วัดกลาง (จังหวัดสมุทรปราการ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดกลาง
วัดกลาง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกลาง
ที่ตั้งเลขที่ 48 หมู่ที่ 6 ถนนนครเขื่อนขันธ์ ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูพิศิษฎ์พัฒนากร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดกลาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 6 ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติ[แก้]

วัดกลางสร้างเมื่อ พ.ศ. 2378 โดยชาวมอญหมู่บ้านฮะเริ่นร่วมกับชาวบ้านตา บ้านตันเจิน ได้รับพระราชทานนามว่า วัดเกริง ซึ่งแปลว่า "วัดคลอง" เดิมวัดเกริงมีพระภิกษุจำพรรษา 3 คณะ คือคณะหะกาว คณะแพ่ฮะเริ่น คณะตะวันออก ต่อมาคณะตะวันออกย้ายออกไป จึงได้รวมกันเรียกว่า "วัดกลาง" ชาวมอญเรียก แพ่ฮะเริ่น ต่อมาช่วงก่อนปี พ.ศ. 2469 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าให้ยุบเลิกวัดเชียงใหม่และรวมเข้ากับวัดกลาง วัดกลางได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2418[1]

ในช่วงเจ้าอาวาสพระครูธรรมวิธานปรีชา (พระมหาทองก้อน กงทอง) ได้มีการสร้างโรงเรียนธรรมวิธานราษฎร์วิทยา (โรงเรียนวัดกลาง) ในปี พ.ศ. 2491 ทางราชการได้ขออนุญาตตัดถนนผ่านที่ดินธรณีสงฆ์วัดกลาง เป็นถนนที่ตัดแยกจากถนนสุขสวัสดิ์เข้าสู่อำเภอพระประแดง เป็นเหตุให้บริเวณวัดถูกตัดแยกออกเป็นสองส่วน พระครูวิธานธรรมปรีชา (จีบ กงทอง) จึงได้ดำริที่ยุบรวมพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ ปูชนียสถานต่าง ๆ ตลอดจนกุฏิสงฆ์ไว้ในที่เดียวกัน ในปี พ.ศ. 2501 ได้แบ่งที่ธรณีสงฆ์ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่สองทางทิศใต้ของวัด จัดให้เป็นอาคารพานิชย์ โดยให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ก่อสร้างโดยทุนทรัพย์ของผู้สร้างเองตามแผนผังของวัด และเมื่อสร้างเสร็จแล้วเป็นของวัด โดยทางวัดเป็นผู้เก็บค่าเช่าเพื่อนำเงินมาพัฒนาวัด[2]

อาคารเสนาสนะ[แก้]

เจดีย์ของวัดมีรูปแบบระหว่างเจดีย์ทรงมอญกับเจดีย์ทรงไทยย่อมุมไม้สิบสอง เจดีย์มีส่วนละม้ายกับแนวรั้วรูปคลื่นฐานลดชั้นของพระเจดีย์ซินพิวมินที่เมืองมัณฑะเลย์[3] วัดมีการประดับประติมากรรมรูปหงส์หลายจุด เช่น โบสถ์มีหน้าบันประดับช่วงบนด้วยประติมากรรมหงส์คู่ ยังมีประติมากรรมรูปหงส์ประดับปลายรวมผึ้ง ศาลาอเนกประสงค์มีคันทวยรูปหงส์[4]วัดมีเรือสำเภาปูนหน้าวัดด้านริมคลอง เช่นเดียวกับวัดริมคลองอื่นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูในทางการค้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ หลวงปู่มอญ เป็น พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะลพบุรีตอนต้น (ราวศตวรรษที่ 12) เนื้อทองสำริด ทรงประทับยืนอยู่บนฐาน ที่มีขนาดความกว้าง 46 เซนติเมตร ยาว 47 เซนติเมตร สูง 179 เซนติเมตร

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระอาจารย์บุญพันธ์ เวชพันธ์ (พ.ศ. 2425 ถึง พ.ศ. 2435)
  • พระอาจารย์ชัดจุก (พ.ศ. 2435 ถึง พ.ศ. 2446)
  • พระครูธรรมวิธานปรีชา (ทองก้อน กงทอง) (พ.ศ. 2446 ถึง พ.ศ. 2490)
  • พระครูวิธานธรรมปรีชา (จีบ กงทอง) (พ.ศ. 2491 ถึง พ.ศ. 2535)
  • พระครูพิศิษฎ์พัฒนากร พ.ศ. 2536 ถึง ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติวัด". หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดสมุทรปราการ.
  2. "วัดกลาง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรปราการ.[ลิงก์เสีย]
  3. "ทิ้งงานมหาเจดีย์ที่มัณฑะเลย์มาสร้างจุลเจดีย์ที่พระประแดง…?". ศิลปวัฒนธรรม. 7 กุมภาพันธ์ 2561.
  4. มนต์ฤดี วัชรประทีป, ที่ระลึกงาน ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พลับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2549)
  5. "วัดกลาง พระประแดง".