ลัทธิดราโก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลัทธิดราโก (อังกฤษ: Drago Doctrine) คือแถลงการณ์ในปี ค.ศ. 1902 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาร์เจนตินา ลูอิส มาเรีย ดราโก ในหมายเหตุทางการทูตที่ส่งถึงสหรัฐอเมริกา ดราโกรับรู้ได้ว่าลัทธิมอนโรและอิทธิพลของจักรวรรดิในยุโรปมีความขัดแย้งกัน จึงได้เน้นย้ำความสนใจต่อหลักความเท่าเทียมของอำนาจอธิปไตยในรัฐต่าง ๆ ซึ่งสหรัฐอเมริกาสนับสนุน โดยลัทธินี้ได้กำหนดแนวนโยบายที่ว่าอำนาจจากต่างชาติซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถบีบบังคับชาติในภูมิภาคละตินอเมริกาให้ชำระหนี้สินที่ติดค้างอยู่ได้[1] ต่อมาสหรัฐอเมริกาจึงออก บทแทรกโรสเวลต์ (Roosevelt Corollary) ในปี ค.ศ. 1904 เพื่อตอบโต้ลัทธิดราโกและยืนยันสิทธิ์การแทรกแซงภูมิภาคดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนและเอกราชของประเทศในละตินอเมริกาจากชาติมหาอำนาจยุโรป

ลัทธินี้ถือกำเนิดมาจากแนวคิดของการ์โลส กัลโบ ที่ได้เสนอไว้ใน กฎหมายระหว่างประเทศเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติในยุโรปและอเมริกา (สเปน: Derecho internacional teórico y práctico de Europa y América) หรือเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า "ลัทธิกัลโบ" ซึ่งได้เสนอแนวทางห้ามปรามการแทรกแซงทางการทูตจนกว่าจะหมดหนทางแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่น

ลัทธิดราโกยังถือว่าเป็นการตอบโต้การกระทำของสหราชอาณาจักร เยอรมนี และอิตาลี ที่ปิดกั้นและโอบล้อมท่าเรือของเวเนซูเอลาในปี ค.ศ. 1902 เพื่อกดดันให้เวเนซูเอลายอมชำระหนี้สินจำนวนมหาศาลที่ก่อไว้ในช่วงก่อนรัฐบาลของประธานาธิบดีซีเปรียโน กัสโตร ซึ่งในขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จอห์น เฮย์ ต้องชะลอการแสดงท่าทีออกไปถึง 6 สัปดาห์ เนื่องจากติดขัดในหลักการตามลัทธิมอนโรที่ไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปมีส่วนยุ่งเกี่ยวในกิจการของประเทศยุโรป อย่างไรก็ตามเฮย์ได้ตอบโต้เหตุการณ์ดังกล่าวโดยยกคำกล่าวของประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ที่มีต่อสภาคองเกรสปี ค.ศ. 1901 ว่า "เราไม่รับประกันว่ารัฐใด ๆ จะรอดพ้นบทลงโทษจากความผิดพลาดของตนไปได้"[1] และแม้ว่าโรสเวลต์จะกล่าวชื่นชมลัทธิดราโกในภายหลัง แต่ก่อนหน้านั้นเขา (ในฐานะรองประธานาธิบดี) ได้เขียนจดหมายไปถึงนักการทูตเยอรมัน แฮร์มันน์ ชเปค ฟอน ชแตร์นบูร์ก ว่า "หากประเทศอเมริกาใต้ชาติใดก็ตามประพฤติมิชอบต่อประเทศยุโรปชาติใดก็ตาม จงปล่อยให้ประเทศยุโรปสั่งสอนพวกเขา"[1]

ลัทธิดราโกฉบับดัดแปลงโดยฮอเรซ พอร์เตอร์ ได้ถูกนำไปใช้ที่เดอะเฮกในปี ค.ศ. 1907 โดยเสนอเพิ่มเติมว่าควรใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการและการดำเนินคดีก่อนเป็นลำดับแรก[2][3][4]

นอกจากนี้เวเนซูเอลายังใช้ลัทธิดราโกเป็นเหตุผลในการลงคะแนนเสียงสนับสนุนอาร์เจนตินา ณ ที่ประชุมองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States) ในประเด็นวิกฤติหนี้สินของอาร์เจนตินา ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทเอ็นเอ็มแอลแคปิตอลอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Schoultz, Lars (1998). Beneath the United States: a history of U.S. policy toward Latin America ([Fourth printing]. ed.). Cambridge, MA: Harvard University: Harvard University Press. pp. 179–180. ISBN 0-674-92276-X.
  2. "Columbia Encyclopedia article on the Calvo Doctrine". bartleby.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2005. สืบค้นเมื่อ 9 April 2011.
  3. "Columbia Encyclopedia article on Luis María Drago". bartleby.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-11. สืบค้นเมื่อ 9 April 2011.
  4. "Encyclopedia.com article on Luis María Drago". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ 9 April 2011.