วัดเหนือ (อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเหนือ
สิม
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเหนือ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่วัดประมาณ 9 ไร่

ที่ตั้งวัดอยู่บนเนินสูงเรียกว่า โนนวัดเหนือ คาดว่าอาจเป็นศูนย์กลางของชุมชนในระยะแรก เพราะเป็นจุดที่สูงที่สุดภายในเมืองร้อยเอ็ด ปรากฏหลักฐานชุมชนโบราณที่มีอายุกว่า 1000 ปี มีสำนวนที่กล่าวกันต่อมาว่า "วัดเหนือคู่บ้าน วัดกลางคู่เมือง" เพราะว่าวัดเหนือสร้างขึ้นในตอนที่จังหวัดร้อยเอ็ดยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อ บ้านกุ่มฮ้าง ส่วนวัดกลางนั้นสร้างตอนที่จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นเมืองสาเกตุนครที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีคือร่องรอยเสาหินโบราณแปดเหลี่ยม (หินยุคใหม่ อายุ 3,000 ปี) สูง 1.5 เมตร คล้ายศิวลึงค์ของศาสนาพราหมณ์ ตรงฐานมีกลีบบีวคว่ำบัวหงาย จารึกอักษรปาลวะของอินเดียสมัยคุปตะ ตรงกับสมัยทวาราวดี และเขียนข้อความว่า "ปุญณธมะณธ” สร้างโดยคนมีบุญขอบเขตคนมีบุญ

กรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2348 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2526[1]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ คือ พระธาตุองค์ใหญ่ทรงบัวเหลี่ยมมุงแบบศิลปะล้านช้าง เรียกกันว่า พระธาตุยาคู อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24–25 ด้านในองค์พระธาตุก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ส่วนด้านนอกก่อด้วยอิฐขนาดเล็กกว่าและมีการฉาบปูน คาดว่าอาจสร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยทวารวดีเพราะในยุคนั้นมักก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ต่อมาคงได้รับการบูรณะจนมีรูปแบบอย่างปัจจุบัน โบราณวัตถุสมัยทวารวดีอีกชิ้นคือใบเสมาหินทรายศิลปะทวารวดีหลายใบฝังอยู่รายรอบพระธาตุ พบเมื่อ พ.ศ. 2526 ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุ โดยตั้งอยู่ล้อมรอบพระธาตุ เป็นใบเสมาที่สลักแกนกลางเป็นลายสถูปหรือหม้อน้ำ ส่วนฐานสลักเป็นลายกลีบบัว[2] สิมอีสานแบบมหาอุดอายุ 200 ปี อิทธิพลล้านช้าง มีลักษณะเตี้ย กว้าง หน้าต่างปิดตาย ผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปในสิมได้[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดเหนือ". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดเหนือ". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  3. "ประวัติวัดเหนือ". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-27. สืบค้นเมื่อ 2022-04-12.