วัดโพธินายก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโพธินายก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดโพธินายก, วัดโพ, วัดโพท้ายเมือง, วัดโพธิ์ท้ายเมือง, วัดโพธิ์ใต้เมือง, วัดโพธิใต้
ที่ตั้งตำบลนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโพธินายก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายกในตำบลนครนายก อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก มีเนื้อที่ตั้งวัด16 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา

วัดโพธินายก ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่ในหนังสือวัดที่พิมพ์ไว้ในหนังสือรวมบทสวดมนต์ของวัด ให้ข้อมูลจากการสันนิษฐานของนักโบราณคดี คือ วัดน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ. 1991–2231) ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 ข้อสันนิษฐานนี้ได้มาจากการตีความหลักฐาน คือ เสาหงส์ 3 ต้น ซึ่งอยู่ในบริเวณท่าน้ำเดิมของวัด เพื่อแสดงสัญลักษณ์ที่พม่าสร้างไว้เพื่อแสดงการแผ่อำนาจของตน ประวัติวัดยังระบุว่าวัดโพธินายกเคยเป็นวัดหลวง ก่อนที่จะถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2470 อุโบสถยังเคยใช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยามาตั้งแต่ครั้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อีกข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่าวัดโพธินายกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2392 ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2404 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอุโบสถสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2404 ใบพระราชทานวิสุงคามสีมาระบุ พ.ศ. 2413 กล่าวว่า มีพระอธิการหรือเจ้าอาวาสชื่อ อิน ยังสะกดชื่อว่า วัดโพ อย่างไรก็ตาม เอกสารอื่นก็มีเรียกชื่อวัดแตกต่างกันไป เช่น วัดโพท้ายเมือง บ้างสะกดว่า วัดโพธิ์ท้ายเมือง วัดโพธิ์ใต้เมือง วัดโพธิใต้ สันนิษฐานว่า เพื่อให้ชื่อนั้นต่างไปจาก วัดโพไซรย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือขึ้นไปและอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายกเช่นเดียวกัน ส่วนชื่อวัดในปัจจุบัน "วัดโพธินายก" น่าจะเปลี่ยนตั้งแต่ พ.ศ. 2473[1]

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2404 ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 กุฎิสงฆ์ จำนวน 2 หลัง มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2490[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดโพธินายก". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "วัดโพธินายก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.