ศาสนาพื้นเมืองมาเลเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาลปังลีมาฮีเยา ผีเจ้าที่บนเกาะปังโกร์

ศาสนาพื้นเมืองมาเลเซีย (มลายู: Agama rakyat Malaysia) คือ ความเชื่อหรือปฏิบัติบูชาผีและเทวดาหลายองค์ของประเทศมาเลเซียซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคก่อนรับศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนี้พิธีกรรมของศาสนาพื้นเมืองมาเลเซียอาจมีการจัดอย่างเปิดเผยหรือซ่อนเร้นตามแต่ประเภทของพิธีกรรม

รัฐบาลมาเลเซียไม่ยอมรับการมีอยู่ของศาสนาพื้นเมืองมาเลเซียในรูปแบบของศาสนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางสถิติ ปัจจุบันศาสนาพื้นเมืองมาเลเซียมีปฏิสัมพันธ์ยิ่งกับศาสนาพื้นเมืองจีนในกลุ่มชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน

ลักษณะ[แก้]

ศาสนาพื้นเมืองมาเลเซียมีรูปแบบการประกอบพิธีกรรมที่หลากหลาย มีคนทรงพื้นบ้านหลายแบบ ได้แก่ โบโมะฮ์ (ในไทยเรียก โต๊ะบอมอ), ปาวัง (ในไทยเรียก โต๊ะปะหวัง) และดูกุน ชนพื้นเมืองโอรังอัซลีส่วนใหญ่นับถือผีและเชื่อว่าวิญญาณสิงสถิตในวัตถุบางอย่าง ทว่าในยุคหลังมีการประกาศศาสนาของศาสนาอิสลาม และการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของมิชชันนารี ทำให้ชาวโอรังอัซลีจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนไปนับถือศาสนากระแสหลัก

ชนเผ่าบนเกาะบอร์เนียวเริ่มเลิกนับถือผี และคำว่า โบโมะฮ์ ใช้เรียกผู้ที่มีความรู้หรือมีอำนาจในการประกอบพิธีกรรมทางจิตวิญญาณตามจารีตประเพณี และใช้เรียกแทนคนทรงหรือหมอผีได้ ปัจจุบันชาวมาเลเซียยังมีความเชื่อเรื่องผีอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบชนบท ขณะที่ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนนับถือผีเจ้าที่แขก ในประเทศไทยเองก็มีความเชื่อเรื่องเจ้าที่แขกเช่นกัน เช่น โต๊ะแซะ พระแทว และโต๊ะรายาในจังหวัดภูเก็ต[1] ซึ่งบูชาโดยไม่ถวายเครื่องเซ่นที่ทำจากเนื้อหมู[2][3]

ประวัติ[แก้]

การแสดงมะโย่งบนเกาะปีนัง ถือเป็นนาฏกรรมโบราณที่เจือด้วยความเชื่อก่อนยุคอิสลาม

ในอดีตบริเวณคาบสมุทรมลายูนี้เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู-พุทธและผีมาก่อน ต่อมามีการเผยแผ่ศาสนาอิสลามใน ค.ศ. 1409 เมื่อเจ้าชายปาราเมซวารา (หรือ ปรเมศวร) เจ้าผู้ครองรัฐสุลต่านมะละกา เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามหลังอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งรัฐสุลต่านซามูเดอราปาไซ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ศาสนาอิสลามก็เป็นที่แพร่หลายและมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ขณะที่ชนเผ่าบนเกาะบอร์เนียวก็ยังนับถือผีกันอย่างแพร่หลาย ก่อนการเข้ามาของมิชชันนารีศาสนาคริสต์จากยุโรป เพราะฉะนั้นการล่าหัวมนุษย์เพื่อทำเป็นของขลังจึงมีอยู่แพร่หลาย[4]

ชาวกาดาซัน-ดูซุนในรัฐซาบะฮ์ นับถือศาสนาโมโมเลียน (Momolianisme) บูชาเทพกีโนอิงงัน (Kinoingan) เป็นเทพเจ้าแห่งข้าว และมีเทศกาลกาอามาตัน (Kaamatan) เป็นเทศกาลเก็บเกี่ยว มีโบโบฮีซัน (Bobohizan) ซึ่งเป็นคนทรงมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ปัจจุบันชาวกาดาซัน-ดูซุนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์เสียมาก ศาสนาโมโมเลียนก็แทบจะสูญไป[5]

ขณะที่การนับถือผีของชาวอีบันในรัฐซาราวัก มีการพัฒนา ซับซ้อน และทรงปัญญามากที่สุดศาสนาหนึ่ง[6] มีการปฏิบัติคล้าย ๆ กับกาฮารีงัน (Kaharingan) ศาสนาพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย แต่พิธีกรรมต่างกันโดยสิ้นเชิง และขึ้นอยู่กับพิธีกรรมในแต่ละชาติพันธุ์ที่ปฏิบัติ

พิธีกรรมและรักษาแบบดั้งเดิม[แก้]

หมอผีมลายูบนเกาะสิงคโปร์
ศาลโปะฮ์ซันเต็ง เพื่อบูชาตัวเป็กกง เทพพื้นเมืองของศาสนาพื้นบ้านจีนในมาเลเซียและสิงคโปร์ คล้ายกับตี่จู๋เอี๊ยะ สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1795[7]

ในอดีต ความเป็นมลายูและความเป็นมุสลิมไม่ได้เป็นปัจจัยเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บางท้องที่ของชุมชนเชื้อสายมลายูมีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อพื้นเมือง อย่างเช่น พิธีปูยาปาตาหรือพิธีบูชาชายหาดของเมืองยะหริ่ง จะมีการก่อทรายคล้ายรูปพระเจดีย์กลางลานริมทะเล ประดับประดาด้วยดอกไม้ ผลไม้ และอาหาร ผู้คนทั้งชาวสยาม จีน และมลายูต่างหยุดงานเพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมและต่างนำอาหารมาฉลองด้วยกัน ซึ่งจะมีการจัดมหรสพต่าง ๆ คือ มะโย่ง มโนราห์ และวายังกูลิต (หนังตะลุง) ครั้นวันที่หกของพิธีกรรม จะมีการนำควายเผือกวัยหนุ่มมาเดินรอบเจดีย์ทรายสามรอบ แล้วทำการเชือดพลีบูชาโดยไม่ได้เลือดตกถึงพื้น ก่อนผ่าร่างควายเป็นสองส่วนและแยกอวัยวะภายในออกมา จากนั้นเอาฟางยัดใส่ร่างควายเผือกแล้วไปตั้งไว้บนแพ ต่อมาในวันที่เจ็ด รายอยะหริ่งจะแต่งกายเต็มยศ นำผู้คนร่ายรำและแห่แพควายเผือกรอบเจดีย์ทรายสามรอบ จากนั้นให้เก็บทรายคนละถุง แล้วเริ่มปล่อยเรืออกนอกฝั่ง เมื่อถึงจุดหมายมโนราห์จะเริ่มร่ายรำรอบ ๆ ซากควายเผือก อวัยวะภายในของควายจะถูกทิ้งลงทะเล แพควายเผือกจะถูกปล่อยให้ลอยทะเลไปตามกระแสคลื่น เมื่อเสร็จการลอยแพ เรือของชาวมลายูกลับเข้าใกล้ฝั่ง ก็จะนำทรายที่กรอกไว้ก่อนหน้านี้ปาใส่คนจีนและสยามบนชายหาดซึ่งก็โต้ตอบด้วยวิธีเดียวกันจนทรายหมด จากนั้นองค์รายอก็เชื้อเชิญให้ทุกคนรับประทานอาหารร่วมกัน[8]

ปัจจุบันโบโมะฮ์ยังมีผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ โบโมะฮ์ทั้งหมดเข้าร่วมศาสนาอิสลามและไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้าม[9] พวกเขาเป็นที่รู้จักในฐานะหมอพื้นบ้านหรือการรักษาทางเลือก อย่างไรก็ตามผู้คนในสังคมบางส่วนก็มองพวกเขาในแง่ลบ เช่น พวกเขาเชื่อว่าโบโมะฮ์สามารถร่ายคาถาสาปสรรคนอื่นให้ฉิบหายได้ และผู้ที่จะเป็นโบโมะฮ์ก็ลดจำนวนลงด้วยเช่นกัน[9] ส่วนในไทย บรรดาโต๊ะครูก็มีชื่อเสียงด้านการรักษาอาการเจ็บป่วยหรือแก้คุณไสย พวกเขามีสถานะเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวว่าการกระทำนั้นไม่ผิดหลักศาสนา[10] กระนั้น ฮันตู หรือผี กลับเป็นสัญลักษณ์แห่งความงมงายและล้าหลัง[11]

ไม่นานมานี้ มีข้อเสนอเรื่องความจำเป็นและความสำคัญจากการรักษาด้วยโบโมะฮ์หรือหมอผีอื่น ๆ ในฐานะแพทย์แผนโบราณเพื่อเสริมหรือทดแทนแพทย์แผนปัจจุบัน[5][12]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พระแทว". ภูเก็ตสารสนเทศ. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. รัษฎา. "ศาลเจ้าพ่อโต๊ะแซะ (เขารัง)". Signature of Phuket. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-25. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "สายมูจงมา 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภูเก็ต เด็ดๆ ปังๆ". Phuket E-Magazine. 15 กรกฎาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. Russell, Susan, "Head-hunting in Southeast Asia" เก็บถาวร 2007-07-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Center for Southeast Asian Studies, Northern Illinois University. Accessed 15 August 2007.
  5. 5.0 5.1 "Set up knowledge academy on traditional healing: Pairin " เก็บถาวร 26 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Daily Express, 6 October 2004.
  6. Cavendish, Richard, "Man, Myth & Magic: An Illustrated Encyclopedia of the Supernatural (vol. 3)", New York: Marshall Cavendish Corp. (1970); pg. 312. Accessed 13 August 2007.
  7. "Sam Po Keng Temple". AmazingMelaka.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 24 August 2015.
  8. ศรายุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. มันยากที่จะเป็นมลายู. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 98-99
  9. 9.0 9.1 "Malaysian Bomoh Practitioners: a Dying Breed" เก็บถาวร 2009-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Islam Online. Accessed 12 August 2007.
  10. ศรายุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. มันยากที่จะเป็นมลายู. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 181
  11. ศรายุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. มันยากที่จะเป็นมลายู. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559, หน้า 214
  12. "Bomoh And Malays Are Inseparable, Says Don" เก็บถาวร 26 กันยายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Bernama, 8 March 2006.