สมบัติ คุรุพันธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดร.สมบัติ คุรุพันธ์
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ดำรงตำแหน่ง
5 ตุลาคม พ.ศ. 2555 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 (73 ปี)
อุบลราชธานี ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ

ดร.สมบัติ คุรุพันธ์ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย นายกสมาคมแฮนด์บอลแห่งประเทศไmย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตอธิบดีกรมพลศึกษา

ประวัติ[แก้]

ดร.สมบัติ คุรุพันธ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 ที่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 10 ตำบลดงบัง อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ  เป็นบุตรของ นายวันนี – นางแหวน  คุรุพันธ์       มีพี่-น้อง 6 คน เป็นบุตรคนที่ 5

การศึกษา[แก้]

ป.กศ. ป.กศ.(สูง) กศ.บ. วท.ม.(สาธารณสุขศาสตร์) ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(วิทยาการนวตกรรมสังคม) Doctor of Management and Leadership (Strategic Management and Leadership) การบริหารรัฐกิจและกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 1 (ปรม.1) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 47 (วปอ. 47)  

ตำแหน่งทางราชการ[แก้]

-    รับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง ครูตรี  โรงเรียนอำนาจเจริญ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (สังกัดกรมสามัญศึกษา)

-    อาจารย์ 1 – 2  วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดอ่างทอง 

-    ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดอ่างทอง

-    หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ  กองส่งเสริมพลศึกษาและสุขภาพ กรมพลศึกษา

-    หัวหน้าฝ่ายวิทยาลัยพลศึกษา  กรมพลศึกษา

-    ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี (โรงเรียนกีฬาแห่งแรก) กรมพลศึกษา

-    อาจารย์ใหญ่โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี (คนแรก) กรมพลศึกษา

-    เลขานุการกรม  กรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

-   ผู้อำนวยการกองแผนงาน  กรมพลศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

-    ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

-    รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

-    ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

-    ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

-    อธิบดีกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

-    ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

-    ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ตำแหน่งทางการเมือง[แก้]

-    นักวิชาการประจำกรรมาธิการ รองประธานคณะกรรมาธิการหลายคณะ ในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร

-    ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (3 วาระ)

ตำแหน่งทางการกีฬา[แก้]

-   คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

-   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายกีฬาแห่งชาติ

-   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย

-   นายกสมาคมกีฬาแฮนด์บอลแห่งประเทศไทย 

-   ประธานสมาพันธ์กีฬาแฮนด์บอลแห่งอาเซียน 

-   คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์แฮนด์บอลแห่งเอเชีย

-   ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลนักเรียนแห่งเอเชีย

-   ประธานคณะกรรมการอำนวยการฟุตบอลลีกภูมิภาค

ตำแหน่งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ[แก้]

-   คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย

-   คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ตำแหน่งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย[แก้]

-    คณะกรรมการสภาสถาบันการพลศึกษา

-    คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 

-    คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม

รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติ[แก้]

-    ศิษย์เก่าดีเด่นวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

-    รางวัล “คนดีศรีเมืองลือ” “คนดีศรีอำนาจเจริญ” “คนดีศรีอีสาน” 

-    ข้าราชการดีเด่น  ผู้บริหารดีเด่น

-    ผู้บริหารสมาคมกีฬาดีเด่น  ผู้ทรงคุณค่าด้านการกีฬา  ผู้ทรงคุณค่าในการส่งเสริมกีฬานักเรียนอาเซียน

ตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบปัจจุบัน[แก้]

-    คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

-    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายกีฬาแห่งชาติ

-    กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย

-    นายกสมาคมกีฬาแฮนด์บอลแห่งประเทศไทย 

-    ประธานสมาพันธ์กีฬาแฮนด์บอลแห่งอาเซียน 

-    คณะกรรมการบริหารสมาพันธ์แฮนด์บอลแห่งเอเชีย

-    นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

-    รองประธานมูลนิธิ ศาสตราจารย์นายแพทย์ บุญสม  มาร์ติน

-    ประธานมูลนิธิ สมบัติ  คุรุพันธ์  

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

สรุปผลงานริเริ่ม/สร้างสรรค์/ดีเด่น[แก้]

เป็นชาวจังหวัดอำนาจเจริญคนแรก และจังหวัดอุบลราชธานี คนที่ 5 ที่รับราชการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการ คือ “ปลัดกระทรวง” ปฏิบัติราชการด้วยการ “ทุ่มเท เสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตน มีความริเริ่มสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหา” และพัฒนาการดำเนินงานให้เจริญก้าวหน้า มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคน สังคม และประเทศชาติ อย่างยั่งยืน โดยสรุปดังนี้

ด้านการปฏิรูปและการพัฒนาองค์กร

เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการปรับปรุง และพัฒนาโครงสร้างการบริหาร ระบบการดำเนินงาน การพัฒนาบุคลากร การนำนวตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการบริหารอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ของการบริหารบ้านเมืองที่ดี สร้างความเชื่อถือให้กับประชาชน มีการบูรณาการในการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ อาทิ จัดโครงการส่งเสริมกีฬานักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ในชุมชนและสถานศึกษาในทุกภูมิภาค โครงการความร่วมมือในการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีในวิทยาลัยพลศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ยกระดับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยพลศึกษาให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา เปลี่ยนชื่อจาก “วิทยาลัยพลศึกษา” เป็น “สถาบันการพลศึกษา” จัดตั้งโรงเรียนกีฬาเพื่อจัดการศึกษาพิเศษสำหรับนักเรียน  ที่มีความสามารถพิเศษทางการกีฬา ปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของ “สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ” ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการ ภารกิจ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ชาติ ดำเนินการเสนอเปลี่ยนชื่อ “สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ” กลับมาใช้ชื่อ “กรมพลศึกษา” เป็นกรมพลศึกษายุคใหม่ ที่มีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย ครอบคลุมทุกด้าน ทุกกิจกรรม และทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “อธิบดีกรมพลศึกษา” ยุคใหม่ ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คนแรก

ด้านการส่งเสริมการพลศึกษา

มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาด้านการพลศึกษา ทั้งการจัดการศึกษาด้านการพลศึกษาในระบบโรงเรียน ในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัยพลศึกษา สถาบันการพลศึกษา การจัดการศึกษาด้านพลศึกษา และการกีฬาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางการกีฬา และผู้ด้อยโอกาส อาทิ การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนในวิทยาลัยพลศึกษา และเปิดสอนปริญญาตรีในวิทยาลัยพลศึกษา การยกระดับของวิทยาลัยพลศึกษา เป็นสถาบันการพลศึกษา การจัดการศึกษาพิเศษ สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านการกีฬา โดยเป็นผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งโรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนกีฬาแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนกีฬาคนแรกของประเทศไทย ส่งเสริมการพลศึกษาและการกีฬาในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน การส่งเสริมกีฬาในสถานพินิจเด็ก ปฏิรูปและพัฒนาการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน โดยปรับเปลี่ยนชื่อการแข่งขันจากการแข่งขันกีฬานักเรียนแห่งประเทศไทย เป็นการแข่งขันกีฬานักเรียนแห่งชาติ จัดการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ริเริ่มให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาเด็กเล็ก การแข่งขันกีฬาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นผู้เสนอและริเริ่มให้มีการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬานักเรียนอาเซียน และเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนอาเซียน ครั้งที่ 1 จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติให้เป็น “บุคคลผู้ทรงคุณค่าในการส่งเสริมและพัฒนากีฬานักเรียนอาเซียน”

ด้านการพัฒนาการกีฬาขั้นพื้นฐาน และการจัดการพลศึกษานอกระบบโรงเรียน

ได้ริเริ่มและดำเนินการบูรณาการการดำเนินงานการส่งเสริมและพัฒนากีฬาขั้นพื้นฐาน และการจัดการพลศึกษานอกระบบโรงเรียน โดยดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมกีฬานักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ในทุกชุมชนและหมู่บ้าน” นำกลยุทธ์ “Sports for all All for sports” มาใช้ในการดำเนินงาน โดยจัดให้มีการฝึกสอน ฝึกซ้อม และแข่งขันกีฬา ในศูนย์ส่งเสริมกีฬานักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ในทุกชุมชน และหมู่บ้าน จัดให้มีเจ้าหน้าที่อาสาพัฒนาการกีฬา (อกฬ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการฝึกสอน และดำเนินการในทุกตำบล จัดให้มีการส่งเสริมกีฬา ทดสอบสมรรถภาพทางกาย กิจกรรมนันทนาการ แก่ทุกเพศ ทุกวัย   และทุกกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ

ด้านการส่งเสริมและพัฒนากีฬามวลชน

จัดให้มีการส่งเสริมและพัฒนากีฬามวลชน ตามความต้องการทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มอายุ และทุกพื้นที่ โดยจัดให้มีการฝึกสอน ฝึกซ้อม และการแข่งขันตามความต้องการ และความสนใจในทุกกลุ่ม จัดให้มีการแข่งขันกีฬาชาวไทยภูเขา กีฬาผู้สูงอายุ กีฬาชายแดนไทย-มาเลเซีย ไทย-ลาว ไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา

ด้านการส่งเสริมและพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ 

มีส่วนร่วมและรับผิดชอบดำเนินการส่งเสริมและพัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานการกีฬาของชาติให้สูงขึ้นทุกๆด้าน จัดดำเนินการทำแผนก่อสร้างสนามกีฬาตำบล อำเภอ จังหวัด และภาค ให้เกิดขึ้นและกระจายในทุกภูมิภาค ปฏิรูปการบริหารจัดการและบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านการกีฬา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ

ด้านการส่งเสริมและพัฒนากีฬาอาชีพ

ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากีฬาอาชีพในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้มีส่วนรับผิดชอบในการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 ริเริ่มดำเนินการจัดการแข่งขัน และเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการฟุตบอลลีกภูมิภาค

ด้านการส่งเสริมและเผยแพร่อุดมการณ์ด้านการกีฬา

ได้ดำเนินการให้ทุกภาคส่วนนำคุณประโยชน์ทางด้านการกีฬา เพื่อการพัฒนาคน สังคม และประเทศชาติ โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าของการกีฬา ภายใต้คำกล่าวที่ว่า “กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ” “เป็นนักกีฬาต้องเคารพกฎกติกา เป็นปวงประชาต้องเคารพกฎหมาย” “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” “เล่นกีฬาต้องมีศาสตร์ ชมกีฬาต้องมีศิลป์ เชียร์กีฬาต้องมีวัฒนธรรม”

ด้านการส่งเสริมและพัฒนานันทนาการ

ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนานันทนาการที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และความสงบสุขของสังคม โดยจัดให้มีแผนพัฒนานันทนาการแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2550 – 2554) ขึ้นเป็นฉบับแรก จัดให้มีการส่งเสริม สนับสนุน และจรรโลงกิจกรรมนันทนาการให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เห็นคุณค่าของกิจกรรมนันทนาการที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดให้มีการฝึกสอน ฝึกซ้อม และแข่งขันกิจกรรมนันทนาการ อาทิ การประกวดร้องเพลง การประกวดดนตรีพื้นบ้าน การประกวดโปงลาง การประกวดวงโยธวาทิต จนได้รับรางวัลโครงการดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย ประจำปี พ.ศ. 2552 จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

ด้านการส่งเสริมและพัฒนาทางด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

ได้ดำเนินการให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุน และเข้าร่วมกิจกรรมในการดำเนินงานด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งมั่น และศรัทธาเป็นอย่างดียิ่งโดยตลอด เป็นที่ประจักษ์ และยอมรับต่อสังคม และประเทศชาติเป็นอย่างดียิ่ง ยึดถือปฏิบัติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2011-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๔, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผทอกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๑๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๒, ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๓๐๔, ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๗