วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รองศาสตราจารย์ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน หรือ วันอับดุลกาเดร์ เจ๊ะมัน หรือ มาฮาดี ดาโอ๊ะ มีชื่อจัดตั้งและชื่อเล่น หลายชื่ออาทิ กาเดร์ เจ๊ะมัน/ฟาเดร์ เจ๊ะแม/วันกาเดร์/ดร.ฟาเดร์ อุสมัน/กอเดร์ เจ๊ะมาน/มะห์ดี ดาอุด/เจ๊ะแม บินกาเดร์ มีศักดิ์เป็นหลานของนายอิซซุดดิน ประธานขบวนการแบ่งแยกรัฐปัตตานี (BIPP) อดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย

ประวัติ[แก้]

รศ.ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน เกิดที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี หลังจากนั้นเดินทางไปกรุงเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก่อนเดินทางไปกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ แต่แล้ววันกาเดร์ก็ตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 10 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนทหารได้รับยศสิบโท แล้วศึกษาในมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ (B.A. Political Science) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตต (Washington State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นกลับมารับราชการที่สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย

ในช่วงสงครามเย็นปี พ.ศ. 2515 - 2516 ได้รับหน้าที่หาข่าวจาก บก.333 จังหวัดอุดรธานี เพื่อส่งให้กับศูนย์ CIA จังหวัดสกลนคร

มีหน่วยงานหนึ่งส่งให้วันกาเดร์ไปศึกษาต่อที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2518 โดยจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ (M.A. Political Science) ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ (University of Science) ประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้นได้ส่งเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว

ต่อมาได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกต่อที่ประเทศออสเตรเลีย จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ (Ph.D. Political Science) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (The Australian National University) ประเทศออสเตรเลีย แล้วได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของประเทศบรูไน

หลังจากการผ่าตัดหัวใจ วันกาเดร์ได้ย้ายกลับไปประเทศมาเลเซียอีกครั้ง โดยไปเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยอิสลามระหว่างประเทศ (University Islam Antara Bangsa) ประเทศมาเลเซีย

ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2565 วันอับดุลกาเดร์ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

วันกาเดร์และเบอร์ซาตู[แก้]

เมื่อประเทศมาเลเซียมีคำสั่งให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่าง ๆ ก่อตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมาเพื่อเจรจากับประเทศไทย ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายขบวนการได้ก่อตั้งองค์กรเบอร์ซาตู ขึ้นมา โดยเลือกให้วันกาเดร์ ตัวแทนจากขบวนการ BIPP เป็นหัวหน้า แต่วันกาเดร์ไม่สามารถบริหารเบอร์ซาตูได้ เพราะวันกาเดร์ไม่เป็นที่ไว้วางใจของขบวนการเหล่านั้น เนื่องด้วยนิสัยส่วนตัวและเบื้องหลังที่เคลือบแคลง

วันกาเดร์พร้อมภรรยาลี้ภัยในประเทศสวีเดนสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อประเทศมาเลเซียจับผู้นำขบวนการพูโล 4 คนให้แก่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2531 ในการลี้ภัยครั้งแรกเขาป่วยเป็นโรคอัมพาต ต้องใช้ไม้เท้าตั้งแต่นั้นมา

ในการลี้ภัยครั้งที่สอง วันกาเดร์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเบอร์ซาตู และได้ตกลงกับรัฐบาลไทยที่จะเป็นผู้ประสานให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหยุดการต่อสู้แบบใช้กำลัง ผู้สังเกตการณ์บางคนออกความเห็นว่า การลี้ภัยครั้งที่สอง หลังจากการให้สัมภาษณ์ต่อ BBC ไม่ใช่การลี้ภัย แต่เป็นแผนงานของวันกาเดร์ในการที่จะปฏิบัติตามโครงการที่ได้ตกลงไว้กับประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ในช่วงที่วันกาเดร์พักอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัยนั้น ทางการไทยและมาเลเซียก็ได้เข้าพบปะเขาหลายครั้ง วันกาเดร์เลือกไปประเทศสวีเดนเพราะเป็นประเทศที่มีพวกหัวหน้าของพวกแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่าง ๆ อาศัยอยู่ วันกาเดร์ได้ร่วมทำกิจกรรมกับจำเริญ เด่นอุดม เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการต่อสู้ของชาวปัตตานี เช่นจัดสัมมนาในมหาวิทยาลัย และให้สัมภาษณ์แก่นักข่าว

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ คัดค้านอย่างรุนแรง ไม่ให้รัฐบาลไทยเจรจากับวันกาเดร์ เพราะเห็นว่าวันกาเดร์ นั้นไม่ใช่บุคคลที่สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้ แต่ต่อมาวันกาเดร์ก็ยังอ้างว่าตนยังเป็นประธานเบอร์ซาตู แม้ว่ากลุ่มต่าง ๆ ไม่ยอมรับเขาอีกต่อไป ขบวนการบีอาร์เอ็นคองเกรสได้ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการในปลายปี พ.ศ. 2549 ส่วนพูโลก็ได้ออกจากเบอร์ซาตูโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. พ.ศ. 2548

วันกาเดร์กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวอัลญะซีเราฮ์วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ว่า “เบอร์ซาตูในตอนนี้ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ 3 กลุ่ม คือกลุ่มบีไอพีพีของผม, กลุ่มพูโล และกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต ในขณะที่กลุ่มบีอาร์เอ็นคองเกรส เพิ่งแยกตัวออกไปจากเบอร์ซาตูเมื่อไม่นานมานี้ เหตุอาจเป็นเพราะบีอาร์เอ็นคองเกรส ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มที่เหลือที่พร้อมจะประนีประนอม พร้อมจะเจรจากับทางการไทย และคงเห็นว่าผมคงไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไปแล้ว” คำพูดดังกล่าวทำให้ขบวนการบีอาร์เอ็นโกรธเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดกับออกฟัตวาว่าอนุมัติให้สังหารวันกาเดร์ได้ เพราะว่าวันกาเดร์อ้างว่าบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตร่วมมือกับเขาทั้ง ๆ ที่ บีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตปฏิเสธที่จะร่วมมือกับเขามาตลอด อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์ว่านักรบรุ่นใหม่ไม่ประสงค์การเจรจาประณีประนอม ชอบใช้กำลัง ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงกำลังพลของบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตที่ชอบออกก่อกวนสร้างสถานการณ์ในภาคใต้ ก่อนหน้านั้นยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าปอเนาะเป็นแหล่งฝึกหน่วยจรยุทธ ซึ่งก็เป็นการเผยความลับของขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตให้แก่รัฐบาลไทย

วันกาเดร์พูดภาษามลายูปัตตานี แต่ไม่ค่อยถนัดภาษามลายู เขาใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษในงานเขียน อย่างไรก็ตาม จำรูญ เด่นอุดม (นามปากกา อาริฟีน บินจิ) เห็นว่า เขาอ่อนด้อยภาษาไทย[1] มีผลงานการศึกษาเปรียบเทียบเรื่องชนกลุ่มน้อยมุสลิมภาคใต้ของประเทศไทยกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมโมโรในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ (Muslim Separatism : The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand)

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าวันกาเดร์ น่าจะเป็นสมาชิกของ Freemasonry อันเป็นองค์กรที่ขัดแย้งกับความเชื่อถือของมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้ แม้ว่าวันกาเดร์จะปรากฏตัวเป็นนักการเมืองเพื่อกู้ชาติมลายูปาตานี แต่วันกาเดร์ไม่เป็นที่ชื่นชมของประชาชนมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้เลย หนึ่งอาจจะเป็นเพราะวันกาเดร์ไม่เป็นที่รู้จักสองผู้ที่รู้จักวันกาเดร์เห็นว่าวันกาเดร์มีรูปแบบการดำรงชีวิตแบบตะวันตก ไม่ได้เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม จึงยากที่จะเป็นที่ยอมรับของประชาชน ชื่อของวันกาเดร์ไม่มีในบัญชีดำของรัฐบาลไทย วันกาเดร์สามารถเข้าออกประเทศไทยได้ตามปกติวิสัย

หลังจากให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์อัลจาซีราแล้ว [2] วันกาเดร์ก็ถูกทางการมาเลเซียสั่งห้ามไม่ให้วันกาเดร์ติดต่อกับสื่อมวลชนอีกต่อไป หากยังต้องการที่จะอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้วันกาเดร์ไม่เป็นที่อนุญาตให้เข้าสอนในประเทศมาเลเซียอีกต่อไป

การทำงาน[แก้]

อ้างอิง[แก้]