วัดมหาสมณารามราชวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมหาสมณารามราชวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมหาสมณารามราชวรวิหาร, วัดเขาวัง
ที่ตั้งตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมหาสมณารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านทิศตะวันออกของพระนครคีรี ในตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดมหาสมณารามราชวรวิหาร หรือรู้จักในนาม วัดเขาวัง[1] เดิมชื่อ วัดสมณ [ สะ-หฺมน] หรือ วัดมหาสมน บ้างว่าสมัยโบราณมีภิกษุลังกามาจำพรรษา ได้เห็นว่า มีต้นมะลิอยู่บนเขาเป็นจำนวนมากจึงพากันเรียกว่า (วัด) เขาสุมน [สุ-มะ-นะ] แปลว่า "ดอกมะลิ" สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระนครคีรี บรรดาพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ภายในวัดมหาสมณาราม เมื่อทราบข่าวว่าอยู่ในเขตสร้างพระราชวังจึงพากันย้ายไปจำพรรษาที่อื่น ทำให้วัดมหาสมณารามกลายเป็นวัดร้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณซ่อมแซมวัดมหาสมณารามโดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานบูรณะ และพระราชทานนามให้มีความหมายให้เป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ว่า "วัดมหาสมณาราม"

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะ ได้แก่ พระอุโบสถหลังคาหน้าจั่ว มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันทั้งสองด้านของอาคารมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งพระรัศมี ขนาบด้วยฉัตร 2 ข้าง ด้านล่างทำเป็นรูปพระอาทิตย์ (ซ้าย) และพระจันทร์ (ขวา) ล้อมรอบด้วยลวดลายก้านขดที่ทำเป็นรูปลายใบไม้อย่างเทศ ฐานอุโบสถเป็นฐานสิงห์และฐานบัวลูกแก้ว ไม่มีลวดลายประดับ ผนังฉาบปูนขาวเจาะช่องหน้าต่าง 5 ช่อง เสาของอาคารบริเวณส่วนบัวหัวเสาทำปูนปั้นด้วยบัวแวง มีคันทวยไม้ประดับกระจกสีรองรับชายคาปีกนก

ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่น ฝีมือของขรัวอินโข่ง และผู้เขียนภาพอีก 4 คน คือ พระอาจารย์เป้า วัดทรงคะนอง ครูหวนตาลวันนา พ่อละมุดบ้านข้าว และหลวงพ่อฤทธิ์ วัดพลับพลาชัย[2] เป็นภาพการไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา เช่น ภาพนมัสการพระพุทธบาท ภาพนมัสการพระปฐมเจดีย์ ภาพนมัสการพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ภาพพระนครคีรี ส่วนภาพระหว่างหน้าต่างภาพวาดแสดงปรัชญาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย ลักษณะการเขียนเป็นภาพทัศนียภาพแบบตะวันตกผสมไทย ถือเป็นภาพเขียนของขรัวอินโข่งแห่งเดียวในจังหวัดเพชรบุรีอันเป็นบ้านเกิดของท่าน[3] นอกจากนั้น บริเวณหลังวัดมีถ้ำหนึ่งชื่อพุทธโกษา ภายในก่อพระพุทธไสยาสน์ไว้ 1 องค์ ความยาวประมาณ 3 วา

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดมหาสมณาราม". สำนักงานเทศบาลเมืองเพชรบุรี.
  2. "จิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ วัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี". จิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย.
  3. "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ วัดมหาสมณาราม". พระนครคีรี.