วัดท่าสะท้อน (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดท่าสะท้อน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดท่าสะท้อน, วัดนาคนาม
ที่ตั้งตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดท่าสะท้อน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ประวัติ[แก้]

วัดท่าสะท้อน เดิมชื่อ วัดนาคนาม สร้างแต่ครั้งใดไม่ปรากฎแน่ชัด ชื่อของวัดน่าจะมาจากชื่อของ หลวงพ่อนาค[1] จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าวัดท่าสะท้อนตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 1905 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2538[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถหลังเดิมสร้างในสมัยอยุธยา ต่อมาในสมัยหลวงพ่อวิเชียรเป็นเจ้าอาวาสได้สร้างอุโบสถใหม่คร่อมลงบนอุโบสถเดิมที่ทรุดโทรมลง อุโบสถหลังเดิมกว้าง 6 เมตร ยาว 9 เมตร ผนังก่อด้วยดินลูกรังอัดแน่นซึ่งคงจะมีส่วนผสมของตัวประสานเช่นกาวหนังสัตว์ ยางไม้ หรือส่วนของพืชที่มีคุณสมบัติในการยึดเกาะตัวแน่น แล้วใช้ปูนขาวฉาบภายนอก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีประตูทางเข้าด้านหน้า 2 ประตูเหนือประตูทั้งสองเป็นซุ้มจรนัมยอดเจดีย์ ระหว่างประตูทางเข้าสร้างเป็นประตูหลอกมีซุ้มจรนัม หน้าบันซุ้มประดับด้วยเครื่องถ้วย เหนือซุ้มทำเป็นรูปเจดีย์ อุโบสถหลังเดิมนี้ได้รับการซ่อมแซมเรื่อยมาหลายครั้งโดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง

อุโบสถหลังใหม่ เป็นอาคารแบบทรงไทยภาคกลางก่ออิฐถือปูน ประตูหน้าต่างยอดซุ้มหลังคามุงกระเบื้องลอนคู่ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลดปีกนก 2 ชั้น มีมุขด้านหน้าลดปีกนกชั้นเดียวหน้าบันด้านหน้าตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2525 อุโบสถสร้างครอบอุโบสถหลังเก่ากว้าง 14.50 เมตร ยาว 17 เมตร มีลักษณะเป็นเนินอิฐขนาดใหญ่ แต่ฐานเจดีย์ด้านทิศตะวันออกได้ถูกรถแทรกเตอร์ไถออกไปเป็นบางส่วน

ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารโถงไม่มีฝา ยกใต้ถุนไม่สูงนัก พื้นไม้กระดาน หลังคาทรงจั่วมีปีกนก 1 ชั้นโดยรอบ หน้าบันตกแต่งด้วยการเขียนสีเรื่องพุทธประวัติตอนแสดงปฐมเทศนา และภาพพระพุทธเจ้าปางรำพึง ซุ้มประตูแกะสลักบริเวณริมท่าน้ำเป็นซุ้มเสาปูนรองรับแผ่นไม้แกะสลักรูปราหูอมจันทร์ประกอบแผ่นไม้แกะสลักรูปคันทวย ด้านบนเป็นหลังคาทรงจั่วเครื่องไม้ติดปั้นลม มุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่า เจดีย์มีลักษณะพังทลายเหลือเพียงส่วนฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ไม่สามารถบอกรูปทรงได้ และยังพบโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้เก็บรวบรวมไว้ภายในโบสถ์หลังใหม่ บริเวณด้านข้างโบสถ์พบฐานใบเสมาเดิมพังทลายอยู่ทั้งหมด (ด้านละ 3 ใบ)[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดท่าสะท้อน". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ". ระบบทะเบียนวัด.
  3. "วัดท่าสะท้อน". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.