ข้ามไปเนื้อหา

วัดตะไกร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดตะไกร
แผนที่
ที่ตั้งตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดร้าง
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดตะไกร เป็นวัดร้างซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดตะไกรไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่ตามหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานว่าวัดตะไกรน่าจะสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2006–2170 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ขึ้นมาจนถึงรัชกาล สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310

ชื่อของวัดได้ปรากฏอยู่ในวรรณคดี เรื่อง เสภาขุนช้างขุนแผน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานโดยอาศัยพงศาวดารและคำให้การชาวกรุงเก่าว่า มีเค้ามาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้กล่าวถึงความสำคัญของวัดตะไกรไว้ว่า เป็นที่ฌาปนกิจศพและฝังศพของนางวันทองซึ่งถูกประหารชีวิต

นอกจากนี้ยังมีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้เสด็จมาทรงเครื่องใหญ่หรือตัดผมที่วัดแห่งนี้ เนื่องจากมีเรื่องเล่ากันว่าพระองค์มีวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันชาตรี[1]

โบราณสถาน

[แก้]

จากการศึกษาทางด้านโบราณคดี แบ่งพัฒนาการของวัดตะไกรได้ดังนี้ สมัยแรกสร้างได้นำดินเหนียวปรับถมพื้นที่ทั้งวัด แล้ววางผังตามแกนทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เขตพุทธาวาส มีกำแพงแก้ว ถัดจากวิหารเป็นเจดีย์ประธานแปดเหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์รายทางทิศใต้ นอกกำแพงทิศตะวันออกมีสระน้ำจำนวน 2 สระ สร้างด้วยการก่ออิฐเป็นกรอบ ยังพบโบราณวัตถุ ได้แก่ ส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม เครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เตาเชิงกราน หม้อดินเผาแบบต่าง ๆ เศษภาชนะสีดำขัดมันคล้ายบาตรของพระภิกษุสงฆ์ เครื่องถ้วยลายครามจีน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21–22 สมัยที่ 2 ได้ถมดินพื้นที่เขตพุทธาวาสสูงขึ้นอีก 50 เซนติเมตร พบโบราณวัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวันภายในวัด เช่น เตาเชิงกราน ตะคันดินเผา เบ้าหลอมโลหะ ภาชนะดินเผาจากแหล่งต่าง ๆ[2]

สันนิษฐานว่ามีพระสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่สมัยแรกจนถึง พ.ศ. 2310 และสมัยรัตนโกสินทร์ระหว่างรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ได้มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ของวัดอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับส่วนของสิ่งก่อสร้างที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันได้แก่ สระน้ำโบราณ กำแพงแก้ว พระวิหาร วิหารราย พระอุโบสถ พระเจดีย์ประธาน เจดีย์ราย (มีทั้งสิ้น 16 องค์รอบพระวิหาร)[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เที่ยว วัดตะไกร พื้นที่ตำนาน ฝังศพ นางวันทอง
  2. "วัดตะไกร". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. พาชมวัดตะไกร อยุธยา สถานที่ปลงศพนางวันทองในวรรณคดีขุนช้างขุนแผน faiththaistory