ข้ามไปเนื้อหา

อัรบะอีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บรรดามุสลิมหลายล้านคนชุมนุมกันรอบ ๆ มัสยิดฮุซัยน์ในเมืองกัรบะลาอ์

อัลอัรบะอีน (อาหรับ: الأربعين) หรือ ชะฮ์ลัม (เปอร์เซีย: چهلم, อูรดู: چہلم) แปลตรงตัวว่าสี่สิบ เป็นศาสนพิธีของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งจัดขึ้นหลังจากวันอาชูรออ์เป็นเวลา 40 วัน หรือวันที่ 20 เศาะฟัร เพื่อรำลึกถึงการวายชนม์ของฮุซัยน์บุตรอะลี ซึ่งแข็งข้อไม่ยอมขึ้นต่อราชวงศ์อุมัยยะฮ์จนต้องถูกตัดศีรษะในยุทธการกัรบะลาอ์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 1223 (10 มุฮัรรอม ฮ.ศ. 61) พิธีนี้จัดขึ้นที่เมืองกัรบะลาอ์ ประเทศอิรัก และมีผู้ร่วมพิธีมากกว่าพิธีฮัจญ์ที่เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย[1][2][3] พิธีอัรบะอีนจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 1224 โดยสหาย (เศาะหาบะฮ์) ของมุฮัมมัดท่านหนึ่งชื่อญะบิร์ บินอับดุลลอฮ์ (جابر بن عبدالله) ซึ่งไปเยี่ยมเยียนสุสานของฮุซัยน์ พร้อมด้วยอะฏียะฮ์ บินซะอัด บินญุนาดะฮ์ (عطية بن سعد بن جنادة‎‎) บรรดาญาติของมุฮัมมัด ตลอดจนอิหม่ามอะลี บินุลฮุซัยน์ (علي بن الحسين‎‎)[4] ซึ่งทั้งหมดถูกกดขี่โดยเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ในเวลานั้น[5]

ถึงแม้ว่าระยะทางระหว่างเมืองบัศเราะฮ์และกัรบะลาอ์จะห่างไกลกันแม้จะเดินทางด้วยรถ บรรดาผู้ศรัทธาชาวอิรักก็ไม่ย่อหย่อนที่จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าซึ่งใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ หรือบรรดาผู้ที่อาศัยที่อิหร่านก็จะใช้เวลาหนึ่งเดือน[6] ย้อนหลังกลับไปในปี พ.ศ. 2551 มีผู้ร่วมพิธีนี้ประมาณเก้าล้านคน ปีถัดมาก็เพิ่มจำนวนอย่างมาก[7] ล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. 2556 ผู้ร่วมพิธีนี้มีจำนวนถึง 20 ล้านคนจากกว่า 40 ประเทศ[8][9][10] ในปีเดียวกันนั้นเองเกิดเหตุระเบิดรถยนต์เพื่อสังหารกลุ่มผู้แสวงบุญจำนวน 20 ราย โดยอาจเป็นฝีมือของกลุ่มดาอิช ซึ่งกล่าวหาว่ามุสลิมนิกายชีอะห์เป็นคนนอกศาสนา[11] ในปีถัดมาก็ไม่เกิดเหตุอื่นใดเลยจนผู้ว่าการจังหวัดกัรบะลาอ์ยกให้เป็นชัยชนะเหนือกลุ่มดาอิช[12][13]

นอกเหนือจากมุสลิมนิกายชีอะห์แล้ว มุสลิมนิกายซุนนีบางกลุ่ม ชาวโซโรอัสเตอร์ หรือแม้แต่ชาวคริสต์ รวมถึงตัวแทนสันตะสำนักวาติกันก็เข้าร่วมพิธีนี้ด้วย[14][15] พิธีนี้ว่างเว้นในบางช่วง เช่นช่วงที่ศอดดาม ฮุซัยน์เรืองอำนาจเป็นเวลาเกือบ 30 ปี ครั้นอิรักถูกโจมตีเมื่อ พ.ศ. 2546 พิธีนี้ก็ได้ถูกถ่ายทอดสดออกไปเช่นเดียวกับพิธีฮัจญ์[16]

แกลเลอรี่

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Mahdi al-Modarresi, Sayed (24 November 2014). "World's Biggest Pilgrimage Now Underway, And Why You've Never Heard of it!". สืบค้นเมื่อ 16 September 2017.
  2. uberVU – social comments (5 February 2010). "Friday: 46 Iraqis, 1 Syrian Killed; 169 Iraqis Wounded - Antiwar.com". Original.antiwar.com. สืบค้นเมื่อ 30 June 2010.
  3. Hanun, Abdelamir (5 February 2010). "Blast in crowd kills 41 Shiite pilgrims in Iraq". News.smh.com.au. สืบค้นเมื่อ 30 June 2010.
  4. http://rch.ac.ir/article/Details/10164
  5. جعفریان, رسول (2008). حیات فکری و سیاسی امامان شیعه علیهم السلام [Hayat fekri va siysi aemeh] (ภาษาเปอร์เซีย) (11th ed.). قم: موسسه انصاریان. p. 273.
  6. "Distance Between Basra and Karbala".
  7. "mnf-iraq.com". mnf-iraq.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-05. สืบค้นเมื่อ 2017-09-16.
  8. "زيارة الاربعين: 18 مليون زائر ونجاح امني كبير". Al-Alam. สืบค้นเมื่อ 4 January 2013.
  9. "Arba'een, an appointment for army of Imam Mahdi (a.s) on the rise". December 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-18. สืบค้นเมื่อ 2017-09-16.
  10. Dearden, Lizzie (25 November 2014). "One of the world's biggest and most dangerous pilgrimages is underway". The Independent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-25. สืบค้นเมื่อ 2017-09-16.
  11. "Car bomb in Iraq kills at least 20 Shiite pilgrims". independent. 3 January 2013.
  12. "Arbaeen pilgrimage in Iraq: 17.5 million defy threat". SBS. 14 December 2014.
  13. "Shia pilgrims flock to Karbala for Arbaeen climax". BBC NEWS. 14 December 2014.
  14. Al-Modarresi, Mahdi. "World's Biggest Pilgrimage Now Underway, And Why You've Never Heard of it! huffingtonpost". สืบค้นเมื่อ 11 December 2014.
  15. "Christians in Karbala in Arbaeen". สืบค้นเมื่อ 11 December 2014.
  16. Vali Nasr, The Shia Revival. New York: Norton, 2006; pp 18–19.