วัดมณีวนาราม
วัดมณีวนาราม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดมณีวนาราม, วัดป่าน้อย |
ที่ตั้ง | ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระแก้วโกเมน |
เจ้าอาวาส | พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญญู ป.ธ.9) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดมณีวนาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติ
[แก้]วัดมณีวนาราม หรือ วัดป่าน้อย สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2322 ผู้สร้างคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง ณ อุบล) มีพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของเมืองอุบลราชธานีในอดีต วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2518[1]
อาคารเสนาสนะ
[แก้]อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ หอไตรและอุโบสถสร้างในสมัยพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นเจ้าอาวาส กุฏิธรรมระโตสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456[2] ลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศใต้ มีบันไดทางขึ้นด้านข้างทางทิศตะวันออก บริเวณบันไดทำเป็นชายคามุงสังกะสีคลุมโดยตลอด บนเรือนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนชานเรือนกั้นผนังด้วยไม้ระแนง ส่วนโถงหน้าห้องซึ่งทำพื้นเป็น 2 ระดับ คือระดับล่างอยู่กึ่งกลางเรือนและยกพื้นสูงบริเวณหน้าห้องก่อนจะเป็นประตูห้องพัก ส่วนห้องพักกั้นผนังแบ่งออกเป็น 3 ห้อง โดยห้องกลางมีป้ายชื่อกุฏิบอกประวัติไว้ ช่องลมตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย ฝ้าเพดานเป็นไม้กระดาน เสากุฏิปัจจุบันเป็นเสาปูนซีเมนต์
กุฏิอีกหลังคือ กุฏิแดง เป็นเรือนไม้ทรงไทยยกพื้นสูง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวตามแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ขนาด 7 ช่วงเสา หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วและมีชายคาลดชั้นโดยรอบ ปัจจุบันมุงด้วยกระเบื้องลอนแบบสมัยใหม่ ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นกึ่งกลางด้าน ตัวบันไดทำจากปูน ที่หัวเสาบันไดบนและล่างมีสิงห์แบบศิลปะจีนซึ่งปั้นจากปูนทาสีน้ำตาลประดับอยู่ทั้งสองด้าน ราวระเบียงทำจากปูนเลียนแบบลูกกรงไม้บนเรือนด้านหน้ามีชานพักยาวตลอดด้าน กั้นตัวเรือนด้วยฝาปะกน แบ่งออกเป็น 4 ห้อง คือ ส่วนกลางเรือน 2 ห้อง เป็นห้องขนาดใหญ่ขนาด 3 ช่วงเสา 1 ห้องทางด้านซ้ายของตัวเรือน มีประตูห้องอยู่กึ่งกลางและบานหน้าต่างด้านหลัง 3 ช่อง ส่วนห้อง 2 ช่วงเสาทางขวาของตัวเรือน มีประตูอยู่ชิดทางด้านขวาและมีบานหน้าต่างเปิดออกหาระเบียงด้านหน้าได้ ที่บานหน้าต่างปรากฏภาพจิตรกรรม (ฮูบแต้ม) รูปเทวดาซึ่งซีดจางมาก ทางด้านซ้ายและหน้าต่างด้านหลังอีก 2 ช่อง สองด้านทางทิศเหนือ-ทิศใต้ของอาคารกั้นเป็นห้องขนาดเล็กมีประตูแยกเฉพาะ ทั้ง 2 สองห้องมีหน้าต่างทางด้านข้างสองช่องไม่มีหน้าต่างด้านหลัง ปัจจุบันผนังอาคารทางด้วยสีชมพูและสีน้ำเงิน ซึ่งน่าจะทาในภายหลังจากสีเดิมซีดจางลงแล้ว[3]
พระแก้วโกเมน
[แก้]วัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระแก้วโกเมน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร สร้างด้วยแก้วโกเมน (สีแดงเข้ม) ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะล้านนา มีตำนานเล่าว่า พระแก้วโกเมนอุบัติมารพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายกทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับต่อกันมา โดยทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วนั้นไว้ ที่เรียกกันว่า งุม ในช่วงประเพณีสงกรานต์ของชาวอุบลราชธานี จะอัญเชิญพระแก้วโกเมนลงมาเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำด้วย[4]
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ ป.ธ.3) พ.ศ. 2371–2395
- อาชญาท่านจันลา จันทรังสี พ.ศ.(ไม่ปรากฎ)–2421
- อาชญาท่าคำ สุวัณโณ พ.ศ.(ไม่ปรากฎ)–2429
- อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธัมปาโล) พ.ศ.(ไม่ปรากฎ)–2464
- พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธัมมทีโป) พ.ศ. 2464–2480
- พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหัปผโล ป.ธ.5) พ.ศ. 2481–2538
- พระครูอาทรกิจโกศล (ทอน กนฺตสีโล) พ.ศ. 2539–2541
- พระกิตติญาณโสภณ (แสง นาคเสโน ป.ธ.7) พ.ศ. 2442–2551
- พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญญู ป.ธ.9) พ.ศ. 2552–ปัจจุบัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดมณีวนาราม". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ "กุฎีธรรมระโต กุฏิโบราณ อายุร้อยกว่าปี วัดมณีวนาราม อุบล".
- ↑ "วัดมณีวนาราม". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.