วัดตะพงใน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดตะพงใน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดตะพงใน, วัดสุวรรณอินทร์คชรินทร์ธาราม
ที่ตั้งตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูพิทักษ์กิตตยานุวัตร (ละมัย)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดตะพงใน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ปัจจุบันมีเจ้าอาวาสคือ พระครูพิทักษ์กิตตยานุวัตร (ละมัย)

วัดตะพงใน เดิมชื่อว่า วัดสุวรรณอินทร์คชรินทร์ธาราม ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2300 ประวัติความเป็นมาของวัดตะพงในไม่มีผู้ใดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ทราบเพียงว่าวัดนี้ผู้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกคือ ท่านพ่อกลั่นไม่ทราบฉายาและนามสกุล เป็นเจ้าอาวาสเมือใดไม่มีใครทราบ ทั้งไม่ทราบว่าต่อจากท่านพ่อกลั่นแล้วใครบ้างเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน จนกระทั่งถึงอาจารย์ป๊อก อุคมสุขเป็นเจ้าอาวาส ไม่มีหลักฐานว่าเมื่อใด แต่ปรากฏว่าวัดนี้ไม่เคยร้างจะมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาติดต่อกันเรื่อยมา[1] ส่วนชื่อวัดตะพงในนั้นตั้งตามนามหมู่บ้าน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2524[2] กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 11 ตอนพิเศษ 124 ง ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2544 พื้นที่ประมาณ 3 ไร่ 24 ตารางวา

อุโบสถหลังเก่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 8 เมตร ยาว 22 เมตร หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 2 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาซ้อนกันชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ไม้แกะสลัก หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังมีร่องรอยการประดับด้วยเครื่องถ้วย ด้านหน้าเป็นเฉลียงมีหลังคาจั่นหับมุงสังกะสีคลุมระหว่างเสาไม้ที่ตั้งรับโครงหลังคา ตกแต่งด้วยเสาหัวเม็ด มีประตูบริเวณกึ่งกลางของผนัง 1 ประตู ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง เหนือกรอบประตูและหน้าต่างมีร่องรอยการประดับด้วยเครื่องถ้วย บานประตูและหน้าต่างไม้อกเลาแกะสลัก ภายในอุโบสถมีเฉพาะฐานปัทม์สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี. ฐานข้อมูลโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในเขตสำนักงานศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี , 2548.
  2. "วัดตะพงใน". พระสังฆาธิการ.
  3. "พระอุโบสถ(หลังเก่า) วัดตะพงใน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.