ข้ามไปเนื้อหา

วัดทุ่งควายกิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดทุ่งควายกิน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดทุ่งควายกิน, วัดอุดมธัญญาวาส
ที่ตั้งตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดทุ่งควายกิน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

ประวัติ

[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2300 นายเขียวกับนายเพชรได้ร่วมกันบริจาคที่ดินจำนวน 8 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา และชักชวนชาวบ้านร่วมบริจาคทรัพย์ตั้งวัดขึ้น เรียกชื่อว่า วัดทุ่งควายกิน (อรัญญะคามเขตร) เนื่องจากพื้นที่ติดกันกับวัดเป็นทุ่งกว้างสำหรับเลี้ยงควายอีกด้านหนึ่งเป็นป่าชายเลน ต่อมาเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น วัดอุดมธัญญาวาส เพื่อให้มีความหมายว่าเป็นชัยภูมิที่ตั้งอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร สมัยพระครูกอฮอ สนตมโน อดีตเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2491–2510)[1]

วัดอุดมธัญญาวาสได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2540 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 12.50 เมตร ยาว 17 เมตร ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2553 ได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น "วัดทุ่งควายกิน"[2]

อุโบสถหลังเก่า

[แก้]

วัดนี้มีอุโบสถหลังเก่าเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร[3] มีจารึกว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2452 สำนักสถาปัตยกรรมขุดแต่งและบูรณะอุโบสถหลังเก่า เมื่อ พ.ศ. 2563

ลักษณะอุโบสถหลังเก่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานอุโบสถเป็นฐานสิงห์ ซุ้มประตูเป็นปูนปั้นทรงโค้งเขียนลายพญานาค หลังคาทรงจั่วประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ทำจากไม้แกะสลัก มีชายคาปีกนกล้อมรอบ สันตะเข้เป็นปูนปั้นรูปพญานาคประดับเครื่องถ้วย ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย เหนือกรอบหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก รอบอุโบสถทั้ง 8 ทิศมีซุ้มประดับใบเสมาหินทรายตรงกลางใบเสมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ตามรอยควาย สู่ประวัติศาสตร์ หมู่ 3 บ้านทุ่งควายกิน" (PDF). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.[ลิงก์เสีย]
  2. "รายงานการขอเปลี่ยนแปลงชื่อวัดในจังหวัดต่าง ๆ รวม ๑๑ วัด". มติมหาเถรสมาคม.
  3. "วัดทุ่งควายกิน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "อุโบสถหลังเก่าวัดทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง". สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี.