มะกล่ำตาหนู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มะกล่ำตาหนู
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
วงศ์ย่อย: Faboideae
เผ่า: Abreae
สกุล: Abrus
สปีชีส์: A.  precatorius
ชื่อทวินาม
Abrus precatorius
L., 1753
Abrus precatorius

มะกล่ำตาหนู มะกล่ำเครือ หรือ ก่ำเคือ (อังกฤษ: Jequirity) เป็นพืชไม้เถาในวงศ์ถั่ว เมล็ดมีพิษ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Gunja" ในภาษาสันสกฤต เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย เติบโตได้ดีในเขตร้อนและใกล้เขตร้อน ทำให้มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นวัชพืชต่างถิ่นที่รุกรานในพื้นที่ที่มะกล่ำตาหนูถูกนำเข้ามา

มะกล่ำตาหนูยังมีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกดังนี้: กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำเครือ มะกล่ำแดง มะแค๊ก (เชียงใหม่) เกมกรอม (สุรินทร์) ชะเอมเทศ ตากล่ำ (กลาง) มะขามเถา ไม้ไฟ (ตรัง) หมากกล่ำตาแดง (ตะวันออกเฉียงเหนือ) [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

มะกล่ำตาหนูเป็นพรรณไม้เถา ลำต้นเล็ก มีขนสั้น ๆ ขึ้นประปราย ใบเป็นใบรวม มีใบย่อยเรียงสลับกันคล้ายขนนก ยาวประมาณ 3.8-10 ซม. ใบย่อยเป็นรูปกลมถึงรี ปลายใบแหลมมน โคนใบกลมมน ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง ใบมีขนาดยาว 5-20 ม.ม. กว้างประมาณ 3-8 ม.ม. ใต้ท้องใบมีขนเล็กน้อย ดอกเป็นช่อตามบริเวณง่ามใบ ดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียวเรียงซ้อนกันตามเข็มนาฬิกา กลีบมีรอยหยัก 4 รอย สีขาว ผิวข้างนอกมีขนนุ่มปกคลุม ผลเป็นฝัก พองเป็นคลื่นเมล็ด ฝักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝักอ่อนมีสีเขียว เนื้อเปลือกฝักจะเหนียว เมื่อแก่จะแตกอ้าออกจากกัน ข้างในมีเมล็ด 1-5 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปกลมรี สีแดง บริเวณขั้วมีจุดสีดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เมล็ดเหนียวและแข็ง[2]

พิษ[แก้]

พิษที่มีอยู่ในมะกล่ำตาหนูเป็นพิษที่คล้ายกับไรซินที่เรียกว่าเอบริน (abrin) ประกอบไปด้วยโปรตีนย่อยของตัวคือ A และ B สาย B จะทำให้การแพร่เข้าสู่เซลล์ของเอบรินสะดวกขึ้นด้วยการพันเข้ากับโปรตีนขนส่งบนพลาสมา เมมเบรนซึ่งจะช่วยขนส่งพิษเข้าสู่เซลล์ ภายในเซลล์สาย A จะป้องกันการสังเคราะห์โปรตีนด้วยการหยุดยั้งการทำงานของ 26S ของไรโบโซม[3] หนึ่งโมเลกุลของเอบรินสามารถหยุดการทำงานของไรโบโซมได้ถึง 1,500 ไรโบโซมต่อวินาที นอกจากนี้ยังมีสารแอกกลูตินิน (Abrus agglutinin) ซึ่งพบได้ในสารสกัดน้ำของเมล็ดมะกล่ำตาหนู มีฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดแดงในเลือดคนจับตัวกัน อาการเมื่อได้รับพิษจะแสดงเช่นเดียวกับไรซิน ยกเว้นเอบรินจะแสดงอาการออกมาหลายรูปแบบมากกว่า เอบรินสามารถทำให้ถึงตายได้เมื่อได้รับน้อยกว่า 3 μg

มะกล่ำตาหนูถูกเรียกว่า "kudri mani" ในภาษาทมิฬและถูกใช้ในหลักการณ์แพทย์สิทธะมากว่าหนึ่งร้อยปี สิทธะชาวทมิฬรู้ถึงพิษของมะกล่ำตาหนูและเสนอวิธีทำให้บริสุทธิ์หรือที่เรียกว่า "suththi seythal" การต้มเมล็ดในนมและตากแห้งจะช่วยกำจัดพิษได้

การใช้ประโยชน์[แก้]

ในรากมีสารที่มีรสหวานคล้ายชะเอม ใช้เป็นยาทาภายนอก แก้กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิผิวหนัง ฝีมีหนอง รากมีรสหวาน ใช้แก้เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ใบมีรสหวาน ใช้แก้เจ็บคอขับปัสสาวะ น้ำหนักของเมล็ดมะกล่ำตาหนู 1 เมล็ดใช้เทียบเป็นหน่วยกล่อมในมาตราชั่งตวงวัดโบราณ โดย 4 เมล็ดข้าวเปลือกเป็น 1 กล่อม และ 2 กล่อมเป็น 1 กล่ำ[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. สำนักงานหอพรรณไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ -- กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
  2. พจนานุกรมสมุนไพรไทย, ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม
  3. Stripe F& Barbieri L. Symposium: Molecular Mechanisms of Toxicity, Toxic Lectins from Plants. Human Toxicology 5 (2); 1986: 108-9.
  4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร ศุภชัย ติยวรนันท์ และ วิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2555. หน้า 63 – 65

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]