วัดท้าวโคตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดท้าวโคตร
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดท้าวโคตร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 19 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา

วัดท้าวโคตรสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1861[1] เคยเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ บริเวณนี้มีวัดตั้งอยู่หลายวัด ประกอบด้วย วัดวัดประตูทอง วัดธาราวดี (วัดไฟไหม้) วัดวา วัดศรภเดิมหรือวัดศรภ และวัดท้าวโคตร ต่อมา พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากทรงนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์แล้ว ทรงทราบเรื่องเทวาลัยที่วัดท้าวโคตร จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรเทวาลัย ทรงพบว่ามีวัดเล็กวัดน้อยตั้งเรียงรายอยู่หลายวัด ทำให้ไม่สะดวกต่อการปกครองของคณะสงฆ์และคงไม่สะดวกต่อการปฏิบัติศาสนกิจ จึงทรงรับสั่งให้ยุบวัดทั้งหมดนั้นมารวมเข้ากับวัดท้าวโคตร ทางราชการได้ออกเอกสารสิทธิ์ ส.ค. 1 และโฉนดเลขที่ 9868 เมื่อ พ.ศ. 2518 คำว่า "ท้าวโคตร" หมายถึง "เผ่าพันธุ์ของผู้เป็นใหญ่หรือพระเจ้าแผ่นดิน" จึงสันนิษฐานว่า วัดท้าวโคตรเป็นวัดที่ผู้เป็นใหญ่ซึ่งอาจจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้นมีความผูกพันหรือมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด มีการเรียกชื่อวัดท้าวโคตรปรากฏตามที่นักประวัติศาสตร์พบหลักฐานคือ พญาศรีธรรมโศกราชที่ 1

โบราณสถานในวัด ได้แก่ ซากเจดีย์โบราณ สูงประมาณ 11 เมตร ฐานเจดีย์มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า เจดีย์สร้างด้วยอิฐและดินเหนียวและหินปะการังบางส่วน ข้างในมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นของมีมาแต่เดิม อุโบสถของเดิมแต่หลังคาคงบูรณะใหม่ มีใบเสมาคู่หรือใบเสมาซ้อน ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยเป็นองค์พระประธาน ขนาดหน้าตัก 183 นิ้ว สูงประมาณ 195 นิ้ว เป็นฝีมือช่างนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17–20 ภายในมีเป็นภาพจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ บนไม้กระดานคอสอง เป็นภาพเขียนสีฝุ่น มีขนาดภาพกว้าง 37 เซนติเมตร ยาว 56 เซนติเมตร ประดับไว้ที่เสายาวข้างละ 5 ต้น ด้านซ้ายและด้านขวา ของด้านหน้าพระประธานในอุโบสถ สูงจากพื้นประมาณ 3 เมตร เป็นภาพพุทธประวัติและทศชาติชาดก จำนวน 40 ภาพ ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นในคราวที่มีการบูรณะหลังคาอุโบสถ ราวสมัยรัชกาลที่ 4[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดท้าวโคตร". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
  2. "วัดท้าวโคตร (Wat Thao Khot)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.