หลี่ เหลียนอิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลี่ เหลียนอิง
李連英
ต้าจ๋งถ่ง (大總管; "ผู้การใหญ่")
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 1869–1908
ก่อนหน้าอัน เต๋อไห่ (安德海)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1848(1848-11-12)
เสียชีวิต4 มีนาคม ค.ศ. 1911(1911-03-04) (62 ปี)

หลี่ เหลียนอิง (จีนตัวย่อ: 李连英; จีนตัวเต็ม: 李連英; พินอิน: Lǐ Liányīng; 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1848 – 4 มีนาคม ค.ศ. 1911) เป็นขันทีซึ่งรับราชการในวังสมัยราชวงศ์ชิงของประเทศจีน มีอิทธิพลอย่างยิ่งในช่วงที่พระพันปีฉือสี่ (慈禧太后) สำเร็จราชการแผ่นดินแทนจักรพรรดิถงจื้อ (同治帝) และจักรพรรดิกวังซฺวี่ (光緒帝) ระหว่าง ค.ศ. 1869–1908

ชื่อ[แก้]

ชื่อเมื่อแรกเกิดของเขา คือ หลี่ อิงไท่ (李英泰) ต่อมาเมื่อเข้าวังใน ค.ศ. 1856 เปลี่ยนชื่อเป็น หลี่ จิ้นสี่ (李進喜) ครั้น ค.ศ. 1869 พระพันปีฉือสี่ประทานชื่อใหม่ให้ว่า หลี่ เหลียนอิง (李連英)

ประวัติ[แก้]

หลี่ เหลียนอิง เกิดเมื่อ ค.ศ. 1848 ในครอบครัวยาจก ณ มณฑลจื๋อลี่ (直隸) ตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิเต้ากวัง (道光帝) ครั้น ค.ศ. 1853 อายุราวหกปี เขารับการตอน และเข้าเป็นขันทีที่ตำหนักของตวันหฺวา (端華) ซึ่งมีฐานันดรศักดิ์เป็นเจิ้งชินหวัง (鄭親王) ต่อมาใน ค.ศ. 1856 เขาถูกส่งเข้าพระราชวังไปเป็นขันทีหลวง และได้รับเลื่อนเป็นเอ้อร์จี๋กวั่น (二极管; "ผู้การรอง")

ต้น ค.ศ. 1861 หลี่ เหลียนอิง ช่วยพระพันปีฉือสี่ก่อรัฐประหารซินโหย่ว (辛酉政變) เพื่อยึดอำนาจจากแปดองคมนตรีเป็นผลสำเร็จ จึงได้เป็นคนสนิทของพระนาง ครั้น ค.ศ. 1869 อัน เต๋อไห่ (安德海) ซึ่งเป็นต้าจ๋งถ่ง (大總管; "ผู้การใหญ่") ถูกประหารชีวิต เพราะออกนอกพระราชวังโดยมิได้รับอนุญาต พระพันปีฉือสี่จึงทรตั้งหลี่ เหลียนอิง เป็นต้าจ๋งถ่งคนใหม่

ในฐานะต้าจ๋งถ่งและคนสนิทของพระพันปี หลี่ เหลียนอิง มีอิทธิพลมากในราชสำนักฝ่ายใน เขาควบคุมทุกสิ่ง รวมถึงการที่ข้าราชการจะเข้าเฝ้าพระพันปี ซึ่งเขาเรียกค่าใช้จ่ายเป็นสินบนมากมาย หรือเมื่อผู้ใดขัดพระทัยพระพันปี ผู้นั้นก็จะว่าจ้างหลี่ เหลียนอิง พูดจาให้คลายพระพิโรธ นอกจากนี้ หลี่ เหลียนอิง ยังต้องสงสัยว่า วางยาจักรพรรดิกวังซฺวี่จนสวรรคตใน ค.ศ. 1908 หนึ่งวันก่อนพระพันปีฉือสี่สิ้นพระชนม์[1]

หลี่ เหลียนอิง ได้รับพระราชานุญาตจากจักรพรรดินีหลงยฺวี่ (隆裕皇后) ให้ลาออกไปอยู่นอกวังเมื่อครบกำหนดหนึ่งร้อยวันหลังการสิ้นพระชนม์ของพระพันปีฉือสี่ หลี่ เหลียนอิง ใช้ชีวิตที่เหลือด้วยการเกษียณตัวจากราชการ จนเสียชีวิตใน ค.ศ. 1911 ไม่นานก่อนเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) เชื่อกันว่า สาเหตุการเสียชีวิต คือ โรคบิด ศพของเขาฝังไว้ที่เอินจี้จวัง (恩濟莊) ในเขตไห่เตี้ยน (海淀区) ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ (文化大革命) ใน ค.ศ. 1966 สุสานของเขาถูกเปิดเพื่อปลดทรัพย์ คณะผู้เปิดสุสานพบว่า มีแต่กระโหลกศีรษะเท่านั้นที่ฝังอยู่ จึงเกิดข่าวลือว่า แท้จริงแล้ว หลี่ เหลียนอิง ถูกตัดศีรษะจนถึงแก่ความตาย การเปิดสุสานครั้งนั้นทำให้พื้นที่เสียหายอย่างยิ่ง สุสานเหลือแต่ป้ายหลุมศพบางส่วนเท่านั้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Mu, Eric. Reformist Emperor Guangxu was Poisoned, Study Confirms" เก็บถาวร 2015-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Danwei. November 3, 2008. Retrieved November 2, 2011.