วัดเชิงแสใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเชิงแสใต้
แผนที่
ชื่อสามัญวัดเชิงแสใต้, วัดเชิงแสหัวนอน
ที่ตั้งตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระปลัดปรีชา ธมฺมปาโล
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดเชิงแสใต้ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา

วัดเชิงแสใต้เป็นวัดโบราณ ที่ปรากฏหลักฐานในแผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ. 977 (พ.ศ. 2158) หรือ แผนที่กัลปนาในคาบสมุทรสทิงพระซึ่งระบุชื่อ วัดเชิงแสหัวนอน[1] สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2300 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2315[2]

อุโบสถหลังปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยพระครูเมฆ ติสฺสโร (ก่อน พ.ศ. 2491) โดยมอบหมายให้นายหลง บ้านโตนดด้วน เป็นแม่งานก่อสร้าง ตำแหน่งที่ตั้งอุโบสถตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถเก่า แต่เนื่องจากพื้นที่ซึ่งจะสร้างอุโบสถใหม่นั้นเป็นบริเวณริมชายคลอง จำเป็นต้องถมดินให้สูงขึ้น จึงได้ดำเนินการขุดสระขึ้นที่ด้านตะวันออกของอุโบสถเดิม เพื่อนำดินมาถมที่ซึ่งจะก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ไม้สำหรับการสร้างอุโบสถ ได้ขออนุญาตทางการตัดไม้ที่พัทลุง โดยนำมาใช้เฉพาะเครื่องบนกับประตูหน้าต่าง ส่วนเรื่องแรงงานขุนอารักษ์เชิงแสกำนันตำบลเชิงแส ได้อาสารวบรวมกำลังคนช่วยลงแรงในการก่อสร้าง แต่การก่อสร้างยังไม่ทันแล้วเสร็จพระครูเมฆ ติสฺสโร ถึงแก่มรณภาพใน พ.ศ. 2491 ด้วยไข้มาลาเรีย จากการเดินทางไปตัดไม้เพิ่มเติม

อุโบสถหลังปัจจุบัน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีประตูทางเข้าทิศตะวันตกด้านเดียว อีกด้านหนึ่งเป็นหน้าต่าง ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปบนฐานชุกชี เครื่องบนของอุโบสถเป็นเครื่องไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาปลายแหลม ประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ปูนปั้น หน้าบันด้านทิศตะวันตก เป็นปูนปั้นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระอินทร์ทรงพระขรรค์ในพระหัตถ์ซ้าย และทรงจักรในพระหัตถ์ขวา ประทับนั่งบนแท่น เหนือช้างเอราวัณทรงเครื่องยืนแท่น ด้านข้างเป็นชุดลายกระหนกเปลว มีกินรีและเทพบุตรร่ายรำอยู่ทางด้านซ้าย และมีกินนรและเทพธิดาร่ายรำอยู่ทางด้านขวา หน้าบันด้านทิศตะวันออก เป็นปูนปั้นภาพพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ภายใต้ฉัตรสามชั้น พระนารายณ์ทรงคทาในพระหัตถ์ซ้ายหน้า ทรงสังข์ในพระหัตถ์ซ้ายหลัง ทรงลูกศรในพระหัตถ์ขวาหน้า และทรงจักรในพระหัตถ์ขวาหลัง ประทับอยู่บนต้นแขนพญาครุฑ ซึ่งกำลังกางปีก มือของพญาครุฑทั้งสองมือกำหางนาค เท้าทั้งสองจับคอนาค บริเวณด้านซ้ายปรากฏรูปสตรี (คนธรรพ์) นั่งประนมมือบนดอกบัว บริเวณด้านขวาปรากฏรูปบุรุษ (คนธรรพ์) นั่งประนมมือ

อ้างอิง[แก้]

  1. "กรมศิลป์เตรียมบูรณะโบราณสถานวัดเชิงแสใต้-อาคารเมฆประดิษฐ์". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. "วัดเชิงแสใต้". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.