วัดลาดศรัทธาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดลาดศรัทธาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดลาดศรัทธาราม, วัดลาดศรัทธาธรรม, วัดท่าหมูสี, วัดศาลาหมูสี
ที่ตั้งตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดลาดศรัทธาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 18 ไร่ มีที่ธรณีสงฆ์ เนื้อที่ 7 ไร่[1]

ประวัติ[แก้]

วัดลาดศรัทธาราม หรือ วัดท่าหมูสี หรือ วัดศาลาหมูสี ตามทะเบียนวัดภาคระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2245 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2332 (ตามบัญชีแผนกศึกษาธิการ อำเภอบ้านลาด) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[2] หากพิจารณาตามหลักฐานที่เหลืออยู่ พบว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประทับ เสวยพระกระยาหารที่วัดนี้ เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2452 และได้พระราชทานพัด ย่าม และจีวรแพร ให้เจ้าอธิการกลิ่น

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถก่ออิฐฉาบปูน ขนาด 5 ห้อง ฐานอ่อนโค้งเล็กน้อย ตัวอาคารสอบมีเสาอิงประดับ หัวเสามีลวดลายปูนปั้น รูปใบไม้ ดอกไม้ ลงสีสด (น้ำเงิน แดง เหลือง) ด้านหน้าเป็นพาไลยื่นออกมา มีเสาก่ออิฐฉาบปูนรับพาไล จำนวน 4 ต้น มีประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ประตู หน้าต่างด้านละ 1 บาน ซุ้มประตูหน้าต่างประดับด้วยลวดลายปูนปั้น เป็นรูปดอกไม้ ใบไม้ หลังคาเครื่องไม้ ลดหลั่นซ้อนกัน 2 ชั้น มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ แต่ที่พาไลเป็นกระเบื้องดินเผา หน้าบันอุโบสถทั้ง 2 ด้าน เป็นลวดลายปูนปั้นลงสีสด รูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคประกอบลวดลายเถาไม้ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปูนปั้น ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีปูนปั้น เดิมลงรักปิดทอง กำแพงแก้วล้อมรอบอุโบสถ ก่ออิฐฉาบปูน เปิดช่องทางเข้า ด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 1 ช่อง โดยทำเสาหัวเม็ดประดับ 2 ด้าน นอกจากนี้ที่มุมทั้ง 4 และบางช่วงของกำแพง จะทำเสาหัวเม็ดประดับ เช่นกัน รอบอุโบสถมีใบเสมาประจำทิศ สลักด้วยหินทรายสีแดง[3]

เจดีย์ราย อยู่ด้านหน้าและด้านข้างอุโบสถ จำนวน 9 องค์ (ด้านหน้า 3 องค์ ด้านข้าง 6 องค์) เจดีย์ด้านหน้า 3 องค์ ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เจดีย์ด้านข้าง ตั้งอยู่ทางทิศใต้นอกกำแพงแก้ว จำนวน 3 องค์ มีรูปแบบคล้ายคลึงกันจำนวน 5 องค์ โดยเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีกองค์เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่กว่าเจดีย์องค์อื่น ตั้งประชิดกำแพงแก้วเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเช่นเดียวกัน องค์ระฆังรูปเหลี่ยมประดับปูนปั้นลายรักร้อย

หอระฆังก่ออิฐฉาบปูน ทรงปราสาท หลังคาทรงจตุรมุข ยอดมงกุฎ ตั้งอยู่บนฐานบัวย่อมุมไม้สิบสอง ตัวหอระฆังโปร่งคั่นด้วยลูกกรงเตี้ย ๆ ส่วนหลังคามุงกระเบื้อง หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระพุทธรูป

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดลาดศรัทธาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดลาดศรัทธาราม". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. ""วัดท่าหมูสี" วัดเก่าที่บ้านลาด". วารสารเมืองโบราณ.