ข้ามไปเนื้อหา

วัดราชฐานหลวงหัวข่วง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดราชฐานหลวงหัวข่วง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชฐานหลวงหัวข่วง, วัดหลวงหัวข่วง, วัดหัวข่วง
ที่ตั้งเชียงตุง อำเภอเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า
ประเภทวัด
เจ้าอาวาสพระครูบาสาม โชติกมหาเถระ
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดราชฐานหลวงหัวข่วง (Wat Ho Kong) เป็นวัดตั้งอยู่บริเวณวงเวียนกลางเมืองเชียงตุง อำเภอเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า ที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้กับข่วงหลวงหรือหอคำของเจ้าฟ้า คำว่า "ราชฐานหลวง" แสดงให้เห็นถึงฐานะของวัดหลวงที่องค์เจ้าฟ้าเป็นศาสนูปถัมภกและใช้จัดงานพระราชพิธีของราชสำนัก[1] รวมถึงในอดีตเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง จะต้องผ่านการบวชเรียนทางธรรมที่วัดนี้[2] เช่น เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้าก๋องไต และเจ้าฟ้าจายหลวง (เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเชียงตุง) รวมถึงเจ้านายในราชวงศ์มังรายในเชียงตุงอีกหลายท่าน

จาก ตำนานเมืองเชียงตุง ระบุว่าเชียงตุงมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรล้านนา ปรากฏหลักฐานว่ามีการเผยแพร่พุทธศาสนาจากล้านนาไปเชียงตุง 3 ครั้ง โดยในครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1882 พญาผายูได้ส่งพญาเจ็ดพันตูซึ่งเป็นพระราชโอรสไปปกครองเมืองเชียงตุง ในครั้งนี้ทรงนำพระมหาเถระ 4 รูปไปด้วย หนึ่งในนั้น คือ พระธรรมไตรโลก ซึ่งมีการสร้างวัดหัวข่วงถวายพระธรรมไตรโลก[3]

ภายในวิหารมีการลงรักปิดทองแบบวิหารลายคำบนแท่นพระประธาน เสา คาน รวมถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องเวสสันดรชาดกและมีพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนจำนวนหลายสิบองค์ ภายในวัดมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ รัฐเชียงตุง มูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด อาคารอเนกประสงค์เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งวัดพระธรรมกายและคณะศิษย์ได้รวบรวมปัจจัยเป็นเจ้าภาพสร้างอาคารหลังนี้[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เกรียงไกร เกิดศิริ. "ภูมิทัศน์เมืองโบราณและองค์ประกอบของเมือง". หน้าจั่ว. p. 73.
  2. "พระพุทธศาสนา รุ่งเรือง ที่เมืองเชียงตุง". โพสต์ทูเดย์.
  3. "ประเพณี 12 เดือน เมืองเชียงตุง" (PDF). สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่.
  4. "สานสัมพันธ์คณะสงฆ์เถรวาทอาเซียน เดินทางร่วมพิธีฉลองอาคาร ณ.วัดราชฐานหลวงหัวข่วง แห่งเมียนมา".