ลูกทุ่งเอฟเอ็ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม.
สถานีวิทยุ "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม."
พื้นที่กระจายเสียงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ความถี่FM 90.0 MHz
FM 95.0 MHz
FM 103.0 MHz
FM 94.5 MHz (2552)
สัญลักษณ์ต้นฉบับสถานีลูกทุ่งตัวจริง
แบบรายการ
ภาษาไทย ไทย
รูปแบบเพลงไทยลูกทุ่ง สมัยเก่าและสมัยใหม่
การเป็นเจ้าของ
เจ้าของบริษัท ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. จำกัด
(บริษัท ทราฟฟิก คอร์เนอร์ จำกัด
บริษัท เอ็น บีซี แอ็ด จำกัด (แมกซิม่า)
(ต่อมาร่วมบริหารงานกับ บริษัท คลิก-วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด))
ประวัติ
เริ่มกระจายเสียง 2540- 2548,
ยุติกระจายเสียง 2552
ลิงก์
เว็บไซต์http://lukthungfm945.com

ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (อังกฤษ: Lukthung F.M.) เป็นรายการวิทยุ เอฟ.เอ็ม. รายแรกของไทยที่เปิดเพลงลูกทุ่งตลอด 24 ชม. ดำเนินการผลิตโดย "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." โดยเริ่มกระจายเสียงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2540[1] ทางสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เอฟเอ็ม 90.0 เมกะเฮิร์ตซ์

ประวัติ[แก้]

ผู้ร่วมก่อตั้ง "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." ได้แก่ คุณวิทยา ศุภพรโอภาส อดีตนักจัดรายการเพลงสากลและไทยสากลชื่อดัง ร่วมกับ ไพวงษ์ เตชะณรงค์ นักธุรกิจชื่อดัง (บิดาของสงกรานต์ เตชะณรงค์) และ สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย แห่งบริษัท ทราฟฟิกคอร์เนอร์ จำกัด (ผู้รับสัมปทาน) โดยจัดเปิดเพลงไทยลูกทุ่งที่กำลังได้รับความนิยม เพลงในอดีต ของทุกศิลปิน ทุกค่ายเพลง มีการพูดคุย เสนอข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน [2]

ความรุ่งเรือง[แก้]

ภาพยนตร์เรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม.

"ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." ได้รับความนิยมจากผู้ฟังเป็นอันดับ 1 หลังการกระจายเสียงเพียงไม่กี่เดือน โดยขึ้นนำหน้ารายการจากสถานีอื่นในระบบเอฟเอ็มด้วยกันซึ่งเปิดแต่เพลงสตริง [3] จนวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ได้ย้ายไปกระจายเสียงทางสถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส.ม.ท. เอฟเอ็ม 95.0 เมกะเฮิร์ตซ์ [4] ซึ่งการย้ายในช่วงนี้ได้เวลาการจัดที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม สัญญาเช่านานกว่าเดิม และเริ่มมีการกระจายเสียงไปทั่วประเทศด้วย นอกจากนี้ยังเพิ่มช่องทางต่าง ๆ ทั้งทางเว็บไซต์ แมกกาซีน รายการวาไรตี้โชว์ "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. ทีวี 9" มีการจัดมหกรรมคอนเสิร์ตครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงเดือนสิงหาคม และการมอบ "รางวัลมาลัยทอง" ให้กับคนทำงานในวงการเพลงลูกทุ่งโดยมีการประกาศผลในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี

ราวปี พ.ศ. 2544-พ.ศ. 2545 ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. ยังได้นำอดีตนางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง "เพชรา เชาวราษฎร์" มาเผยเสียงโดยร่วมจัดรายการวิทยุเป็นประจำ และมีการจัดคอนเสิร์ตครบรอบ 10 ปี รำลึก "พุ่มพวง ดวงจันทร์" โดยเชิญนักร้องเพลงลูกทุ่งและดารานักแสดงชื่อดังมาร่วมร้องเพลงบนเวทีเดียวกัน อีกทั้งยังได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง "มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." ร่วมกับสหมงคลฟิล์ม โดยรวมเอานักร้องและคนลูกทุ่งกว่า 168 ชีวิตมาร่วมแสดง จนประสบผลสำเร็จไม่แพ้งานอื่นๆ ที่ทำมา[5]

การเปลี่ยนแปลง[แก้]

รายการ "ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม." ดำเนินเรื่อยมาจนถึงเดือน เมษายน พ.ศ. 2547 ได้ย้ายคลื่นอีกครั้ง เนื่องจากทาง อสมท จะจัดรายการเพลงลูกทุ่งด้วยตนเอง (คลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 ของ อสมท.) โดยย้ายกลับไปกระจายเสียงทางเอฟเอ็ม 90.0 และ 103.0 เมกะเฮิร์ตซ์ ตามลำดับ ซึ่งเป็นสถานีวิทยุในเครือกองทัพบก มีการเปลี่ยนเจ้าของผู้รับสัมปทาน แต่ทีมผู้จัดรายการยังคงเป็นชุดเดิม และได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุชุมชนอยู่ช่วงหนึ่ง และปิดสถานีไป

การกลับมา[แก้]

ในปี พ.ศ. 2552 วิทยา ศุภพรโอภาส ได้นำลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. กลับมาบนหน้าปัดวิทยุหลักอีกครั้งพร้อมกับสโลแกน "ต้นฉบับสถานีวิทยุลูกทุ่งตัวจริง" โดยมีบริษัท เอ็น บีซี แอ็ด จำกัด (แมกซิม่า) เป็นผู้รับสัมปทาน เริ่มกระจายเสียงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ทางสถานีวิทยุ จส. เอฟเอ็ม 94.5 เมกะเฮิร์ตซ์ อีกทั้งยังกระจายเสียงทั่วประเทศผ่านเครือข่าย Network โดยทีมนักจัดรายการชุดนี้มีทั้งคนเก่าเช่น เจนภพ จบกระบวนวรรณ, หมู ตะวัน , ตุ๋ย มหาชัย , วดี ,เสริมเวช ช่วงยรรยง และคนใหม่อีกหลายท่าน รวมทั้งดาราดังอย่าง ติ๊ก กลิ่นสี มาร่วมจัดด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการจัดรายการคอนเสิร์ต "ลูกทุ่ง ททบ.5" ถ่ายทอดสดทุกเย็นวันอาทิตย์ ทาง ททบ.5 และ Thai TV Global Network ผลปรากฏว่าการจัดรายการวิทยุในช่วงนี้ได้รับความนิยมจากผู้ฟังระดับหนึ่ง แต่กลับล้มเหลวทางด้านธุรกิจการขายโฆษณา เพราะเป็นเรื่องของแบรนด์ที่ไม่สอดรับกับกระแสความนิยมของผู้ฟังเพลง ประกอบกับรูปแบบของดนตรีลูกทุ่งตามท้องตลาดเปลี่ยนไป ต่อมาทางบริษัทผู้รับสัมปทานจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการใหม่แทบทั้งหมด ทำให้ ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. ยุติลงในที่สุด พร้อมกับการลาออกของทีมผู้บริหารและนักจัดรายการที่ร่วมกันมาแต่แรกเริ่ม

ลูกทุ่งอินเตอร์[แก้]

เดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ลูกทุ่งเอฟเอ็ม 94.5 ได้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น "เอฟเอ็ม 94.5 ลูกทุ่งอินเตอร์" โดยมีบริษัท คลิก-วี อาร์ วัน เรดิโอ จำกัด ร่วมบริหารงานด้วย โดยวางคอนเซ็ปต์ให้เป็นคลื่นเพลงลูกทุ่งระบบ Format Station อย่างแท้จริงเป็นแห่งแรก โดยทุกเพลงที่เปิดจะผ่านระบบการสำรวจความนิยมมาก่อนแล้วว่า เป็นเพลงที่ถูกใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถการันตีและพิสูจน์ได้จริง[6] ส่วนทีมนักจัดรายการได้มีการปรับเปลี่ยนใหม่หมด โดยมี ดี.เจ.จากลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม.บางคน และดี.เจ.หน้าใหม่ที่มีชื่อเสียงด้านอื่นๆ อาทิ อ.วันชัย สอนศิริ, อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช, สาลินี ปันยารชุน, ทัศน์สรวง วรกุล, ครูเทียม ชิงช้าสวรรค์, อู๊ด เป็นต่อ, ปุ๊ย ตีสิบ ฯลฯ มาร่วมจัดด้วย

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ทำให้เกิดความแคลงใจของคนลูกทุ่งด้วยกัน เนื่องจากมีเจ้าของตัวจริงใช้อยู่แล้ว คือ ตุ่น อินเตอร์(บุตรชายของ ส.ลือเนตร) ซึ่งเคยใช้ชื่อในการทำนิตยสาร รายการโทรทัศน์ และสถานีวิทยุชุมชนในนาม "ลูกทุ่งอินเตอร์" โดยตุ่นเตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของรายการ "เอฟเอ็ม 94.5 ลูกทุ่งอินเตอร์" ข้อหาใช้ชื่อโดยไม่ถูกต้อง ส่วนจะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่อีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารคลื่นเอฟเอ็ม 94.5 เพื่อหาทางออก[7] ปัจจุบันคลื่นเอฟเอ็ม 94.5 ลูกทุ่งอินเตอร์ ยุติกระจายเสียงแล้ว

นักจัดรายการวิทยุลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม.[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540
  2. หนังสือครบรอบ 1 ปี ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. (2541)
  3. จากการสำรวจของ VMR โดยทำการสำรวจความนิยมของผู้ฟังในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2541
  4. http://www.pantown.com/group.php?display=content&id ประวัติลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม.
  5. http://www.bcmthailand.com/bt/content.php?data=401635_Event%2520Marketing[ลิงก์เสีย] มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม.รับกระแสลูกทุ่งฟีเวอร์
  6. ""คลิคฯ"ร่วมทุน"แม็กซิม่า"พันธมิตรใหม่ ผุด"คลื่น94.5"ลูกทุ่งอินเตอร์-ชี้ภาวะวิทยุไทยราบรื่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-01-06.
  7. เจ้าของ "ลูกทุ่งอินเตอร์" โผล่ จวกยับคลิกฯ มักง่ายขโมยชื่อ[ลิงก์เสีย]
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-13. สืบค้นเมื่อ 2009-11-24.
  9. โฆษณาของคลื่นฯในนิตยสาร เมื่อครั้งออกอากาศทาง FM 90 mhz[ลิงก์เสีย]
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-08-16. สืบค้นเมื่อ 2002-08-16.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]