อะบริน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อะบริน

โครงสร้างของอะบริน-เอ โซ่ A คือสีน้ำเงิน โซ่ B คือสีเขียวมะกอก เปปไทด์สายเดี่ยวยึดโซ่ทั้งสองเข้าด้วยกัน
เลขทะเบียน
เคมสไปเดอร์
  • none
KEGG
RTECS number
  • AA5250000
UNII
UN number 3462
หากมิได้ระบุเป็นอื่น ข้อมูลข้างต้นนี้คือข้อมูลสาร ณ ภาวะมาตรฐานที่ 25 °C, 100 kPa

อะบริน (อังกฤษ: abrin) เป็นพิษท็อกซัลบูมินร้ายแรงที่พบในเมล็ดมะกล่ำตาหนู (Abrus precatorius) อะบรินมีแอลดี 50 0.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมมวลร่างกายเมื่อให้ทางหลอดเลือดดำหนู (มีพิษมากกว่าไรซินประมาณ 31.4 เท่า)[1] ขณะที่ในมนุษย์อยู่ที่ 10–1000 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมมวลร่างกายเมื่อให้ทางปาก และ 3.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมมวลร่างกายเมื่อสูดดม[2]

ลักษณะ[แก้]

อะบรินเป็นโปรตีนยับยั้งไรโบโซมเหมือนไรซินที่พบในเมล็ดละหุ่ง (Ricinus communis) และพุลเชลลินที่พบในเมล็ดมะกล่ำเผือก (Abrus pulchellus)[3] มีอะบรินในเมล็ดมะกล่ำตาหนูประมาณ 0.08% ทั้งนี้เมล็ดมะกล่ำตาหนูมีเปลือกหุ้มเมล็ดครอบอีกชั้นและพิษจะแพร่สู่ภายนอกเมื่อเปลือกหุ้มเมล็ดฉีกขาด อะบรินเป็นเลกตินที่ละลายน้ำ มีสีขาวเหลืองเมื่ออยู่ในรูปผง เป็นสารเสถียรที่ทนต่อสภาวะต่าง ๆ[4] ติดไฟได้ แต่พอลิเมอไรซ์ยากและไม่ระเหยง่าย[5]

อะบรินประกอบด้วยไอโซท็อกซิน 4 ชนิด ได้แก่ อะบริน-เอ, อะบริน-บี, อะบริน-ซีและอะบริน-ดี ทั้งหมดมีโครงสร้างคล้ายกัน อะบริน-เอเป็นสารพิษร้ายแรงที่สุดในบรรดาไอโซท็อกซินทั้งหมด เข้ารหัสด้วยยีนปลอดอินทรอน เกิดขึ้นหลังการแยกสายเปปไทด์และการแก้ไขหลังแปลรหัสโปรตีน อะบริน-เอมี 2 โซ่คือ A และ B ในโครงสร้างซึ่งเชื่อมด้วยพันธะไดซัลไฟด์ มีกรดอะมิโนรวม 528 โมเลกุล

ความเป็นพิษ[แก้]

อะบรินเป็นโปรตีนยับยั้งไรโบโซมประเภท 2 เหมือนไรซิน ซึ่งโปรตีนกลุ่มนี้เป็นพิษต่อเซลล์[6] ออกฤทธิ์โดยโซ่ B ให้โซ่ A เข้าสู่เซลล์ผ่านการจับกับตัวรับคาร์โบไฮเดรต เมื่อเข้าสู่เซลล์ โซ่ A จะดึงเบสอะดีนีนออกและเชื่อมกับไรโบโซมอล อาร์เอ็นเอ ส่งผลให้การสังเคราะห์โปรตีนถูกยับยั้งและท้ายที่สุดทำให้เซลล์ตาย จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งแม้จะได้รับอะบรินเพียงเล็กน้อย[7][8]

ยังไม่มีความเห็นพ้องถึงระดับที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตหลังได้รับอะบรินทางปาก บางแหล่งอนุมานว่าการบริโภคอะบริน 0.1–1 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว หรือเมล็ดมะกล่ำตาหนูเพียงเมล็ดเดียวก็ทำให้เสียชีวิต แต่ข้อมูลนี้ยังไม่มีบันทึกเพียงพอ[9] ขณะที่แหล่งอื่นประมาณค่าแอลดี 50 ของอะบรินระหว่าง 10–1000 ไมโครกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว[10] ความรุนแรงของพิษอะบรินขึ้นอยู่กับวิธีได้รับสาร เช่น ทางปาก ทางจมูกและทางหลอดเลือด[4][5] การสัมผัสอะบรินทางผิวหนังอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง บวมแดงและพุพอง[5]

อาการและอาการแสดง[แก้]

อาการหลังได้รับอะบรินขึ้นอยู่กับปริมาณและเส้นทางที่ได้รับ อาการอาจแสดงหลังได้รับหลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน อาการแรกหลังสูดดมอะบรินอาจปรากฏใน 8 ชั่วโมง แต่โดยทั่วไปอยู่ที่ 18–24 ชั่วโมง ขณะที่ทางปากจะแสดงอาการอย่างรวดเร็ว แต่บางรายแสดงอาการ 5 วันหลังจากนั้น อาการต่อมาเกิดจากพิษที่ส่งผลต่อเซลล์ไต ตับ ต่อมหมวกไตและระบบประสาทส่วนกลาง[5]

ทางจมูก[แก้]

ไม่กี่ชั่วโมงหลังสูดดมอะบริน อาการทั่วไป ได้แก่ ไข้ ไอ ระคายเคืองทางเดินหายใจ เจ็บหน้าอก ปอดบวมน้ำ คลื่นไส้ ส่งผลให้หายใจลำบาก ผู้ป่วยอาจมีผิวหนังเขียวอันเป็นสัญญาณของภาวะพร่องออกซิเจน จากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการเหงื่อออกมาก ความดันโลหิตลดต่ำจนนำไปสู่ภาวะช็อกภายใน 36–72 ชั่วโมง[5]

ทางปาก[แก้]

การรับอะบรินทางปากนำไปสู่อาการรุนแรงหลายอย่าง อาการแรกเริ่ม ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บภายในปาก ลำคอและหลอดอาหาร ท้องร่วง กลืนลำบาก ปวดท้อง หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด ทำให้ความดันโลหิตต่ำและอวัยวะเสียหาย ส่งผลให้ผู้ป่วยง่วงซึม ปัสสาวะเป็นเลือด ชักและกระหายน้ำมาก จนนำไปสู่อวัยวะล้มเหลวหลายระบบ ช็อกเหตุของเหลวในร่างกายพร่อง ระบบไหลเวียนล้มเหลวและเสียชีวิต[5]

การรักษา[แก้]

ปัจจัยสำคัญคือหลีกเลี่ยงการได้รับอะบริน หากได้รับพิษให้กำจัดออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด การรักษามักเป็นการรักษาตามอาการเนื่องจากยังไม่มียาแก้พิษ มีการแนะนำการใช้ถ่านกัมมันต์เพื่อดูดซับพิษและการล้างท้องเมื่อได้รับอะบรินทางปากไม่นาน การรักษาด้วยออกซิเจน การจัดการทางเดินหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจ การสังเกตอาการ การให้ยาทางหลอดเลือดดำและการให้อิเล็กโทรไลต์เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน มีการแนะนำให้ล้างด้วยน้ำเกลือเมื่อได้รับอะบรินทางดวงตา[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Gill DM (1982). "Bacterial toxins: a table of lethal amounts". Microbiological Reviews. 46 (1): 86–94. doi:10.1128/MMBR.46.1.86-94.1982. PMC 373212. PMID 6806598.
  2. Rudolf C Johnson; และคณะ (March 2009). "Quantification of L-Abrine in Human and Rat Urine: A Biomarker for the Toxin Abrin". Journal of Analytical Toxicology. 33 (2): 77–84. doi:10.1093/jat/33.2.77. PMID 19239732.
  3. Sadraeian M, Guimaraes GF, Araujo AP, Worthylake DK, LeCour LJ, Pincus SH (2017). "Selective cytotoxicity of a novel immunotoxin based on pulchellin A chain for cells expressing HIV envelope". Scientific Reports. 7 (1): 7579. Bibcode:2017NatSR...7.7579S. doi:10.1038/s41598-017-08037-3. PMC 5548917. PMID 28790381.
  4. 4.0 4.1 "Facts About Abrin". Centers for Disease Control and Prevention. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-28.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 "CDC – The Emergency Response Safety and Health Database: Biotoxin: ABRIN – NIOSH". www.cdc.gov. สืบค้นเมื่อ 2015-12-30.
  6. Griffiths, G. D.; Lindsay, C. D.; Upshall, D. G. (1994). "Examination of the toxicity of several protein toxins of plant origin using bovine pulmonary endothelial cells". Toxicology. 90 (1–2): 11–27. doi:10.1016/0300-483X(94)90201-1. PMID 8023336.
  7. "Abrin". Proteopedia. สืบค้นเมื่อ July 17, 2022.
  8. "Ricin / Abrin - Fact sheets". NSW Health. December 21, 2018. สืบค้นเมื่อ July 17, 2022.
  9. Dickers, K. J.; Bradberry, S. M.; Rice, P.; Griffiths, G. D.; Vale, J. A. (2003). "Abrin poisoning". Toxicological Reviews. 22 (3): 137–42. doi:10.2165/00139709-200322030-00002. PMID 15181663. S2CID 20411255.
  10. Johnson, R. C.; Zhou, Y.; Jain, R.; Lemire, S. W.; Fox, S.; Sabourin, P.; Barr, J. R. (2009). "Quantification of L-abrine in human and rat urine: a biomarker for the toxin abrin". Journal of Analytical Toxicology. 33 (2): 77–84. doi:10.1093/jat/33.2.77. PMID 19239732.