วัดประดู่ (จังหวัดสมุทรสงคราม)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดประดู่
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 54 หมู่ที่ 2 ทางหลวงชนบท สส.4004 ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดประดู่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ในหมู่ที่ 2 บ้านบางกระรี้ ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ประวัติ[แก้]

วัดประดู่เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราว พ.ศ. 2320 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นทางชลมารคมายังวัดประดู่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 และเสวยพระกระยาหารเช้าที่วัด ต่อมาใน พ.ศ. 2543 ได้มีการจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น 5 หลังคาแฝด ปิดทองฝาสกลทั้งหลัง

อาคารเสนาสนะและพิพิธภัณฑ์[แก้]

พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เก็บรักษาเครื่องราชศรัทธาต่าง ๆ เช่น พระแท่นบรรทม ตาลปัตรนามาภิไธยย่อ จปร. และตาลปัตรนารายณ์ทรงครุฑพร้อมปอกหลังสำหรับคลุม ตู้เล็กและตู้ทึบ ปิ่นโต บาตรพร้อมฝาบาตรไม้ฝังมุกตัวย่อ สพปมจ. กี่ใส่ยาฉุน ถาดใส่ของ ตะเกียงเจ้าพายุ นาฬิกาปารีส เป็นต้น นอกจากนี้ในวัดมี ศาลาเก๋งเรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2541 ลักษณะเป็นทรงไทยชั้นเดียว ใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาเก๋งเรือพระราชทาน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2447

พิพิธภัณฑ์อีกแห่งในวัดคือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สร้างใน พ.ศ. 2548 ลักษณะเป็นทรงไทย 2 ชั้น 4 หลังคาแฝด ชั้นบนเป็นไม้สักทอง ฝาปะกน สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เมื่อครั้งเสด็จทรงเยี่ยมวัดประดู่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2548 สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญในวัดประดู่ก็คือ ศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู (หอศิลป์) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2548 เป็นหอศิลป์แสดงขั้นตอนการทำและการฝึกทำหัวโขนและเศียรครู

พระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ตรงกลางด้านหลังพระประธาน เป็นภาพเขียนต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระประธานในพระอุโบสถตรัสรู้พร้อมอัครสาวกเบื้องซ้ายและขวา บริเวณด้านข้างหน้าต่างทั้งซ้ายและขวามีเทวดาหุ่นปั้นมากมายแสดงความยินดี พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยอยุธยา ศิลปะแบบล้านช้าง ชาวบ้านเรียกว่าพระพุทธเจ้าใหญ่หรือพระพุทธชินสีห์บารมีแสน[1]

ด้านนอกอุโบสถคือ ศาลาการเปรียญ มีภาพวาดบนผนังเพดานแบบดั้งเดิมสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งวาดด้วยสีฝุ่นดินสอพอง เช่น ภาพชุมนุมเทวดา ภาพหนุมานแผลงฤทธิ์เหินเวหา ภาพฤๅษี ภาพคนธรรพ์ ภาพหัวล้านชนกัน และภาพพุทธประวัติ ด้านหลังอุโบสถเป็นศาลาข้างน้ำ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดประดู่ สมุทรสงคราม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-04. สืบค้นเมื่อ 2020-12-28.
  2. "วัดประดู่". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]