วัดป่างิ้ว (จังหวัดปทุมธานี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดป่างิ้ว
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูวิมลกิจจานุกูล (สมจิต กลฺยาโณ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดป่างิ้ว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

ประวัติ[แก้]

วัดป่างิ้วสร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 โดยเกิดจากการรวมวัดร้างอีกสองวัดเข้าด้วยกัน คือ วัดนางหยาด (ร้าง) และ วัดพญาเมือง (ร้าง) ปรากฏหลักฐานในกำสรวลศรีปราชญ์ โดยวัดนางหยาดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำด้านทิศเหนือ วัดพญาเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำด้านทิศใต้ และวัดป่างิ้วอยู่ตรงกลางลึกเข้าไปในแผ่นดินเข้าออกโดยมีลำคลอง[1] วัดทั้งสองแห่งนี้ร้างไปเมื่อครั้งสงคราม พ.ศ. 2310 ตามประวัติกล่าวไว้ว่าเมื่อเสียกรุงครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกกองทัพเรือมาตีพม่าจนแตกพ่ายที่ค่ายโพธิ์สามต้น พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชไว้ได้สำเร็จแล้วเมื่อเสด็จกลับได้ยกกองทัพเรือมาจอดพักไพร่พลหุงหาอาหารที่วัดนางหยาดและวัดพญาเมืองหนึ่งคืน เสร็จแล้วจึงเดินทางไปตั้งมั่นที่ป้อมธนบุรี

เนื่องจากเป็นการรวมวัดจึงมีเนื้อที่กว้างขวาง โดยมีเนื้อที่ 90 ไร่เศษ แยกเป็นส่วนของอาราม 45 ไร่เศษ ได้ตั้งชื่อวัดตามชื่อท้องถิ่นบ้านงิ้ว วัดป่างิ้วได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

อาคารเสนาสนะและโบราณวัตถุ[แก้]

อุโบสถเก่าของวัดนางหยาด (ปัจจุบันเรียกวิหาร) ซึ่งคงเหลือพระประธานและพระอันดับ ภายในมี หลวงพ่อวัดนางหยาด เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายปางมารวิชัย วิหารเรือนไทยสร้างด้วยศิลาและประดับปูนปั้นและกระเบื้องเคลือบสวยงาม ศาลารับแขกหรือหอสวดมนต์รูปทรงเป็นแบบทั่วไปในวัดมอญ เป็นอาศรมยกพื้นมีเสาเป็นแถวรับชายคาทั้งสองด้าน มีพระพุทธรูปประธานประดิษฐานอยู่ด้านใน สร้างเป็นห้องกระจกพร้อมพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ด้านข้างของหอสวดมนต์เป็นที่ตั้งของกุฏิ และศาลาการเปรียญอยู่ถัดจากวิหารหลวงพ่อเกศสมุทร[2]

โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ใบเสมาศิลาทรายแดง พระประธานในพระอุโบสถสมัยอยุธยา ตู้พระธรรม สมุดข่อยโบราณ สระโหมดและสระน้ำโบราณ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดป่างิ้ว". ท่องเที่ยววิถีชุมชน สายน้ำเจ้าพระยา.
  2. "วัดป่างิ้ว". องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี.
  3. "วัดป่างิ้ว". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.