วัดปาลิไลยก์
วัดปาลิไลยก์ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดปาลิไลยก์, วัดป่าลิไลย์, วัดป่าเลไลย์ |
ที่ตั้ง | ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดปาลิไลยก์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลเลม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
วัดปาลิไลยก์เป็นวัดโบราณที่ตั้งอยู่ในชุมชนโบราณ วัดมีอายุตั้งวัดนานถึงสมัยสุโขทัย ตามหนังสือประวัติวัดของกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1525 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 1530[1] วัดมีความทรุดโทรมตามกาลเวลาและได้รับการพัฒนาบูรณปฏิสังขรณ์ตามลำดับตามยุคสมัยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย จนถึง พ.ศ. 2473 ได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหม่อีกครั้ง[2]
อุโบสถเดิมเป็นอุโบสถไม้ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนเมื่อ พ.ศ. 2517 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ อยู่บนฐานชุกชีลักษณะพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้งหมดถูกซ่อมแซมใหม่จนหมดเค้าเดิมแล้ว
ใบเสมาทำจากหินทรายสีแดงแกะสลักลวดลายนูนสูงปักอยู่รอบอุโบสถ ขนาดสูงประมาณ 74 เซนติเมตร กว้างประมาณ 37 เซนติเมตร หนา 12.50 เซนติเมตร ตั้งอยู่บนฐานเสมาก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง เหนือฐานสิงห์ทำเป็นบัวจงกลหรือบัวแวงรองรับใบเสมา ลักษณะฐานเสมาแบบนี้นิยมทำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใบเสมาแกะสลักเป็นรูปดอกไม้เทศคล้ายพุดตานผสมผสานด้วยรูปใบไม้และดอกไม้สี่กลีบหรือลายประจำยามตามร่องประดับกระจกสีต่าง ๆ บางแผ่นสลักรูปสัตว์สอดแทรกอยู่ภายในลายดอกไม้ เช่น รูปลิง รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นลักษณะคล้ายกับลวดลายปูนปั้นที่นิยมประดับอุโบสถในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นรัชกาลที่ 1–3[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "วัดปาลิไลยก์". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
- ↑ พงศ์ชาติ อินทชุ่ม. "การศึกษาวิเคราะห์ศิลปะบนใบเสมาของวัด ในบริเวณแหล่งชุมชนโบราณพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี" (PDF). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 149.
- ↑ "วัดป่าลิไลย์(วัดป่าเลไลย์)". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.