สติกซ์ (ดาวบริวาร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สติกซ์
Styx

ภาพการค้นพบดวงจันทร์สติกซ์ (จุด Styx ในภาพ)
จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ถ่ายเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2555
การค้นพบ
ค้นพบโดย:Showalter, M. R. และคณะ
ค้นพบเมื่อ:26 มิถุนายน พ.ศ. 2555
(ยืนยัน 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555)
หลักการค้นพบ:ถ่ายภาพโดยตรง
ลักษณะของวงโคจร
รัศมีวงโคจรเฉลี่ย:≈ 46,400 กิโลเมตร
(29,000 ไมล์)[1]
ความเยื้องศูนย์กลาง:≈ 0
คาบการโคจร:20.2 ± 0.1 วัน[2]
ความเอียง:≈ 0
ดาวบริวารของ:ดาวพลูโต
ลักษณะทางกายภาพ
เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย:10–24 กิโลเมตร (6–15 ไมล์)[3]
โชติมาตรปรากฏ:27.0 ± 0.3[2]

สติกซ์ (อังกฤษ: Styx) เดิมชื่อ S/2012 (134340) 1[ก] หรือ P5 เป็นดาวบริวารขนาดเล็กของดาวพลูโต ประกาศการค้นพบเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 นับเป็นดวงจันทร์ดวงที่ 5 ของดาวพลูโตเท่าที่มีการค้นพบจนถึงปัจจุบัน ถัดจากการค้นพบดวงจันทร์ดวงที่สี่ของดาวพลูโต (ชื่อว่า เคอร์เบอรอส) ประมาณหนึ่งปี โดยดวงจันทร์ดวงนี้ถูกตรวจพบจากชุดภาพถ่ายจำนวน 9 ชุดจากกล้องถ่ายภาพสนามกว้าง 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ภาพทั้ง 9 ชุดดังกล่าว ถ่ายในเดือนมิถุนายน วันที่ 26 27 29 และเดือนกรกฎาคม วันที่ 7 และ 9 พ.ศ. 2555[3]

ดวงจันทร์ดวงนี้คาดว่ามีรูปทรงบิดเบี้ยว เส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 10–24 กิโลเมตร ซึ่งค่าประมาณนี้ได้จากการหาความส่องสว่างปรากฏ และค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงของดาว (albedo) ที่มีค่าประมาณ 0.35 และ 0.04 จากขอบด้านบนและขอบด้านล่างของดาวตามลำดับ[2] ดวงจันทร์ดวงนี้เคลื่อนที่รอบดาวพลูโตโดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางวงโคจรประมาณ 58,000 ไมล์ อยู่ห่างจากดาวพลูโตประมาณ 26,000 ไมล์ (42,000 กิโลเมตร)[1] ซึ่งระยะทางนี้ทำให้สติกซ์มีวงโคจรอยู่ระหว่างคารอนและนิกซ์ และยังมีระนาบวงโคจรใกล้เคียงกับดวงจันทร์ดวงอื่น ๆ ของดาวพลูโต[2] มีการสันนิษฐานว่าดวงจันทร์ของดาวพลูโตอาจเกิดจากการชนกันของวัตถุในแถบไคเปอร์กับดาวพลูโตในอดีต[4]

โครงการสำรวจที่นำไปสู่การค้นพบดวงจันทร์ดวงนี้ เป็นหนึ่งในแผนเตรียมการไปถึงดาวพลูโตของยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเดินทาง จากการค้นพบดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กดวงใหม่นี้ทำให้ทีมงานตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการพุ่งชนยานอวกาศของเทห์ฟ้าต่าง ๆ โดยเฉพาะวัตถุที่มีขนาดเล็กยากต่อการตรวจจับ

ชื่อของดวงจันทร์ สติกซ์ (Styx) ตั้งตามชื่อเทพีแห่งแม่น้ำและชื่อของแม่น้ำในยมโลกตามเทพปกรณัมกรีก ชื่อนี้ได้รับการเห็นชอบโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล และประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 พร้อมกับดวงจันทร์อีกดวง เคอร์เบอรอส (Kerberos) ซึ่งเดิมชื่อ S/2011 (134340) 1 หรือ P4[5][6]

เชิงอรรถ[แก้]

ก. ^ 134340 เป็นตัวเลขที่หมายถึงดาวพลูโต กำหนดโดย ศูนย์ดาวเคราะห์ขนาดเล็ก (Minor Planet Center) ซึ่งกำหนดขึ้นหลังจากดาวพลูโตถูกถอดสภาพจากการเป็นดาวเคราะห์เมื่อปี พ.ศ. 2549[7] ส่วนชื่อ "เอส/2012 พี 1" ใช้เมื่อดาวพลูโตมีสถานะเป็นดาวเคราะห์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 (อังกฤษ) Hubble Discovers a Fifth Moon Orbiting Pluto – Fast Facts โดย HubbleSite News Release Archive, สืบค้นวันที่ 12 ก.ค.2555
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 (อังกฤษ) Hubble Space Telescope detects fifth moon of Pluto (Update) โดย Ray Sanders (11 ก.ค. 2555) เว็บไซต์ Phys.org , สืบค้นวันที่ 12 ก.ค. 2555
  3. 3.0 3.1 (อังกฤษ) Hubble Discovers a Fifth Moon Orbiting Pluto – Full โดย HubbleSite News Release Archive, สืบค้นวันที่ 12 ก.ค. 2555
  4. (อังกฤษ) Astronomers find fifth moon at Pluto โดย Thomas H. Maugh II (11 ก.ค. 2555) จาก Los Angeles Times, สืบค้นวันที่ 12 ก.ค. 2555
  5. "Names for New Pluto Moons Accepted by the IAU After Public Vote". IAU. 2 July 2013. สืบค้นเมื่อ 2 July 2013.
  6. "Pluto's Smallest Moons Receive Their Official Names". SETI Institute. 2 July 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-05. สืบค้นเมื่อ 2 July 2013.
  7. Than, K. (11 September 2006). "Pluto is Now Just a Number: 134340". Space.com. สืบค้นเมื่อ 14 July 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • (อังกฤษ) Showalter, Mark. Hubble Discovers a Fifth Moon Orbiting Pluto – แถลงการณ์การค้นพบดวงจันทร์ดวงที่ห้าของดาวพลูโต โดย Hubble Press Release.