สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1

รามาโว
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์
ครองราชย์3 สิงหาคม ค.ศ. 182816 สิงหาคม ค.ศ. 1861
รัชสมัย33 ปี 13 วัน
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์
รัชกาลถัดไปพระเจ้าราดามาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์
ประสูติประมาณ ค.ศ. 1778
สวรรคต16 สิงหาคม ค.ศ. 1861
อันตานานารีโว,ประเทศมาดากัสการ์
(พระชนมพรรษาประมาณ 82-83 พรรษา)
พระราชสวามีพระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์
ไรนิฮาโร
ไรนิโจฮารี
พระราชบุตรพระเจ้ารามาดาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์
ราชวงศ์เมรีนา
พระบรมราชชนกเจ้าชายอันเดรียนทซารามันจากาแห่งมาเนเบ
พระบรมราชชนนีเจ้าหญิงราโบโดอันเดรียนแทมโป

สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ (อังกฤษ: Ranavalona I; ประมาณ ค.ศ. 1828 – 16 สิงหาคม ค.ศ. 1861) พระนามเดิมว่า รามาโว (Ramavo) หรือ รานาวาโล-มันจากาที่ 1 (Ranavalo-Manjaka I) เป็นพระประมุขของราชอาณาจักรมาดากัสการ์ ในช่วงปีค.ศ. 1828 ถึง ค.ศ. 1861 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถหลังจากการสวรรคตของพระสวามี คือ พระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์[1] สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 ทรงผลักดันนโยบายแยกตัวโดดเดี่ยวและนโยบายพึ่งพาตนเอง ลดทอนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับมหาอำนาจยุโรป ทรงขับไล่การโจมตีของมหาอำนาจฝรั่งเศสที่เมืองมาฮาเวโลนา บริเวณชายฝั่งของอาณาจักร และทรงดำเนินมาตรการเข้มงวดในการจัดการขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อศาสนาคริสต์มาลากาซีที่เติบโตขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าราดามาที่ 1 โดยสมาชิกของสมาคมมิชชันนารีลอนดอนเป็นผู้ดำเนินการหลัก พระนางทรงดำเนินการอย่างเข้มข้นตามจารีตประเพณีดั้งเดิมของระบบแรงงานเกณฑ์ (ระบบฟานอมโปอานา; fanompoana; เป็นการบังคับใช้แรงงานเพื่อแทนการจ่ายภาษี) เพื่อดำเนินการสร้างโครงการสาธารณูปโภคและพัฒนากำลังพลชาวเมรินาในกองทัพที่มีจำนวนระหว่าง 20,000 ถึง 30,000 นาย กองพลเหล่านี้สมเด็จพระราชินีนาถทรงส่งไปรักษาความสงบบริเวณรอบนอกของเกาะ และส่งไปขยายอาณาเขต รัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 เป็นรัชกาลที่มีศึกสงครามบ่อยครั้งที่สุด มีโรคระบาด มีการบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ และระบบยุติธรรมที่รุนแรงโหดร้าย อันเป็นผลให้อัตราการมรณะของประชากรมาดากัสการ์มีการเสียชีวิตสูงที่สุดทั้งทหารและพลเรือน ตลอดระยะเวลาในรัชกาลของพระนางที่ยาวนานถึง 33 ปี

ถึงแม้ว่านโยบายของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 จะสร้างอุปสรรคมากมายต่อมหาอำนาจยุโรปก็ตาม แต่ความสนใจทางการเมืองในมาดากัสการ์ของอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองในราชสำนักของสมเด็จพระราชินีนาถระหว่างฝ่ายจารีตดั้งเดิมกับฝ่ายฝักใฝ่ยุโรป กรณีนี้ได้สร้างโอกาสแก่คนกลางอย่างชาวยุโรปในความพยายามเร่งรัดให้พระโอรสของพระราชินีนาถรีบขึ้นสืบบัลลังก์แทนเป็น พระเจ้าราดามาที่ 2 เจ้าชายหนุ่มนั้นไม่ทรงเห็นด้วยกับพระราโชบายหลายเรื่องของพระราชชนนี และเจ้าชายทรงโอนอ่อนไปตามข้อเสนอของฝรั่งเศสที่จะขอประโยชน์จากการใช้สอยทรัพยากรบนเกาะ ตามข้อตกลงในกฏบัตรแลมแบร์ที่ดำเนินการโดยโฌแซ็ฟ-ฟรองซัวส์ แลมแบร์ ผู้แทนของฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1855 แต่แผนการรัฐประหารของฝรั่งเศสนั้นล้มเหลว และเจ้าชายราดามาก็ไม่ได้ครองราชบัลลังก์ จนกระทั่งค.ศ. 1861 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 83 พรรษา

ชาวยุโรปร่วมสมัยประณามนโยบายของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 และระบุว่าพระนางทรงเป็นจอมเผด็จการและบ้าคลั่งอย่างเลวร้าย ทัศนคติต่อพระนางในแง่ลบเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่ในวรรณกรรมต่างชาติจนกระทั่งถึงช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ในการวิจัยล่าสุดได้มองทัศนคติต่อพระนางในมุมใหม่ว่า การกระทำของพระนางรันฟาลูนาที่ 1 นั้น เป็นการกระทำไปในฐานะสมเด็จพระราชินีนาถที่พยายามขยายขอบเขตของราชอาณาจักร โดยทรงปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาวมาลากาซี ต่อต้านการรุกรานทางวัฒนธรรมและอิทธิพลทางการเมืองของมหาอำนาจยุโรป

ช่วงต้นพระชนม์ชีพ[แก้]

เจ้าหญิงรามาโว ประวูติในปีค.ศ. 1778 ที่ตำหนักในอัมบาโตมาโนอินา[2] ระยะทาง 16 กิโลเมตร ทางตะวันออกของอันตานานารีโว[3] เป็นพระราชธิดาในเจ้าชายอันเดรียนทซารามันจากากับเจ้าหญิงราโบโดอันเดรียนแทมโป[4] เมื่อเจ้าหญิงรามาโวยังทรงพระเยาว์ พระบิดาของพระนางได้ทูลเตือนพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนา (ครองราชย์ค.ศ. 1787-1810) ถึงการวางแผนลอบปลงพระชนม์ของอดีตกษัตริย์อันเดรียนจาฟี ผู้เป็นพระปิตุลาของกษัตริย์ ซึ่งทรงถูกพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนาปลดจากราชบัลลังก์ที่เมืองอัมโบฮิมันกา ดังนั้นเพื่อตอบแทนที่ช่วยพระชนม์ชีพพระองค์ไว้ พระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนาจึงทรงจัดพิธีหมั้นและเสกสมรสเจ้าหญิงรามาโวให้กับพระโอรสของพระองค์คือ เจ้าชายราดามา ผู้ซึ่งกษัตริย์ทรงตั้งให้เป็นองค์รัชทายาท นอกจากนี้พระองค์ทรงประกาศว่าทายาทของคู่สมรสทั้งสองนี้จะได้ขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจากเจ้าชายราดามา[5]

แม้ว่าจะทรงยกย่องเจ้าหญิงรามาโวขึ้นในฐานะพระชายาเอก แต่เจ้าหญิงก็ไม่ใช่พระชายาที่เจ้าชายราดามาทรงโปรดปราน และทั้งสองพระองค์ไม่ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกัน จนกระทั่งพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนาสวรรคตในปี ค.ศ. 1810 พระเจ้าราดามาที่ 1 จึงครองราชย์สืบต่อพระราชบิดา และตามประเพณีของราชวงศ์คือต้องมีการประหารชีวิตญาติวงศ์ต่างๆที่อาจกระด้างกระเดื่อง พระเจ้าราดามาที่ 1 ทรงมีพระราชโองการให้ประหารพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระราชินีรามาโว เหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลง[5] สมเด็จพระราชินีรามาโวไม่ทรงมีความสุขกับพระชนม์ชีพสมรสที่ไร้ซึ่งความรัก สมเด็จพระราชินีรามาโวผู้ถูกทอดทิ้งและเหล่าข้าราชบริพารหญิงจึงทรงใช้เวลาทั้งวันในการสนทนาและดื่มเหล้ารัมกับมิชชันนารี เดวิด กริฟฟิทส์และเหล่าคณะมิชชันนารีที่บ้านพักของกริฟฟิทส์ การเสด็จเยือนพบปะกับกริฟฟิทส์หลายครั้งนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ฉันท์มิตรสืบต่อไปอีกถึงสามสิบปี[6]

สืบราชบัลลังก์[แก้]

เมื่อพระเจ้าราดามาที่ 1 เสด็จสวรรคตโดยที่ไม่มีทายาท จากสาแหรกราชวงศ์เมรีนาทรงมีพระโอรส 1 พระองค์และพระธิดา 1 พระองค์ที่ประสูติแต่พระมเหสีรองคือ สมเด็จพระราชินีราซาลิโม (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1866) ได้แก่ เจ้าชายอิตซีมานเดรียมโบโวกา (1823-1824) และเจ้าหญิงราเคตากา ราซานาคินิมันจากา (1824-1828) เจ้าชายวัย 1 พรรษานั้นถูกลอบปลงพระชนม์โดย สมเด็จพระพันปีหลวงรามโบลามาโซอันโดร พระอัยยิกาของพระองค์ในปี ค.ศ. 1824 ซึ่งพระนางไม่ต้องการให้เชื้อสายชนเผ่าซากาลาวาทางฝั่งพระราชินีราซาลิโม ขึ้นครองราชย์ และสร้างอิทธิพลต่อต้านพระนาง ส่วนเจ้าหญิงราเคตากา ราซานาคินิมันจากา วัย 4 พรรษา ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นรัชทายาท คาดว่าทรงถูกลอบปลงพระชนม์หลังจากพระราชบิดาสวรรคตเช่นกัน[7] ดังนั้นพระเจ้าราดามาที่ 1 จึงสวรรคตโดยไร้ทายาทในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1828 ตามกฎมณเฑียรบาล รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์คือ เจ้าชายราโกโตเบ (1808-1828) พระโอรสองค์โตในเจ้าหญิงราโบโดซาฮอนดา (1790 - 1828) พระเชษฐภคินีในพระเจ้าราดามาที่ 1 ซึ่งสิทธิของเจ้าชายได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จพระพันปีหลวง ผู้เป็นพระราชอัยยิกา[8] เจ้าชายราโกโตเบทรงเป็นผู้เฉลียวฉลาดและมีอัธยาศัยดี และเป็นนักเรียนคนแรกในโรงเรียนแห่งแรกของมาดากัสการ์ที่ก่อตั้งโดยสมาคมมิชชันนารีลอนดอนในกรุงอันตานานารีโว ที่ตั้งขึ้นในเขตพระราชวัง พระเจ้าราดามาที่ 1 เสด็จสวรรคตโดยทรงฝากฝังข้าราชสำนักสองคนที่ทรงไว้วางพระทัยให้สนับสนุนการครองราชย์ของเจ้าชายราโกโตเบ แต่ข้าราชบริพารสองคนนั้นลังเลที่จะประกาศข่าวการสวรรคตของกษัตริย์เป็นเวลานานหลายวัน เนื่องจากพวกเขากลัวการตอบโต้จากศัตรูของกษัตริย์ ที่มีสิทธิสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าราดามาที่ 1[5][9] ในช่วงนี้ ข้าราชบริพารคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูง ที่ชื่อว่า อันเดรียมัมบา ได้ทราบความจริง และร่วมวางแผนกับข้าราชการที่ทรงอำนาจคนอื่นๆ ได้แก่ อันเดรียมิฮาจา, ไรนิโจฮารี และราวาโลท์ซาลามา ในการวางแผนสนับสนุนให้สมเด็จพระราชินีรามาโวขึ้นครองบัลลังก์[10] เพื่อชิงอำนาจก่อนกลุ่มของเจ้าชายราโกโตเบและสมเด็จพระพันปีหลวงรามโบลามาโซอันโดร ซึ่งสมเด็จพระราชินีรามาโวในขณะนั้นไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจมากมาย

สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 และเจ้าชายราโกโต พระราชโอรส

เหล่าข้าราชการกลุ่มนี้ได้รีบนำพาสมเด็จพระราชินีรามาโวและพระสหายไปหลบซ่อนยังสถานที่ที่ปลอดภัย จากนั้นข้าราชการกลุ่มนี้ได้รีบเร่งหากำลังสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจผู้ทรงอิทธิพลต่างๆ รวมถึงกลุ่มคณะตุลาการและผู้รักษาซัมปี (Sampy; เครื่องรางประจำราชวงศ์) โดยรีบดำเนินการก่อนกลุ่มของเจ้าชายราโกโตเบและสมเด็จพระพันปีหลวงรามโบลามาโซอันโดร เหล่าข้าราชการได้รวบรวมกำลังพลเพื่อสมเด็จพระราชินีรามาโว[5][9] ดังนั้นในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1828 พระนางทรงประกาศพระองค์เองในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระเจ้าราดามาที่ 1 และทรงอ้างว่าเป็นไปตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าราดามา ซึ่งไม่ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน สมเด็จพระราชินีรามาโวทรงเลือกใช้พระนามว่า "รันฟาลูนา" (Ranavalona; แปลว่า "ปกคลุม" หรือ "เก็บไว้") จากนั้นทรงปฏิบัติตามพระราชประเพณีโบราณอย่างทันทีโดยทรงมีพระรับสั่งให้จับกุมศัตรูทางการเมืองทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ของพระเจ้าราดามาที่ 1 และทรงสั่งประหารชีวิตในทันที ผู้สิ้นพระชนม์ได้แก่ เจ้าชายราโกโตเบ, สมเด็จพระพันปีหลวงรามโบลามาโซอันโดร อดีตพระสัสสุของพระนาง, เจ้าหญิงราโบโดซาฮอนดา พระเชษฐภคินีในกษัตริย์องค์ก่อน ซึ่งเป็นพระชนนีในเจ้าชายราโกโตเบ รวมถึงทรงสั่งประหารพระอนุชา พระเชษฐภคินีและพระขนิษฐาของพระเจ้าราดามาที่ 1 เกือบทุกพระองค์ที่ทรงเห็นว่าเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ทรงทำเช่นนี้กับพระราชตระกูลสายอดีตพระสวามีเพราะทรงต้องการแก้แค้นกับสิ่งที่พระเจ้าราดาที่ 1 ทรงเคยสั่งฆ่าล้างพระราชตระกูลสายของพระนาง[5] รัฐประหารวังหลวงมาดากัสการ์ ค.ศ. 1828 นี้สิ้นสุดลงเมื่อ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1829[11]

จากการสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระสวามี ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงเป็นพระประมุขสตรีพระองค์แรกแห่งราชอาณาจักรเมรีนา นับตั้งแต่ก่อตั้งในปีค.ศ. 1540 การก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาจของพระนางเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพสังคมที่ชื่นชอบผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในทางการเมือง ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของอิเมรีนา ผู้ปกครองจะได้รับการยกย่องอย่างเป็นพิเศษด้วยอำนาจที่จะต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยหลีกเลี่ยงจากกรอบบรรทัดฐานและธรรมเนียมที่ถูกกำหนดไว้ เหล่าผู้ปกครองมักจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของอำนาจผ่านการสร้างรูปแบบการเกี่ยวดองทางเครือญาติแบบใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของระเบียบทางการเมือง อย่างไรก็ตามผู้หญิงมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและจะเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับการใช้บทบาทและอำนาจในฐานะประมุข และผู้หญิงถูกมองว่าไม่เหมาะสมที่จะขึ้นมาปกครองประเทศ[12] แม้ว่าการมีประมุขสตรีครั้งหนึ่งจะเคยเป็นเรื่องปกติในหมู่พวกวาซิมบา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกอธิบายไว้ว่าเป็นผู้อาศัยดั้งเดิมในเกาะมาดากัสการ์ ประเพณีผู้ปกครองสตรีสิ้นสุดลงในที่ราบสูงภาคกลางในรัชกาลของพระเจ้าอันเดรียมาเนโล (1540-1575) กษัตริย์ผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรเมรีนา พระองค์ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชชนนีซึ่งเป็นชาววาซิมบาคือ สมเด็จพระราชินีนาถราฟอไฮแห่งอาราโซรา (1530-1540)[13] หลังจากนั้นก็ไม่มีประมุขสตรีอีก จนล่วงมาถึงสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1

รัชกาล[แก้]

สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาประทับนั่งบนฟิลานซานา (filanzana;เกี้ยว) นำเสด็จโดยเจ้าชายราโกโตซึ่งกำลังทรงม้าอยู่ และติดตามด้วยเหล่าทหารและทาส

ระยะเวลารัชกาล 33 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนา ได้ถูกระบุว่าเป็นรัชกาลทรงพยายามเสริมสร้างพระราชอำนาจในประเทศของราชอาณาจักรเมรีนา ด้วยการกำราบแคว้นต่างๆ และปกป้องอำนาจอธิปไตยทางการเมืองและวัฒนธรรมของมาดากัสการ์ นโยบายเหล่านี้ถูกกำหนดจากบริบทการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลมหาอำนาจยุโรปภายในราชอาณาจักร และเกิดการแข่งขันด้านอิทธิพลกันระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษเหนือเกาะแห่งนี้ ช่วงต้นรัชกาล สมเด็จพระราชินีนาถทรงดำเนินการตามลำดับขั้นเพื่อให้มาดากัสการ์ถอยหากจากมุมมองของยุโรป ประการแรก ทรงยุติสนธิสัญญามิตรภาพกับอังกฤษ จากนั้นทรงวางข้อจำกัดแก่การเผยแพร่ศาสนาของสมาคมมิชชันนารีลอนดอนให้มากขึ้น ซึ่งสมาคมนี้ดำเนินการสอนด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาด้านการค้า นอกจากนั้นยังสอนเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ในปีค.ศ. 1835 สมเด็จพระราชินีนาถประกาศห้ามให้มีการประกอบพิธีกรรมตามหลักคริสต์ศาสนาในหมู่ชาวมาลากาซี และภายในหนึ่งปี ชาวต่างชาติทั้งหมดได้เดินทางออกจากราชอาณาจักรของพระนางเสียสิ้น[14]

สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงดำเนินนโยบายพึ่งพาตนเองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยกเลิกสนธิสัญญาทางการค้ากับต่างประเทศเกือบทั้งหมด ทรงยึดมั่นในนโยบายตามแบบโบราณที่เรียกว่า ระบบฟานอมโปอานา (fanompoana) หรือ ระบบแรงงานเกณฑ์ เป็นการบังคับใช้แรงงานเพื่อแทนการจ่ายภาษีในรูปแบบเงินหรือสินค้า สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงดำเนินนโยบายสงครามขยายอาณาเขต ต่อจากรัชกาลก่อน คือ พระเจ้าราดามาที่ 1 ซึ่งทรงพยายามขยายอำนาจครอบคลุมทั้งเกาะ และทรงลงโทษอย่างหนักต่อผู้ที่ทรงมองว่ากระทำการต่อต้านพระราชประสงค์ของพระนาง ยุทธการทางการทหารของพระนางนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตประชาชนตลอดระยะเวลาหลายปี รวมถึงมีอัตราการตายในหมู่แรงงานฟานอมโปอานาสูงมาก และการเสียชีวิตจากระบบยุติธรรมตามจารีตประเพณีของพระนางที่รุนแรง ทำให้จำนวนประชากรของมาดากัสการ์ลดลงจากจำนวนประมาณ 5 ล้านคน เหลือประมาณ 2.5 ล้านคน ในช่วงปีค.ศ. 1833 และ 1839 และในราชอาณาจักรเมรีนาเอง ประชากรลดลงจาก 750,000 คน เหลือ 130,000 คน ในรอบปีค.ศ. 1829 ถึงค.ศ. 1842[15] ด้วยสถิติเหล่านี้ทำให้บันทึกประวัติศาสตร์จำนวนมากค่อนข้างจะบันทึกไปในเชิงต่อต้านรัชกาลสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาเป็นส่วนใหญ่[16]

รัฐบาล[แก้]

สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 ทรงสร้างถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่รูวาแห่งอันตานานารีโว พระราชวังทำจากไม้ (มุมขวาบนในภาพ) เรียกว่า พระตำหนักมันจากามิอาดานา ซึ่งในภายหลังมีการใช้หินปิดทับล้อมรอบอาคารไม้ ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2

ตามโบราณราชประเพณีที่สืบต่อมาจากพระมหากษัตริย์เมรีนาในรัชกาลก่อนๆ[17] สมเด็จพระราชินีนาถจะทรงปกครองประเทศจากศูนย์กลางที่พระราชวังรูวาแห่งอันตานานารีโว ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1839 ถึง 1842 ฌ็อง ลาบอร์ดเป็นผู้ดำเนินการสร้างพระตำหนักใหม่ของสมเด็จพระราชินีนาถที่มีชื่อว่า มันจากามิอาดานา (Manjakamiadana) ซึ่งเป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกสร้างในเขตรูวา พระตำหนักสร้างขึ้นจากไม้เกือบทั้งหมดและสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชาวเมรีนา ชนชั้นอันเดรียนา (Andriana; ชนชั้นสูง) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีการใช้เสาหลัก (Andry; อันดรี) เพื่อรองรับหลังคา นอกเหนือจากนี้มีการเปิดเผยนวัตกรรมแบบยุโรปเข้ามาด้วย ก็คือเป็นการสร้างอาคารสามชั้นล้อมรอบด้วยระเบียงไม้ และมีการสร้างหน้าต่างไว้รวมกับมุงหลังคา ต่อมาพระราชวังถูกติดคลุมภายนอกด้วยหินในปีค.ศ. 1867 โดยเจมส์ คาเมรอนจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอนในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 พระราชวังเดิมที่สร้างจากไม้ของสมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 1 รวมถึงอาคารเกือบทั้งหมดของเขตวังรูวาได้ถูกเพลิงไหม้ทำลายใปในปีค.ศ. 1995 คงเหลือแต่เปลือกนอกอาคารที่เป็นหินที่ยังคงตั้งโดดเด่นอยู่จนปัจจุบัน[18]

หลายคนให้การยอมรับว่า การปกครองของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนานั้นเป็นการสานต่อแนวนโยบายของพระเจ้าราดามาที่ 1 พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆและองค์ความรู้จากต่างชาติ เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายการทำให้เศรษฐกิจเป็นแบบอุตสาหกรรม และรับมาตรฐานการสร้างกองทัพให้มีลักษณะเป็นทหารอาชีพ แต่ทั้งสองพระองค์มีความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกันในเรื่องชาวต่างชาติ มีการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวและมีการใช้ความคิดความรู้ความชำนาญของพวกเขาให้เป็นประโยชน์ ในขณะที่มีตั้งข้อจำกัดต่างๆแก่ชาวต่างชาติเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและวัฒนธรรมที่อาจเกิดขึ้นอันส่งผลกระทบต่อความมั่นคง นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องในการริเริ่มพัฒนาระบบราชการให้มีความซับซ้อน ซึ่งทำให้ราชสำนักเมรีนาสามารถควบคุมแคว้นต่างๆที่อยู่ห่างไกลรอบเกาะได้ที่มีอาณาเขตใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่[12]

สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 ทรงสามารถรักษาประเพณีการปกครองได้ด้วยการสนับสนุนจากเหล่าคณะที่ปรึกษาที่ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนชนชั้นขุนนาง เสนาบดี หรือ รัฐมนตรีที่มีอำนาจมากที่สุดคือ คู่อภิเษกสมรสของพระนางเอง ประธานคณะที่ปรึกษาคนแรกของพระนางคือนายทหารหนุ่มจากนาเมฮานา ที่ชื่อว่า อันเดรียมิฮาจา ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งเป็น อัครมหาเสนาบดี ตั้งแต่ปีค.ศ. 1829 ถึง 1830 พลตรีอันเดรียมิฮาจาถูกเชื่อว่าเป็นบิดาที่แท้จริงของพระราชโอรสองค์เดียวในพระราชินี คือ เจ้าชายราโกโต (ต่อมาคือ พระเจ้าราดามาที่ 2)[19] ซึ่งประสูติขึ้นหลังจากพระบิดาตามกฎหมายคือ พระเจ้าราดามาที่ 1 สวรรคตไปแล้ว 11 เดือน[20] ในช่วงต้นรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 อันเดรียมิฮาจาเป็นผู้นำฝ่ายหัวก้าวหน้าในราชสำนัก ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องการให้คงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในยุโรปตั้งแต่สมัยพระเจ้าราดามาที่ 1 ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำโดยสองพี่น้อง คือ ไรนิมาฮาโร และไรนิฮาโร ไรนิฮาโร ผู้น้องคนนี้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้รักษาซัมปี (Sampy; เครื่องรางประจำราชวงศ์) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลสูงมาก เครื่องรางประจำราชวงศ์อันนี้ถูกเชื่อว่าเป็นสิ่งรวบรวมและเป็นทางผ่านของพลังอำนาจเหนือธรรมชาติทั้งหลายของแต่ละรัชกาล และเครื่องรางนี้มีบทบาทหลักต่อจิตวิญญาณของประชาชนชาวเมรีนาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าราลามโบในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามลดทอนอำนาจของแนวคิดหัวก้าวหน้าของอันเดรีนมิฮาจาที่มีอิทธิพลเหนือสมเด็จพระราชินีนาถ และในเดือนกันยายน ค.ศ. 1830 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามโน้มน้าวจนสมเด็จพระราชินีนาถหลงเชื่อในข้อกล่าวหาต่ออันเดรียมิฮาจา พระนางลงพระปรมาภิไธยในคำสั่งประหารชีวิตอันเดรียมิฮาจาในข้อหากระทำการใช้เวทมนตร์คาถาและข้อหากบฏ เขาถูกจับกุมตัวที่พำนักในทันทีและถูกสังหาร[21][22]

หลังมรณกรรมของอันเดรียมิฮาจา อิทธิพลของกลุ่มการเมืองเก่าหัวก้าวหน้าที่มีอำนาจในรัชสมัยของพระเจ้าราดามาที่ 1 ได้ถูกลดทอนความสำคัญลง แทนที่ด้วยคณะที่ปรึกษาฝ่ายอนุรักษ์นิยมในราชสำนัก ซึ่งใกล้ชิดสมเด็จพระราชินีนาถมากขึ้น ในที่สุดมีการจัดพิธีอภิเษกสมรสทางการเมืองระหว่างสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนากับไรนิฮาโร เจ้าพนักงานผู้รักษาซัมปี และได้ขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายอนุรักษ์นิยม จอมพลไรนิฮาโรแห่งเนินเขาอิลาฟี (Ilafy) (เขามักถูกเรียกชื่อว่า ราโวนินาฮิทรีนิอาริโว) ในปีค.ศ. 1833 ไรนิฮาโรเดิมได้เข้าสู่ราชสำนักเพราะความดีความชอบของบิดาของเขา บิดาของเขาคือ อันเดรียนท์ซิลาโวนานเดรียนา เป็นคนชนชั้นโฮวา (Hova; สามัญชน) ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษเหนือประชาชนคนธรรมดาในการเข้าร่วมกับคณะขุนนางที่ปรึกษาของพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนา กษัตริย์ในสองรัชกาลก่อน[19] จอมพลไรนิฮาโรได้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในสมเด็จพระราชินีนาถในปีค.ศ. 1830 ถึง 1832 และต่อมาได้เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้บัญชาการทหาร ในปีค.ศ. 1832 ถึง 1852 ต่อมาเมื่อไรนิฮาโรถึงแก่อสัญกรรม สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงอภิเษกสมรสใหม่กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกคนหนึ่ง คือ จอมพลอันเดรียนิซา (มักถูกเรียกชื่อว่า ไรนิโจฮารี) ซึ่งเป็นพระสวามีของพระราชินีเรื่อยมาจนกระทั่งพระนางสวรรคตในปีค.ศ. 1861 และเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในปีค.ศ. 1852 ถึง 1862 ก่อนที่จะถูกเนรเทศไปยังอัมโบฮิมันกา เมืองหลวงเก่า จากข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนต่อต้านพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ คือ พระเจ้าราดามาที่ 2[10]

ตามธรรมเนียม ประมุขเมรีนาจะพึ่งพาระบบถ้อยคำแถลงคาบารี (Kabary; คำสุนทรพจน์) ในการเสด็จออกมหาสมาคมเป็นนโยบายในการเข้าถึงประชาชนและยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างประมุขและประชาชน เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 ทรงขาดประสบการณ์ในการมีพระราชดำรัสในที่สาธารณะและขาดประสบการณ์ทางการเมือง พระนางทรงโปรดที่จะสั่งการและแจ้งข้าราชบริพารผ่านทางการเขียนหนังสือและจดหมาย ซึ่งทรงได้รับการสอนวิธีการเขียนจากคณะมิชชันนารี พระนางทรงพยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนด้วยการออกมหาสมาคมคาบารีในแต่ละโอกาส และทรงพยายามปฏิบัติตามประเพณีดั้งเดิมของประมุขเมรีนาในฐานะผู้ประทานฮาซินา (Hasina; พรจากบรรพบุรุษ) โดยการเป็นผู้ประกอบพระราชประเพณีแบบดั้งเดิม รวมถึงพิธีฟานโดรอานา (Fandroana; พิธีกรรมต่อายุปีใหม่) ที่มีการประกอบยัญกรรมบูชาภาพแทนพระราชวงศ์ และถวายเครื่องกำนัลโวดิออนดรี (vodiondry) และอาหารประเภทเนื้อที่เรียกว่า จากาในงานประเพณีต่างๆ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงริเริ่มพิธีกรรมแบบดั้งเดิมเหล่านี้โดยทรงเพิ่มขั้นตอนให้ซับซ้อนมากขึ้นและเพิ่มนัยสัญลักษณ์เพื่อให้มีความสำคัญและสร้างความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น[12]

การฟื้นฟูและการปราบปราม[แก้]

ในพระราชพิธีครองราชสมบัตินั้น พระราชินีรันฟาลูนาทรงให้สัตย์สาบานว่าจะสนับสนุนพิธีกรรมดั้งเดิมและความเชื่อเก่าแก่ และป้องกันขอบเขตราชอาณาจักรของพระนาง ในรัชสมัยของพระเจ้ารามาดาทรงเริ่มการทันสมัยและผูกสัมพันธ์กับชาวตะวันตก แต่ในรัชสมัยพระราชินีรันฟาลูนาทรงริเริ่มกลุ่มนายหน้าเก่าเช่น บาทหลวง,ผู้พิพากษา,พ่อค้าทาส ได้การควบคุมกลับมาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเมรีนา ในวันที่พระนางประกอบราชิภิเษกนั้น พระนางทรงสั่งประหารชีวิตพระญาติใกล้ชิดกับพระนางทันที่ถึง 7 คนเป็นการเอาฤกษ์ ตามรายงานของคณะมิชชันนารีอังกฤษได้ระบุว่าพระนางทรงสั่งให้ประหารพระญาติฝ่ายพระสวามีทั้งหมด รวมทั้งเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ที่มีสิทธิในการครองราชย์ เนื่องจากพระเจ้ารามาดาทรงผูกสัมพันธ์กับอังกฤษ และพระนางทำให้การค้าทาสเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย พระนางทรงมีวิธีการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาคือ ให้ผู้ถูกกล่าวหาดื่มยาพิษเข้าไปแล้วรอดชีวิต จะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และจะได้รับเงินทำขวัญ ความหวาดกลัวชาวต่างชาติและการเตือนเกี่ยวกับอาณานิคมยุโรป พระนางทรงสั่งประหารชีวิตชาวต่างชาติทุกคนโดยเฉพาะชาวอังกฤษที่พระนางเกลียดชังอย่างมาก ทรงประหารชีวิตชาวพื้นเมืองที่ถือสัญชาติอังกฤษหรือเป็นลูกผสมระหว่างชนพื้นเมืองกับชาวอังกฤษโดยทันที แม้แต่คณะมิชชันนารีก็ไม่ละเว้นถูกขับไล่ออกไปจากมาดากัสการ์ พระนางทรงออกกฎหมายลงโทษขั้นประหารชีวิตผู้ที่บังอาจเผยแพร่ศาสนาคริสต์


การไล่ล่าชาวคริสเตียน[แก้]

พระราชินีรันฟาลูนาทรงเป็นผู้ประหัตประหารชาวครีสเตียนที่บริสุทธิ์หลังจากการขับไล่คณะมิชชันนารีออกจากเกาะแต่พระนางทรงล้มเหลวในการกวาดล้างศาสนาคริสต์ในประเทศให้หมดสิ้น ประชาชนทุกคนที่ครอบครองคัมภีร์ไบเบิลและประกาศเป็นคริสต์ศาสนิกชนจะถูกประหารทั้งหมด บ้างถูกจับตรึงเหมือนไก่และโยนจากยอดเนินเขาหลายๆครั้งจนกว่าจะตาย คนอื่นๆถูกราดด้วยเลือดและให้ฝูงสุนัขป่ารุมกินทั้งเป็น บ้างถูกอาวุญที่เป็นโลหะแบนๆเสียบทะลุเข้าไปในกระดูกสันหลังหลายๆแผ่นจนกว่าจะตาย บางคนอาจถูกตีตายก่อนที่จะตัดหัวเสียบประจาน บางถูกจับลงเป็นในน้ำที่ต้มเดือด บางคนถูกจับนอนแล้วให้หินกลิ้งลงมาทับ หนึ่งในวิธีประหารที่พระนางรันฟาลูนาทรงโปรดปรานที่สุดคือ การให้ดื่มยาพิษ หรือไม่ก็ขายให้เป็นทาส

สาเหตุที่ทรงเกลียดชังศาสนาคริสต์คือ พระนางทรงไม่ชอบพฤติกรรมของชาวคริสต์ พวกเขาสวดเป็นประจำแต่ปฏิเสธที่จะเคารพพระเจ้าของพระนาง พวกเขาหลีกเลี่ยงการบูชาเทวรูป พวกเขารวมตัวกันสักการะอย่างซ้ำซาก พระนางทรงกริ้วมากเมื่อชาวคริสต์โกรธแค้นที่พระนางประหารชาวคริสต์ถึง 1,600 คน ได้พยายามยึดบัลลังก์ พระนางทรงแก้แค้นด้วยการแขวนผู้นำคริสเตียน 15 คนด้วยเชือกยาว 150 ฟุตเหนือช่องหินในหุบเขาข้างพระราชวัง โดยทรงถามว่าจะนับถือศาสนาคริสต์หรือพระเจ้าของราชินี เหล่าผู้นำตอบปฏิเสธ เชือกจึงถูกตัด บางคนสวดกลอนศาสนาก่อนที่ร่างจะลงไปกระแทกกับก้อนหินที่อยู่เบื้องล่าง ปัจจุบันที่นั่นคือศาลเจ้าอิมพรอมตู

ลาบอร์ด[แก้]

ฌอง ลาบอร์ด

ฝรั่งเศสซึ่งได้รับบางเกาะของมาดากัสการ์ ได้สนใจที่จะครอบครองมาดากัสการ์ การเคลื่อนไหวนั้นเกืดการต่อต้านจากอังกฤษซึ่งสนใจเส้นทางหลักในการเดินทางไปอินเดีย ด้วยการล้มเลิกสนธิสัญญาอังกฤษ-เมรีนา อย่างไรก็ตามพระนางรันฟาลูนาคิดว่าอาจทรงถูกทำลายได้ง่ายโดยอังกฤษในเวลาไม่นาน พระนางทรงขับไล่การโจมตีของฝรั่งเศสที่ฟัวพอยน์ในปีพ.ศ. 2372 แต่พระนางทรงอยู่ในจุดยืนที่อันตราย เคราะห์ดีของพระนางที่ทรงได้รับการช่วยเหลือเมื่อฌอง ลาบอร์ดซึ่งเรืออัปปางที่มาดากัสการ์ในปีพ.ศ. 2375

ลาบอร์ดได้ให้คำแนะนำแก่พระนางและได้นายหน้าผลิตปืนใหญ่,ปืนคาบศิลาและดินปืน เขาได้กำลังแรงงานคนและวัตถุดิบสำหรับสร้างอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนากองทัพให้ทันสมัย สร้างอิสรภาพแก่ราชอาณาจักรจากอาวุธอาณานิคม

แผนการลับ[แก้]

อีดา ไฟเฟอร์ ผู้เขียนเรื่อง การเดินทางสู่มาดากัสการ์ (Reise nach Madagasgar) เธอได้บรรยายถึงการทรมานชาวคริสต์ของพระราชินีได้ละเอียดที่สุด

พระโอรสของพระนางเจ้าชายราโกโต ประสูติในปีพ.ศ. 2372 และพระบิดาตามกำหมายของพระองค์คือ พระเจ้าราดามาที่ 1 ผู้ซึ่งสวรรคตมานานกว่า 9 เดือนก่อนที่พระองค์ประสูติ อย่างไรก็ตามธรรมเนียมโบราณกำหนดให้เป็นพระโอรสของพระเจ้าราดามา ลาบอร์ดสนิทกับพระองค์มากและให้การศึกษาแก่พระองค์ การเพิ่มขึ้นของความเกลียดชังตลอดรัชกาลของพระราชินีระหว่างมาดากัสการ์กับยุโรป โจเซฟ-ฟรังซัว แลมเบิร์ตได้หาทางช่วยชาวฝรั่งเศสในประเทศ เขาได้เดินทางมาในราชสำนักของพระนางในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2400 และได้วางแผนการลับกับลาบอร์ดและผู้นำท้องถิ่นเพื่อโค่นราชบัลลังก์ของพระนางและอัญเชิญเจ้าชายราโกโตครองราชย์ต่อ นักท่องเที่ยวรอบโลก อีดา ไฟเฟอร์ได้เข้าร่วมแผนการอย่างไม่เจตนา แต่แผนการนี้รั่วไหล พระนางสั่งประหารผู้นำท้องถิ่นทั้งหมดและสั่งห้ามชาวยุโรปเข้ามา พระราชินีรันฟาลูนาทรงไม่สังหารชาวยุโรปเนื่องจากทรงกลัวการแก้แค้น เกิดโรคระบาดในมาดากัสการ์ชาวยุโรปหลายคนล้มตาย อีดา ไฟเฟอร์ไม่ได้รับการรักษาและเสียชีวิตด้วยไข้มาลาเรีย

เสด็จสวรรคต[แก้]

พระเจ้าราดามาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์

ระหว่างปีสุดท้ายของการครองราชย์ของพระนาง ทรงกังวลต่อการขยายของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งไม่ยอมรับการค้าทาส พระนางยังคงรักษาความโหดเหี้ยมของพระนางและต้องการรักษาระบบค้าทาสไว้ สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 1 เสด็จสวรรคตอย่างสงบในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2404 หลังจากทรงปกครองประเทศยาวนานถึง 33 ปี ท่ามกลางความโล่งอกของพสกนิกร อังกฤษและฝรั่งเศสทำสัญญาร่วมกัน ฝรั่งเศสเข้าครอบครองเกาะนี้กลายเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศสและการค้าทาสได้ถูกล้มเลิกอย่างสมบูรณ์ ด้วยการเปิดคลองสุเอซในปีพ.ศ. 2412 อังกฤษสนใจที่จะขับไล่ฝรั่งเศสที่กำลังทรุดตัวออกจากมาดากัสการ์

พระโอรสของพระนาง เจ้าชายราโกโตได้ครองราชย์ต่อเป็น พระเจ้าราดามาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์

อ้างอิง[แก้]

  1. "Genealogy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-03. สืบค้นเมื่อ 2018-02-11.
  2. Campbell (2012), p. 713
  3. Campbell (2012), p. 1078
  4. Académie malgache (1958), p. 375
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Freeman and Johns (1840), pp. 7–17
  6. Campbell (2012), p. 51
  7. Royal Ark
  8. Royal Ark
  9. 9.0 9.1 Oliver (1886), pp. 42–45
  10. 10.0 10.1 Rasoamiaramanana, Micheline (1989–1990). "Rainijohary, un homme politique meconnu (1793–1881)". Omaly sy Anio (ภาษาฝรั่งเศส). 29–32: 287–305.
  11. Ellis (1838), pp. 421–422
  12. 12.0 12.1 12.2 Berg, Gerald (1995). "Writing Ideology: Ranavalona, the Ancestral Bureaucrat". History in Africa. 22: 73–92. doi:10.2307/3171909. JSTOR 3171909.
  13. Bloch (1986), p. 106
  14. Campbell (2012), pp. 185–186
  15. Campbell, Gwyn (October 1991). "The state and pre-colonial demographic history: the case of nineteenth century Madagascar". Journal of African History. 23 (3): 415–445.
  16. Laidler (2005)
  17. L'habitation à Madagascar (1898), pp. 920–923
  18. Frémigacci (1999), p. 427
  19. 19.0 19.1 Ade Ajayi (1989), p. 423
  20. Oliver (1886), pp. 45–47
  21. Freeman and Johns (1840), pp. 17–22
  22. Prout (1863), p. 14

อ้างอิง[แก้]

ก่อนหน้า สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 1 ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์
(ราชวงศ์เมรีนา)

(3 สิงหาคม พ.ศ. 237116 สิงหาคม พ.ศ. 2404)
พระเจ้าราดามาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์