วัดละหาร (จังหวัดนนทบุรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดละหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดละหาร, วัดลาว, วัดราชบัญหาร, วัดราชบันหาร, วัดราชบรรหาร
ที่ตั้งเลขที่ 17 หมู่ที่ 2 ถนนเทศบาล 4 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 11110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสิริธรรมภาณ (สุเทพ อภิเทโว)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดละหาร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดละหารสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2321 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ยกกองทัพไปเวียงจันทน์ ได้นำครอบครัวชาวเวียงจันทน์เข้ามากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวชาวเวียงจันทน์ที่เป็นชาวพวนมาอยู่ที่บางบัวทอง จึงเกิดชุมชนชาวลาวพวนเป็นชุมชนใหญ่ ในเวลาต่อมา ชาวชุมชนได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้น โดยระยะแรกเรียกว่า วัดลาว ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พบหลักฐานซึ่งเขียนชื่อวัดว่า วัดราชบัญหาร บ้างสะกดว่า วัดราชบันหาร หรือ วัดราชบรรหาร จนปัจจุบันได้เรียกเพี้ยนมาเป็น "วัดละหาร" วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2470 วัดได้เปิดสอบพระปริยัติธรรมแผนกธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2489 และแผนกบาลีเริ่มเปิดตั้งแต่ พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์สงเคราะห์พุทธมามกะประจำอำเภอบางบัวทอง และศูนย์อบรมประชาชนประจำตำบล[1]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อุโบสถเป็นอาคารทรงโรง คอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 5 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น ตับหลังคามี 3 ตับ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่าสีส้มออกแดง ด้านหน้าและด้านหลังเป็นมุขคลุมชานชาลาทั้ง 2 ด้าน ที่หน้ามุขทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำชายคายื่นออกมาเป็นพาไล รับกับชายคาของตับหลังคาตับสุดท้ายของหลังคามุขด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ด้านหน้าจึงไม่มีรวงผึ้งและสาหร่าย คงมีคันทวยรับชายคาของหลังคาตับสุดท้ายที่หน้ามุขทั้ง 2 ด้าน หน้าบันเป็นรูปเทพนมครึ่งองค์อยู่ในกรอบรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ล้อมด้วยลายกระหนกก้านขดออกช่อหัวโต ใช้กระจกสีฟ้าเป็นการลงพื้น หน้าบันคอสองเป็นลายกระหนกเปลวก้านขด หน้าบันด้านหลังมีรูปแบบเหมือนหน้าบันด้านหน้า ด้านนอกมีกำแพงแก้วเป็นกำแพงสูง ด้านบนทำเป็นลูกกรงโปร่ง มีประตูกำแพงแก้ว ด้านบนทำเป็นลูกกรงโปร่ง มีประตูกำแพงแก้ว 4 ประตู ประตูด้านหน้าทางทิศตะวันออก 1 ประตู ประตูด้านหลังทางทิศตะวันตก 1 ประตู ประตูด้านข้างทางทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ 1 ประตู ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งศิลปะสมัยสุโขทัย

วิหารหลวงพ่อป่าเลไลยก์หลังเดิม พระอธิการต่วนและศิษย์ นำโดยขุนพิทักษ์ปทุมมาศ (สิงห์โต สามวัง) นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทองคนแรกและชาวบางบัวทอง ได้ร่วมกันสร้างวิหารและหล่อพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ขึ้น เป็นอาคารจัตุรมุข หลังคาไม่มีชั้นลด ต่อปีกนกออกเป็นพาไลทั้ง 4 ด้าน เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน เครื่องบนเป็นปูน ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์เป็นปูนประดับกระจกสีทอง หน้าบันปูนทั้ง 4 ด้าน ปั้นเป็นรูปเทพนมอยู่ในกรอบรูปพัดยอดแหลมออกลายก้านขดล้อมเทพนม หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดเต่าเป็นพื้นสีน้ำเงิน มีสีส้มเป็นกรอบและสีเหลือง เป็นริ้วในระหว่างกรอบ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์

วิหารหลวงพ่อป่าเลไลยก์หลังใหม่เป็นอาคารจัตุรมุข 2 ชั้น ยอดเป็นเจดีย์ทรงกลม โดยก่อเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นจากผนังทั้ง 4 ด้าน เหนืออาคารสี่เหลี่ยมมีพระเจดีย์ทรงระฆังเป็นยอดของวิหารจัตุรมุขด้วย มีกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน มุมกำแพงแก้วมีพานพุ่มขนาดใหญ่ตั้งบูชาพระเจดีย์

ศาลาการเปรียญเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น หลังคาทรงไทยมี 3 มุข ชั้นล่างเป็นที่บำเพ็ญกุศลและรักษาศีลปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกา ชั้นบนอีก 3 ชั้นเป็นส่วนที่ใช้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดและเป็นอาคารเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรและสำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดละหาร[2]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • 1–4 รูป ไม่ปรากฏนามและประวัติ พ.ศ. 2329–2418
  • พระอธิการหอม พ.ศ. 2419–2439
  • พระอธิการต่วน อุตตโม พ.ศ. 2440–2480
  • พระอธิการวินัยธรมี (เปรียญ) พ.ศ. 2481–2483
  • พระครูนนทปรีชา (เปลี่ยน ชุตินฺธโร) พ.ศ. 2484–2514
  • พระครูภัทรนนทคุณ (อ้น ภทฺทสาโร) พ.ศ. 2515–2525
  • พระราชนันทมุนี (สำรวย อาภากโร) พ.ศ. 2525–2555
  • พระครูสิริธรรมภาณ (สุเทพ อภิเทโว) พ.ศ. 2555–ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดละหาร". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. พิศาล บุญผูก (2551). วัดในอำเภอบางบัวทอง (PDF). มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. p. 135–150. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-08. สืบค้นเมื่อ 2021-02-05.