ข้ามไปเนื้อหา

สิงคาลกสูตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎกเถรวาท
๔๕ เล่ม

    พระวินัยปิฎก    
   
                                       
คัมภีร์
สุตตวิภังค์
คัมภีร์
ขันธกะ
คัมภีร์
ปริวาร
               
   
    พระสุตตันตปิฎก    
   
                                                      
คัมภีร์
ทีฆนิกาย
คัมภีร์
มัชฌิมนิกาย
คัมภีร์
สังยุตตนิกาย
                     
   
   
                                                                     
คัมภีร์
อังคุตตรนิกาย
คัมภีร์
ขุททกนิกาย
                           
   
    พระอภิธรรมปิฎก    
   
                                                           
สงฺ วิภงฺ ธา
ปุ.
กถา ยมก ปัฏฐานปกรณ์
                       
   
         

สิงคาลกสูตร เป็นพระสูตรหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก หมวดทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ว่าด้วยทิศ 6 คือ บุคคล 6 ประเภทที่มีควารมสัมพันธ์ต่อบุคคล ๆ หนึ่ง และวิธีการปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้น ว่าด้วยมิตรแท้และมิตรเทียม และยังว่าด้วยกรรมกิเลส 4 อบายมุข 6 และการไม่ทำความชั่วโดยฐานะ 4 รวมทั้งหมด 14 ประการ โดยผู้ที่ปราศจากความชั่ว 14 ประการ ถือเป็นผู้ปกปิดทิศ 6 ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อชัยชนะในโลกทั้งสอง คือ โลกนี้และโลกหน้า เมื่อตายไปก็จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์[1]

อรรถกถาสิงคาลกสูตรในสุมังคลวิลาสินี กล่าวไว้ว่า "กรรมใดที่คฤหัสถ์ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กรรมนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไว้ ย่อมไม่มี พระสูตรนี้ ชื่อว่าคิหิวินัย เพราะฉะนั้น เมื่อฟังพระสูตรนี้แล้วปฏิบัติตามที่ได้สอนไว้ ความเจริญเท่านั้นเป็นอันหวังได้ ไม่มีความเสื่อมฉะนี้"[2]

ฝ่ายปราชญ์ด้านพุทธศาสนา แสดงความเห็นว่า "พระสูตรนี้ชาวยุโรปเลื่อมใสกันมากว่าจะแก้ปัญหาสังคมได้ เพราะเสนอหลักทิศ 6 อันแสดงว่าบุคคลทุกประเภทในสังคมควรปฏิบัติต่อกันในทางที่ดีงาม ไม่มีการกดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงไป"[3]

ที่มา

[แก้]

พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ ณ พระนครราชคฤห์ คราวที่ทรงประทับ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ในวันหนึ่ง "เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้วทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกคฤหบดีบุตร ซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าชุ่ม มีผมเปียกประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน"[4] พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงถามว่า สิงคาลกคฤหบดีบุตรกำลังทำอะไร สิงคาลกคฤหบดีบุตรตอบว่ากำลังไหว้ทิศทั้ง 6 คามคำสั่งเสียของบิดา

เหตุที่สิงคาลกคฤหบดีบุตรออกมาไหว้ทิศทั้ง 6 นั้นสืบเนื่องจากบิดาและมารดาของสิงคาลกคฤหบดีบุตรล้วนแต่ศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังเป็นโสดาบัน (มารดาต่อมาได้ออกบวชเป็นภิกษุณี บรรลุอรหันต์ คือพระสิงคาลมาตาเถรี) แต่บุตรของคหบดีไม่ศรัทธาในพระพุทธองค์ เมื่อครั้นคหบดีจะสิ้นใจจึงเกิดความคิดว่า "เราจักให้โอวาทแก่บุตรอย่างนี้ว่า นี่แน่ลูก ลูกจงนอบน้อมทิศทั้งหลาย เขาไม่รู้ความหมาย จักนอบน้อมทิศทั้งหลาย ลำดับนั้น พระศาสดาหรือพระสาวกทั้งหลายเห็นเขาแล้ว จักถามว่า เธอทำอะไร แต่นั้น เขาก็จักกล่าวว่า บิดาของข้าพเจ้าสอนไว้ว่า เจ้าจงกระทำการนอบน้อมทิศทั้งหลาย ลำดับนั้น พระศาสดาหรือพระสาวกทั้งหลาย จักแสดงธรรมแก่เขาว่า บิดาของเธอจักไม่ให้เธอนอบน้อมทิศทั้งหลายเหล่านั้น แต่จักให้เธอนอบน้อมทิศเหล่านี้ เขารู้คุณในพระพุทธศาสนาแล้วจักทำบุญดังนี้"[5] ครั้นแล้วคบบดีจึงบอกบุตรให้กระทำเช่นนั้น แล้วก็สิ้นชีพไป ส่วนผู้บุตรก็ปฏิบัติตามที่บิดาสั่งเสีย กระทั่งพระพุทธองค์ทรงมาพบเห็น แล้วทรงไต่ถาม ซึ่งสิงคาลกคฤหบดีบุตรตอบพระองค์ว่า ไหว้ทิศทั้ง 6 เพราะบิดาสั่งเสียไว้

เนื้อหา

[แก้]

สมเด็จพระสัมมาสมัพุทธเจ้าทรงสอนสิงคาลกคฤหบดีบุตรว่า ในอริยวินัยไม่พึงไหว้ทิศแบบนี้ เมื่อเขากราบทูลถามว่า พึงไหว้อย่างไร จึงตรัสว่า "อริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง 4 ได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ 4 และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ 6 อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก 14 อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ 6 ย่อมปฏิบัติเพื่อชำนะโลกทั้งสอง และเป็นอันอริยสาวกนั้นปรารภแล้ว ทั้งโลกนี้และโลกหน้าเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก อริยสาวกนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์" [6] จากนั้นทรงแสดงธรรมเป็นลำดับโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อธรรมต่าง ๆ ที่ทรงตรัสมา คือ

กรรมกิเลส 4 คือ การกระทำที่เศร้าหมอง มี 4 อย่างที่อริยสาวกละได้ คือ 1. ฆ่าสัตว์ 2. ลักทรัพย์ 3. ประพฤติผิดในกาม 4. พูดปด[7]

ไม่ทำความชั่วโดยฐานะ 4 คือ อริยสาวกไม่ทำกรรมชั่วโดยฐานะ 4 คือ ความลำเอียง เพราะรัก, เพราะชัง, เพราะหลง, เพราะกลัว ทำกรรมชั่ว[8]

อบายมุข 6 คือ อริยะสาวกไม่เสพปากทางแห่งความเสื่อมทรัพย์ 6 อย่าง คือ 1. เป็นนักเลงสุรา 2. เที่ยวกลางคืน 3. เที่ยวการเล่น 4. เล่นการพนัน 5. คบคนชั่วเป็นมิตร 6. เกียจคร้าน ครั้นแล้วทรงแสดงโทษของอบายมุขแต่ละข้อ ข้อละ 6 อย่าง[9]

มิตรเทียม 4 ประเภท คือ 1. มิตรปอกลอก 2. มิตรดีแต่พูด 3. มิตรหัวประจบ 4. มิตรชวนในทางเสียหาย พร้อมทั้งแสดงลักษณะของมิตรเทียมทั้งสี่ประเภทนั้น ประเภทละ 4 ประการ [10]

มิตรแท้ 4 ประเภท คือ 1. มิตรมีอุปการะ 2. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข 3. มิตรแนะประโยชน์ 4. มิตรอนุเคราะห์ (อนุกัมปกะ) พร้อมทั้งแสดงลักษณะของมิตรแท้ทั้งสี่ประเภทนั้น ประเภทละ 4 ประการ[11]

ทิศ 6 คือ บุคคล 6 ประเภท ตามนิยามของอริยสาวก คือ 1. ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ มารดาบิดา 2. ทิศเบื้องขวา ได้แก่ อาจารย์ 3. ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา 4. ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรอำมาตย์ 5. ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ทาส กรรมกร 6. ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์[12]

เมื่อสิงคาลกคฤหบดีบุตรได้สดับพระธรรมเทศนาก็มีความเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องทิศทั้ง 6 และการไม่กระทำกรรมชั่ว บังเกิดเลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต อีกทั้งยัง "เฉลี่ยทรัพย์ 40 โกฏิ ไว้ในพระพุทธศาสนากระทำกรรมอันเป็นบุญ ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า"[13]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๑๙๗
  2. อรรถกถาสิงคาลกสูตร (สุมังคลวิลาสินี) หน้า ๑๑๒
  3. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๑๙๙
  4. สิงคาลกสูตร หน้า ๗๗
  5. อรรถกถาสิงคาลกสูตร (สุมังคลวิลาสินี) หน้า ๙๖
  6. สิงคาลกสูตร หน้า ๗๘
  7. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๑๙๗
  8. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๑๙๗
  9. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๑๙๘
  10. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๑๙๘
  11. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๑๙๘
  12. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า ๑๙๘
  13. อรรถกถาสิงคาลกสูตร (สุมังคลวิลาสินี) หน้า ๑๑๑ - ๑๑๒
บรรณานุกรม
  • สิงคาลกสูตร ใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒
  • อรรถกถาสิงคาลกสูตร (สุมังคลวิลาสินี) ใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2555) พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ตอนว่าด้วยพระสูตร กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ