ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
(อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย)

พระวิหารและเจดีย์ทรงปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทวัดมหาธาตุ
โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย[1]
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมขอมแบบบายน สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย สถาปัตยกรรมแบบเจดีย์ทรงปรางค์สมัยอยุธยา
เมืองอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18[2]
ในกำกับดูแลของกรมศิลปากร
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างศิลาแลงฉาบปูน
เกณฑ์พิจารณา: วัฒนธรรม: (i), (iii)
เลขอ้างอิง: 0004601
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 2547
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 2562

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เป็นโบราณสถานนอกกำแพงด้านทิศใต้ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยตั้งอยู่บริเวณคุ้งแม่น้ำยม ภายนอกแนวคูเมืองหลักของเมืองโบราณศรีสัชนาลัย ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2478 ต่อมาได้โอนมาขึ้นในปกครองคณะสงฆ์เมื่อปี พ.ศ. 2479 และได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2501

สถานที่ตั้ง

[แก้]

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ตรงช่วงแหลมโค้งข้อศอกของแม่น้ำยม หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก และตั้งอยู่นอกกำแพงด้านใต้ของเมืองศรีสัชนาลัยระยะทาง 1.9 กิโลเมตร

สถาปัตยกรรม

[แก้]

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ประกอบด้วย

  • พระปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบแล้วลงสีชาดทับ แต่ปัจจุบันสีได้ลอกออกบางส่วน ลักษณะภายนอกเป็นปรางค์แบบอยุธยา ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 30 เมตร ฐานเขียงขั้นแรกย่อมุมไม้สิบสอง ฐานล่างสุดก่อผนังแบบทึบ เจาะช่องแสงกันอยู่ด้านในสามชั้น (วิหารคด) เรือนธาตุทางด้านหน้าทำเป็นซุ้มโถง มีบันไดขึ้นไปสู่ซุ้มทางด้านหลังพระวิหาร ภายในซุ้มโถงมีสถูปขนาดเล็กรูปดอกบัวตูมประดิษฐานอยู่ อาจเป็นที่บรรจุพระธาตุ ตามผนังภายในองค์ปรางค์มีร่องรอยว่าแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ส่วนบริเวณเรือนธาตุทางด้านหลัง ทำเป็นบันไดขึ้นสู่องค์ปรางค์เช่นเดียวกัน แต่เป็นประตูหลอก ฐานชั้นล่างสุดมีพระสาวกเดินประณมมือประทักษิณ
  • พระวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 19.20 เมตร ยาว 25.20 เมตร ฐานสูง 1.20 เมตร เป็นวิหารขนาดหกห้อง มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ผนังวิหารเป็นแบบผนังทึบเจาะช่องแสง พระประธานเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ขนาบด้วยพระพุทธรูปยืนขนาดเล็กทั้งขวาและซ้าย ปัจจุบันเหลือเฉพาะฐานพระวิหารและเสาบางส่วน
  • พระวิหารขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาแลงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารประธานฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร ด้านหลังตอนบนทำเป็นซุ้มพระ ทรงโค้งแหลมภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก
  • ฐานพระวิหารขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาแลงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานขนาดห้าห้อง กว้าง 7 เมตร ยาว 10 เมตร ด้านหลังทำเป็นซุ้มพระ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งซึ่งชำรุดหักพังเป็นส่วนใหญ่
  • พระเจดีย์ราย เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บริเวณมุมทั้งสี่ของพระปรางค์ประธาน ขนาดโดยเฉลี่ย 5 เมตร มีอยู่ห้าองค์
  • กำแพงวัด เป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 60 เมตร ยาว 90 เมตร มีคานทับหลังกำแพง เป็นรูปหลังเจดีย์ตัด มีทางเข้าออกที่ด้านหน้าและด้านหลังเหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคายอดแหลมเหมือนช่อฟ้า เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นรูปปั้นรูปพรหมพักตร์ และรูปนางอัปสรฟ้อนรำอยู่ต่ำลงมา
  • พระธาตุมุเตา อยู่ด้านหลังพระปรางค์ประธาน นอกกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 22 เมตร ซ้อนกันสี่ชั้น ต่อจากนั้นเป็นชั้นบัวสามชั้น ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปหักพังหมด บริเวณบัวถลาทำเป็นซุ้มหลอกเจ็ดส่วน ซุ้มทางด้านหน้ามีทางเข้าไปภายในแต่หักพังปิดทับหมด มีบันไดขึ้นไปสู่ซุ้ม
  • มณฑปพระอัฏฐารส อยู่ทางด้านหลังพระธาตุมุเตา สันนิษฐานว่า เป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนทางทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกเหลือส่วนพระชงฆ์ของพระพุทธรูป ด้านหลัง (ทิศใต้) และทางด้านขวาหักพังเสียหายมาก จากการสำรวจโดยรอบพระมณฑป พบเศษกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ตกกระจายอยู่ค่อนข้างหนาแน่น สันนิษฐานว่า หลังคาพระมณฑปน่าจะเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา
  • พระวิหารสองพี่น้อง อยู่ทางด้านซ้ายของพระมณฑปพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 11 เมตร ยาว 27 เมตร ขนาดเจ็ดห้อง ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสององค์ ด้านหลังมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้า
  • อาคารขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาแลงเป็นแบบฐานปัทม์เพียงชั้นเดียว หักพังไปแล้วเป็นส่วนใหญ่
  • พระอุโบสถ อยู่ถัดออกมาทางด้านหน้าพระปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2500 เป็นโบสถ์ขนาดห้าห้อง มีมุขยื่นอีกหนึ่งห้อง หลังคาลดสามชั้นซ้อนสองตับ ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก องค์พระประธานคือ หลวงพ่อพุทธเรืองฤทธิ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4.08 เมตร ประดิษฐานเป็นพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหาร ซึ่งเป็นพระวิหารใหญ่ขนาด 7 ห้อง สร้างด้วยศิลาแลง หน้าต่างเจาะเป็นช่องเล็ก ๆ เบื้องหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นศิลปะสุโขทัย พุทธลักษณะงดงามมาก[4]
  • กุฏิพระร่วงพระลือ หรือที่เรียกกันว่าศาลพระร่วง-พระลือ ลักษณะเป็นพระมณฑปฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 7.20 เมตร หลังคาคล้ายรูปชามคว่ำสี่ชั้น ภายในประดิษฐานรูปพระร่วง พระลือ (จำลอง)[5]

เส้นทางเข้าสู่วัด

[แก้]

จากตัวเมืองสุโขทัยไปทางทิศเหนือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ประมาณ 55 กิโลเมตร ปัจจุบันนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมสามารถนั่งรถ บขส. มาลงได้โดยถ้ามาจากสถานีขนส่ง ที่อ.เมือง สุโขทัย ให้แจ้งว่ามาลงที่ "พระปรางค์" ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกขานวัดนี้ เมื่อลงจากรถ บขส. จะเป็นซุ้มประตูทางเข้าวัดโดยผ่านชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถขี่จักรยานชมรอบๆ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยเช่าจักรยานได้ ณ ร้านค้าที่จุดลงจากรถ บขส.นี้และฝากกระเป๋าสัมภาระไว้ที่ร้านค้าได้ เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้ามาจะผ่านชุมชนประมาณ 100 เมตร จะพบสะพานแขวนไม้ข้ามแม่น้ำยม เพื่อไปยังวัดพระปรางค์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม นักท่องเที่ยวชาวไทยเสียค่าธรรมเนียมบำรุงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเฉพาะจุดนี้ก่อน 10 บาท และจะได้แผนที่นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. "อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย". กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 28 December 2023.
  2. "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 December 2023.
  3. ""สุโขทัย รุ่งอรุณแห่งความสุข" ตามเสด็จฯ ทัศนศึกษาสุโขทัย และกำแพงเพชร" (PDF). กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-12-27. สืบค้นเมื่อ 27 December 2023.
  4. วัดศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรวิหาร จ.สุโขทัย
  5. มรดกทางพระพุทธศาสนา[ลิงก์เสีย]