฉากเวที ซึ่งผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการเรียกในระยะแรกว่า แบบอย่างมูคา (Mucha Style) แต่ต่อมาได้กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อของนวศิลป์

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[แก้]

งานของมูคาส่วนใหญ่จะมีเอกลักษณ์ที่สวยงาม แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของหญิงสาว กับความพริ้วไหวเบาบางของเสื้อผ้าแบบลัทธิคลาสสิกใหม่ (neoclassicism) และถูกมักจะแวดล้อมไปด้วยดอกไม้นานาชนิด บางครั้งอาจมีรัศมี (haloes) ปรากฏที่ด้านหลังศีรษะด้วย และความแตกต่างจากนักทำโปสเตอร์ที่ร่วมสมัยกับมูคา คือ การใช้สีอ่อน ซีดจาง (Pastel Colors) ในการทำงาน[15] นอกจากนี้ งานของเขายังแฝงไปด้วยจิตวิญญาณ โชคชะตา และความลึกลับ เนื่องจากเขาเคยกล่าวว่า โชคชะตาของเขานั้นดีที่มีผู้อุปถัมภ์งานอยู่เสมอ[16] ดังนั้น งานในระยะนี้ของเขาจึงนับว่าเป็นการผสมผสานรูปแบบความงานของศิลปะตะวันตกเข้ากับจิตวิญาณของศิลปะตะวันออกได้อย่างลงตัว[17]

คริสต์ศตวรรษที่ 20[แก้]

มูคายังคงทำงานออกแบบตกแต่งอยู่เช่นเดิม ทั้งงานด้านการตกแต่งตามแนวนวศิลป์ ซึ่งเขาได้ชี้แจงไว้ว่า ศิลปะไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารทางจิตวิญญาณ จากความผิดหวังที่ได้รับผลกระจบจากพาณิชย์ศิลป์ เขาจึงหันมาให้ความสนใจกับงานศิลป์ที่ดูสูงส่งบริสุทธิ์และงานศิลปะเช็กจากบ้านเกิดของเขา และเขาเมื่อได้พบกับชาลส์ ริชาร์ด เครน ที่สนับสนุนให้เขาวาดภาพประวัติศาสตร์เช็ก นับจากนั้นเขาก็เริ่มสนในงานประวัติศาสตร์มากขึ้นจากเดิม และคงสอดคล้องกับแนวความคิดของเขาที่ว่า เมื่ออายุมากขึ้น ก็อยากแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับชีวิตหรือคิดหวนสู่อดีตที่อันรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์ ทำให้มูคาตัดสินใจย้ายจากกรุงปารีสมาที่สหรัฐอเมริกา และท้ายที่สุดก็เดินทางกลับบ้านเกิดสืบเนื่องให้ผลงานช่วงปลายของชีวิตมูคานั้นมีลักษณะที่เป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนแนวความคิดชาตินิยม เช่น ผลงาน "The Slav Epic" ที่เป็นภาพขนาดใหญ่ที่วาดเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์แห่งมหากาพย์ชนชาติสลาฟที่มีแนวคิดชาตินิยมอย่างชัดเจนนั่นเอง

ผลงานที่สำคัญ[แก้]

งานโปสเตอร์[แก้]

ภาพ Gismonda วาดให้แก่ซารา แบร์นาร์ต

Gismonda[แก้]

ภาพ Gismonda วาดให้แก่ซารา แบร์นาร์ต ในปี ค.ศ. 1894 ภาพนี้เป็นผลงานโปสเตอร์ชิ้นแรกของมูคาและเป็นผลงานที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเขาให้กลายเป็นศิลปินผู้โด่งดังในกรุงปารีสเพียงชั่วข้ามคืน ถือเป็นยุคทองแห่งภาพโปสเตอร์ที่ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะแนวนวศิลป์ต่อไป[18]

ภาพนี้ได้แสดงออกถึงการสร้างสรรค์เอกลักษณ์เฉพาะตัวของมูคาเอง ซึ่งได้ผสมผสานสีและลายเส้นเข้าด้วยกันอย่างลงตัวแตกต่างจากภาพโปสเตอร์ทั่ว ๆ ไปอย่างชัดเจน ภาพนี้มูคาน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมโดยรวมของเขาเอง ที่ออกแบบจากประสบการณ์เพื่อพัฒนาผลงานให้มีความชัดเจน โดยแสดงบุคลิกส่วนตัวของ Sarah Bernhardt ในมุมมองของเขา แล้วนำเธอเข้ากับภาพฉากละครที่อ่อนไหว ซึ่งมูคานำมาพรรณนาเป็นภาพระหว่างทางที่เธอเดินไปโบสถ์ ในบรรยากาศยุคศิลปะไบแซนไทน์ สื่อความหมายว่านางเอกละคร Sarah Bernhardt บนเวทีนั้นเป็นผู้เคร่งศาสนาไม่ได้เป็นแค่ผู้หญิงธรรมดา และเธอยังเป็นสัญลักษณ์ของความฝันที่ไม่มีทางเข้าถึงได้ ภาพโปสเตอร์ของเขาได้ช่วยเสริมสร้างงานละครของนางเอกละครผู้โด่งดังอย่างลงตัว เป็นสื่อสัมผัสถึงอารมณ์ของละครคลาสสิกของฝรั่งเศส ผสมผสานกับความเป็นตะวันออกและความลึกลับไม่ธรรมดาของละคร[19]

The Seasons (series) (1896)[แก้]

Winter Summer Spring Autumn
The Seasons (series) (1896) - Winter
The Seasons (series) (1896) - Summer
The Seasons (series) (1896) - Spring
The Seasons (series) (1896) - Autumn

The Seasons (series) (1896) คือผลงานตกแต่งผนังชุดแรกที่กลายเป็นหนึ่งในชุดผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา เป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงพิมพ์ Champenois ให้ผลิตงานออกมาอย่างน้อยสองชุดโดยให้อยู่ในธีมเดียวกันในปี ค.ศ. 1897 และ 1900[20]

แนวคิดที่ปรากฏออกมาจาก The Seasons ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะสามารถเห็นได้จากงานชิ้นสำคัญเก่า ๆ ของเขาในสื่อสิ่งพิมพ์อื่น อย่างไรก็ตามภาพชุดนี้เป็นเหมือนนำความงามของสตรีแบบกรีกโรมันที่ดูคลาสสิกเข้ามาผสมผสานกับความเป็นชนบท ซึ่งสิ่งที่แสดงในภาพทั้งสี่ช่องนี้ มูคาได้นำอารมณ์และความรู้สึกของแต่ละฤดูกาลไม่ว่าจะเป็นความบริสุทธิ์ในฤดูในไม้ผลิ (Spring) ฤดูร้อนที่อบอ้าว (Summer) ฤดูใบไม้ร่วงที่เต็มไปด้วยผลไม้ (Autumn) และฤดูหนาวที่หนาวจัด (Winter) ลงไปในภาพพร้อมกับสื่อถึงวัฏจักรของธรรมชาติที่เวียนไปเรื่อย ๆ ได้อย่างกลมกลืน และด้วยองค์ประกอบที่มีความเรียบง่ายแบนราบชวนให้นึกถึงเทคนิคแกะไม้ (Woodcut) ของญี่ปุ่น อันเป็นการเผยให้เห็นถึงการนำงานศิลปะญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้[21]

งานด้านการออกแบบตกแต่ง[แก้]

Stained-glass Window designed
ภาพ Stained-glass Window designed at St. Vitus Cathedral, Prague

Head of a Girl[แก้]

เครื่องประดับ Head of a Girl เป็นรูปปั้นหญิงสาวครึ่งตัว มูคาทำขึ้นเพื่อจัดแสดงในงานนิทรรศการนานาชาติ กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1900 เป็นรูปปั้นที่รับแรงบันดาลใจประติมากรรมในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) แต่เลือกวัสดุเงินและเทคนิคการปิดทองที่ทันสมัยเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับรูปปั้น[22] ถึงแม้ไม่ทราบแน่นอนว่ามูคาต้องการบรรยายถึงซารา แบร์นาร์ต หรือ Cleo de Merode แต่รูปแบบนั้นสะท้อนการออกแบบอย่างชาญฉลาด ด้วยการทำผมยาว เปิดหน้าด้วยผมที่ม้วน ร่างกายเปล่าเปลือย เสมือนรูปร่างเป็นรูปกรวย ให้ความหมายที่ลึกลับ ยากที่จะหยั่งถึง เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกด้านการประดับตกแต่งงานปั้นของมูคา[23]

Stained-glass Window designed[แก้]

ขณะที่งานเฉลิมฉลองครบรอบพันปีของวาตสลัฟที่ 1 ดุ๊กแห่งโบฮีเมีย (St. Wenceslas) ได้มีการให้ฟื้นฟูงานกอทิกของมหาวิหารเซนต์วิตัส (St. Vitas Cathedral) แห่งปรากจนเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1929 โดยหน้าต่างประดับกระจกสีนี้ได้ถูกติดตั้งในปี ค.ศ. 1931 ซึ่งหน้าต่างจะมีภาพเซนต์วาสลัฟในวัยเด็กกับคุณยายของเขาอยู่ใจกลางภาพแวดล้อมไปด้วยฉากเหตการณ์ของนักบุญซีริล (Saints Cyril) และเมโทดิอุส (Methodius) ที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์อยู่ท่ามกลางชาวสลาฟ ซึ่งนี้จะอยู่ด้านล่างของเยซูคริสต์เสมอ และเป็นสัญลักษณ์ของธนาคารชาวสลาฟที่ให้การสนับสนุนเงินทุนในการสร้างหน้าต่างประดับกระจกสีนี้[24]

ผลงานหนังสือ[แก้]

ปกหนังสือ Documents Decoratives ปกหนังสือ Figures-Decoratives
ปกหนังสือ Documents Decoratives
ปกหนังสือ Figures-Decoratives

หนังสือ Documents Decoratives[แก้]

หนังสือที่มูคาจัดทำตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1902 มีเนื้อหาเกี่ยวกับนวศิลป์ หนังสือจัดทำคล้ายกับเป็นสารานุกรมของงานประดับตกแต่งของมูคา เป็นการรวบรวมผลงานออกแบบตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งขั้นออกมาเป็นผลงาน สะท้อนให้เห็นว่า ผลงานของเขาเริ่มต้นด้วยการศึกษาธรรมชาติ ภาพต้นไม้ ดอกไม้ และผลไม้ แล้วจึงพัฒนาภาพธรรมชาติมาเป็นรูปทรงในการออกแบบ และใช้ภาพเดียวกันวางไว้ทั่ว ๆ งานทั้งงานพิมพ์ งานโลหะ และงานหนัง[25]

หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่การใช้ในการประกอบการเรียนศิลปะสำหรับผู้เริ่มศึกษา เพราะทำให้นักเรียนรู้เป็นขั้นตอน จากการเข้าใจธรรมชาติไปสู่การสร้างผลงานที่เสร็จสมบูรณ์[26]

หนังสือ Figures Decoratives[แก้]

หนังสือที่มูคาจัดทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับหนังสือ Documents Decoratives แต่ Figures Decoratives จะเป็นการรวบรวมผลงานภาพสรีระของมนุษย์ ภายในระยะเวลาการทำงาน 4 ปี เขาได้รวบรวมกริยาท่าทางไว้มากมาย ซึ่งตีพิมพ์ควบคู่ไปด้วยรูปทรงทางเรขาคณิตอันเป็นโครงของท่าทางเหล่านั้น ภาพส่วนใหญ่จะเป็นภาพเด็ก ๆ และหญิงสาวในอิริยาบถต่าง ๆ บางภาพเป็นภาพเปลือย บางภาพมีผ้าพันร่างกายเป็นบางส่วน และบางภาพก็แต่งตัวเต็มยศ ลักษณะการวาดภาพเหล่านี้เป็นการวาดด้วยดินสอใช้ลายเส้นง่าย ๆ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า งานของมูคามีเสน่ห์ เย้ายวนและลึกลับ คาดว่าเป็นอิทธิพลจากเหล่านางแบบเชื้อสายสลาฟ[27]

การทำหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนพื้นฐานที่ดีในการส่งเสริมให้มูคาประสบความสำเร็จทั้งในการเป็นนักวาดภาพประกอบและการเป็นครู เป็นหนังสือสำหรับนักออกแบบที่ต้องการแรงบันดาลใจเพื่อไปพัฒนางานของตน เพราะลายเส้นของมูคาหนังสือเป็นงานที่เหมาะแก่การศึกษาตามความเป็นจริงมากกว่าสัดส่วนในอุดมคติของร่างกาย[28]

ภาพวาด[แก้]

The Slav Epic[แก้]

อัลโฟนส์ มูคากับผลงาน "The Slav Epic"

"The Slav Epic" (ผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของมูคา เป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ชนชาติสลาฟยุโรปตะวันออก) มีทั้งหมด 20 ภาพ วาดช่วงปี ค.ศ. 1910-1928 ก่อนที่เขาจะลงมือวาดผลงานชุดนี้ เขาก็ได้ออกศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยการไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั้งรัสเซีย โปแลนด์ และคาบสมุทรบอลข่านเพื่อให้แน่ใจในความถูกต้อง และทยอยส่งภาพที่เสร็จไปจัดแสดงทั้งในกรุงปราก นิวยอร์ก และชิคาโก ซึ่งได้รับการตอบรับและเสียงชื่นชมจากผู้คนเป็นอย่างมาก

ด้วยผลงานชิ้นนี้เอง ที่ก่อปัญหาให้กับเขาในช่วงสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากเป็นงานด้านประวัติศาสตร์ที่สะท้อนแนวความคิดชาตินิยมอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่ออำนาจทางการเมืองของลัทธิฟาสซิสต์ (มีอำนาจช่วงปี ค.ศ. 1929-1945) และเมื่อกองทัพนาซีย้ายเข้าไปอยู่ในสโลวาเกีย มูคาเป็นคนแรกที่กองทัพจับตัวไปสอบปากคำ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากเขาป่วย ทำให้เชื่อกันว่า เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเขามากและทำให้เขาเสียชีวิตลงในที่สุด[29]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939-1945) ผลงาน "The Slav Epic" ถูกนำมาเก็บซ่อนไว้เพื่อป้องกันการทำลายจากนาซี และด้วยบริบทสังคมในตอนนั้นที่นาซีมีอำนาจมาก ทำให้มูคาถูกมองว่าเป็นแค่ศิลปินชั้นรอง ไม่ได้ยกย่องใด ๆ เพราะงานของเขาเหินห่างจากแนวความคิดแบบสังคมนิยมที่เป็นแนวปฏิบัติของผู้ปกครองกรุงปรากในช่วงนี้ หลังสงครามสิ้นสุด นาซีหมดอำนาจ ผลงานชุดนี้ถึงถูกนำมาจัดแสดงในภายหลัง

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา ผลงาน "The Slav Epic" ทั้งหมด 20 ชิ้นก็ได้นำมาจัดแสดงอีกครั้งบริเวณชั้นล่างของพระราชวัง Veletržní ในกรุงปราก นิทรรศการที่จัดโดยหอศิลป์แห่งชาติ

Gallery[แก้]

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[แก้]

คริสต์ศตวรรษที่ 20[แก้]

ตัวอย่างจากผลงาน The Slav Epic[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. http://www.thaitopwedding.com/Wedding/ เก็บถาวร 2013-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อาร์ต-นูโว-อัลโฟนส์-มูคา.html
  2. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  3. http://www.alphonse-mucha.com/
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2013-10-02.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-08. สืบค้นเมื่อ 2013-10-02.
  6. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  7. http://www.alphonse-mucha.com/
  8. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  9. http://www.alphonse-mucha.com/
  10. http://www.alphonse-mucha.com/
  11. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  12. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  13. http://www.meaus.com/alphonse-mucha.htm
  14. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  15. http://www.rogallery.com/Mucha_Alphonse/mucha-biography.htm
  16. Jiri Mucha. Alphonse Maria Mucha : his life and art. London : Academy Editions, 1989.
  17. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  18. Alphonse Maria Mucha. Original Mucha postcards : 24 ready-to-mail full-color cards. New York : Dover, c1987.
  19. Alphonse Maria Mucha. Original Mucha postcards : 24 ready-to-mail full-color cards. New York : Dover, c1987.
  20. http://www.muchafoundation.org/gallery/browse-works/object/80
  21. http://www.muchafoundation.org/gallery/browse-works/object/80
  22. http://www.muchafoundation.org/gallery/browse-works/object/130
  23. Renate Ulmer. Alfons Mucha. Koln : Benedikt Taschen, c1994. หน้า 69.
  24. http://www.muchafoundation.org/gallery/browse-works/object/199
  25. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544. หน้า 6.
  26. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544. หน้า 8.
  27. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544. หน้า 7.
  28. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544. หน้า 8.
  29. http://www.muchafoundation.org/gallery/mucha-at-a-glance-46.

อ้างอิง[แก้]

แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
Jiri Mucha. Alphonse Maria Mucha : his life and art. London : Academy Editions, 1989.
Alphonse Maria Mucha. Original Mucha postcards : 24 ready-to-mail full-color cards. New York : Dover, c1987.
Alphonse Mucha. Mucha's figures decoratives : 40 plates. New York : Dover, c1981.
Renate Ulmer. Alfons Mucha. Koln : Benedikt Taschen, c1994.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]