ระบบศาลยุติธรรมเบลเยียม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ระบบศาลยุติธรรมแห่งประเทศเบลเยียมมีความคล้ายคลึงกับระบบศาลยุติธรรมของฝรั่งเศส ในขณะที่เบลเยียมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองจากแบบรัฐเดี่ยวไปเป็นสหพันธรัฐ แต่ระบบยุติธรรมนั้นยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแต่แต่อย่างใด

ระบบยุติธรรมของเบลเยียมนั้นกล่าวถึงระบบศาลและศาลพิเศษ (ดัตช์: hoven en rechtbanken, ฝรั่งเศส: cours et tribunaux, เยอรมัน: Gerichtshöfe und Gerichte, อังกฤษ: courts and tribunals) ซึ่งกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม

ระบบยุติธรรมปกติ[แก้]

ผังแสดงระบบยุติธรรมเบลเยียม ปีค.ศ. 2020
ผังแสดงระบบยุติธรรมเบลเยียม ปีค.ศ. 2020:
  สำหรับทั้งประเทศ
  สำหรับบริเวณศาล
  สำหรับระดับจังหวัด (+ บรัสเซลส์)
  สำหรับระดับเขตศาล
  สำหรับระดับแคนทอน

การแบ่งเขตอำนาจศาล[แก้]

ตั้งแต่ค.ศ. 2018 เป็นต้นมา เขตอำนาจศาลยุติธรรมในเบลเยียมนั้นแบ่งเป็น 5 บริเวณ (แอนต์เวิร์ป บรัสเซลส์ เกนต์ ลีแยฌ และ มงส์) 12 เขต (arrondissements) และ 187 แคนทอน (cantons) ก่อนเดือนเมษายน ค.ศ. 2014 ที่มีการปฏิรูปนั้นเขตอำนาจศาลเคยแบ่งเป็น 27 เขต และ 225 แคนทอน ในปัจจุบันนั้น ยกเว้นบรัสเซลส์ จังหวัดเฟลมิชบราบันต์ และจังหวัดลีแยฌ เขตอำนาจศาลนั้นตรงกับเขตจังหวัดของเบลเยียม

ศาลฎีกา[แก้]

ศาลฎีกา หรือ ศาลยุติธรรมสูงสุด (ดัตช์: Hof van Cassatie, ฝรั่งเศส: Cour de Cassation, เยอรมัน: Kassationshof, อังกฤษ: Court of Cassation) เป็นศาลสูงสุดในระบบยุติธรรมของเบลเยียม มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาโดยศาลล่าง (ส่วนใหญ่จากศาลอุทธรณ์) และเพียงเป็นการพิพากษาจากโดยพิจารณาจากประเด็นข้อกฎหมาย (Points of law) เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าศาลฎีกาจะไม่พิจารณาคดีใหม่ หรือทบทวนการสืบหาข้อเท็จจริงที่สิ้นสุดแล้วจากศาลล่าง อำนาจศาลฎีกานั้นจำกัดเพียงแค่การพิพากษายืนจากคำพิพากษาเดิม หรือกลับคำพิพากษา (ยกฟ้อง) ในกรณีที่คำพิพากษานั้นขัดหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีกลับคำพิพากษาแล้ว ศาลฎีกาจะส่งคดีไปให้ศาลอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกันกับศาลที่ได้กลับคำพิพากษาไป ซึ่งคดีจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่ทั้งการสอบสวน และการพิจารณาจากข้อกฎหมาย จึงกล่าวได้ว่าศาลฎีกามีบทบาทในการทำให้การตีความกฎหมายเป็นเอกภาพตลอดทั่วทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามอำนาจศาลฎีกานั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงการพิพากษาคดีของศาลปกครองยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น นอกจากนี้ศาลฎีกายังมีอำนาจพิจารณาคดีในประเด็นที่เสี่ยงต่อความลำเอียงหรืออคติในการพิจารณา เช่น การพิพากษาคดีอาชญากรรมในอดีต รวมถึงการพิจารณาคดีความที่จำเลยเป็นผู้พิพากษา หรืออัยการ

ศาลอุทธรณ์[แก้]

ศาลอุทธรณ์[แก้]

ศาลอุทธรณ์ (ดัตช์: hof van beroep, ฝรั่งเศส: cour d'appel, เยอรมัน: Appellationshof, อังกฤษ: Court of appeal) เป็นศาลที่ใช้พิจารณาพิพากษาคดีอุทธรณ์ต่างๆ ที่มาจากศาลชั้นต้นเป็นหลักเพียงศาลเดียวในเบลเยียม โดยมีศาลอุทธรณ์ในเขตศาลทั้งห้าของเบลเยียม โดยการอุทธรณ์คำฟ้องนั้นจะได้รับการไต่สวนและพิจารณาคดีใหม่โดยผู้พิพากษา และทำการพิพากษาโดยศาลลูกขุน (Court of Assizes) ศาลอุทธรณ์นั้นยังมีอำนาจการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารฝ่ายตุลากรและฝ่ายบริหารได้เป็นชั้นต้น และมีเพียงแต่ศาลอุทธรณ์ในบรัสเซลส์ และลีแยฌที่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นได้โดยจะต้องได้รับการอนุญาตจากฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลนั้นๆ ก่อน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้นถือเป็นที่สิ้นสุดในเรื่องของข้อเท็จจริงทางคดีความ ส่วนในประเด็นข้อกฎหมายนั้นสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อให้ศาลฎีกาตีความคำพิพากษาได้[1]

ศาลแรงงาน[แก้]

ศาลแรงงาน (ดัตช์: arbeidshof, ฝรั่งเศส: cour du travail, เยอรมัน: Arbeitsgerichtshof, อังกฤษ: Court of labour) เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ในระบบศาลเบลเยียม เพื่ออุทธรณ์คดีความด้านแรงงานจากศาลแรงงานชั้นต้นในแต่ละบริเวณ โดยมีศาลแรงงานในเขตศาลทั้งห้าของเบลเยียม (คล้ายกันกับศาลอุทธรณ์) โดยมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีแรงงาน โดยศาลแรงงานมีส่วนสำคัญคือ ผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากองค์กรนายจ้าง และสหภาพแรงงานต่างๆ โดยคำพิพากษาของศาลแรงงานนั้นถือเป็นที่สิ้นสุดในเรื่องของข้อเท็จจริงทางคดี โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ในประเด็นข้อกฎหมายได้[2]

าลพิพากษา[แก้]

ศาลลูกขุน[แก้]

ศาลลูกขุน (ดัตช์: hof van assisen, ฝรั่งเศส: cour d'assises, เยอรมัน: Assisenhof, อังกฤษ: Court of assizes) เป็นศาลอาญาสูงสุดในคดีอุกฉกรรจ์โทษร้ายแรงในเบลเยียม และเป็นศาลเดียวที่ใช้ลูกขุนในการพิพากษาคดี โดยมีเขตอำนาจศาลขึ้นอยู่เขตทั้งสิบจังหวัดของเบลเยียม และหนึ่งศาลสำหรับเขตในแคว้นเมืองหลวงบรัสเซลส์ (ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนการปกครองของจังหวัดใดๆ) โดยศาลลูกขุนนั้นเป็นเพียงศาลเดียวในเบลเยียมที่แบ่งเขตตามการปกครองของประเทศ โดยไม่ถือเป็นศาลประจำ เนื่องจากจะมีการจัดตั้งศาลขึ้นใหม่ในการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาอาชีพจำนวน 3 คน (จากศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น) และคณะลูกขุนจำนวน 12 คน โดยคณะลูกขุนนั้นใช้เพื่อการไต่สวนหาข้อเท็จจริง และพิพาษาคดีร่วมกับผู้พิพากษา อำนาจพิจารณาคดีของศาลลูกขุนนั้นอยู่ในเรื่องคดีอาญาโทษร้ายแรงโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้นซึ่งถือเป็นคดีอาญาประเภทที่ร้ายแรงที่สุดในเบลเยียม รวมถึงเรื่องค่าสินไหมทดแทนอันสืบเนื่องมาจากคดีเหล่านี้ โดยในทางปฏิบัติแล้วคดีอาญาส่วนมากจะผ่านการพิจารณาคดีโดยศาลชั้นต้นก่อน นอกจากนี้อำนาจศาลยังรวมถึงคดีการเมือง และอาชญากรรมสื่อ ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้การพิจารณาคดีโดยศาลลูกขุนเท่านั้น ผู้ต้องสงสัยไม่สามารถเข้ารับการพิจารณาคดีในศาลลูกขุนได้โดยปราศจากการฟ้องร้องคดีโดยศาลอุทธรณ์ชั้นไต่สวนก่อน คำพิพากษาของศาลลูกขุนนั้นถือเป็นที่สิ้นสุดในเรื่องของข้อเท็จจริงทางคดี โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ในประเด็นข้อกฎหมายได้[3]

ศาลชั้นต้น[แก้]

ศาลชั้นต้น (ดัตช์: rechtbank van eerste aanleg, ฝรั่งเศส: tribunal de première instance, เยอรมัน: Gericht erster Instanz, อังกฤษ: Tribunal of first instance) เป็นศาลพิพากษาหลักในระบบศาลเบลเยียม มีอำนาจพิจารณาคดีความทั่วไป ยกเว้นกรณีคดีเฉพาะที่อำนาจศาลอื่นในการพิจารณาคดี โดยศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่างๆ รวมทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายผู้เยาว์ และกฎหมายครอบครัว นอกจากนี้ศาลชั้นต้นยังรับอุทธรณ์คดีความจากศาลโปริสภา และศาลไกล่เกลี่ย โดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นสามารถอุทธรณ์ได้กับศาลอุทธรณ์ ในประเทศเบลเยียมมีศาลชั้นต้นอยู่ในเขตศาลทั้งสิบสองเขต ยกเว้นกรณีของบรัสเซลส์ซึ่งมีสองแห่งอันเนื่องมาจากเหตุผลด้านความละเอียดอ่อนด้านภาษาในบรัสเซลส์ โดยแห่งแรกใช้ภาษาฝรั่งเศส และแห่งที่สองใช้ภาษาดัตช์ ศาลชั้นต้นแบ่งเป็นสี่แผนกหลักๆ[4][5] ได้แก่ แผนกคดีแพ่ง แผนกคดีอาญา แผนกคดีครอบครัวและเยาวชน และแผนกบังคับคดี

ศาลแรงงานชั้นต้น[แก้]

ศาลแรงงานชั้นต้น (ดัตช์: Arbeidsrechtbank, ฝรั่งเศส: Tribunal du travail, เยอรมัน: Arbeitsgericht, อังกฤษ: Labour court) เป็นศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และคดีที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม โดยศาลแรงงานชั้นต้นมีอยู่ในแต่ละเขต ศาลแรงงานชั้นต้นมิใช่แผนกหนึ่งของศาลชั้นต้น แต่เป็นศาลที่แยกออกมาอีกศาลหนึ่ง คำพิพากษาของศาลแรงงานชั้นต้นสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่ศาลแรงงาน (ดัตช์: Arbeidshof, ฝรั่งเศส: Cour du travail, เยอรมัน: Arbeitsgerichtshof, อังกฤษ: Court of Labour)[6][7]

ศาลพาณิชย์[แก้]

ศาลพาณิชย์ (ดัตช์: Ondernemingsrechtbank, ฝรั่งเศส: Tribunal de l’entreprise, เยอรมัน: Unternehmensgericht, อังกฤษ: Business court) เป็นศาลพิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาคดีความที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของศาลไกล่เกลี่ย และยังเป็นศาลที่รับอุทธรณ์คดีความพาณิชย์ที่พิพากษาโดยศาลไกล่เกลี่ย ศาลพาณิชย์ไม่ได้เป็นแผนกหนึ่งของศาลชั้นต้นเนื่องจากกฎหมายพาณิชย์ของเบลเยียมนั้นแยกออกจากกฎหมายแพ่งอย่างสิ้นเชิง ศาลพาณิชย์มีอยู่ในแต่ละเขตศาลของเบลเยียม

าลเขต[แก้]

ศาลเขต (ดัตช์: Arrondissementsrechtbank, ฝรั่งเศส: Tribunal d'arrondissement, เยอรมัน: Bezirksgericht, อังกฤษ: Arrondissement Court) เป็นศาลที่จัดการข้อพิพาทด้านอำนาจพิจารณาคดีระหว่างศาลชั้นต้น ศาลพาณิชย์ และศาลแรงงานชั้นต้นภายในเขตพื้นที่ศาล ประกอบด้วยองคณะที่มาจากประธานศาลทั้งสาม[8][9]

โดยหลักการแล้ว คำพิพากษาของศาลเขตนั้นไม่สามารถอุทธรณ์ได้ มีเพียงแต่อัยการสูงสุดโดยศาลอุทธรณ์สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกาได้

คดีลหุโทษ[แก้]

ศาลโปริสภา[แก้]

ศาลโปริสภา (ดัตช์: politierechtbank, ฝรั่งเศส: tribunal de police, เยอรมัน: Polizeigericht, อังกฤษ: Police tribunal) เป็นศาลชั้นต้นชั้นไต่สวนซึ่งมีอํานาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีจราจร และคดีอาญาลำดับต่ำสุดของศาลเบลเยียม โดยมีศาลโปริสภาในแต่ละเขตศาลของเบลเยียม โดยในแต่ละเขตแบ่งเป็นเขตย่อยๆลงไปตามพื้นที่ ยกเว้นกรณีของบรัสเซลส์ที่มีประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีศาลโปริสภาในแต่ละเขตของบรัสเซลส์ โดยมีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมถึงคดีละเมิด (Contravention) ซึ่งเป็นคดีอาญาประเภทต่ำสุดในกฎหมายอาญาเบลเยียม รวมถึงคดีละเมิดกฎจราจร และคดีอุบัติเหตุทางจราจร (ทั้งแพ่งและอาญา) นอกจากนี้ศาลโปริสภายังมีอำนาจสำหรับพิจารณาอุทธรณ์มาตรการลงโทษทางแพ่ง (Administrative penalty) ที่ออกโดยเขตเทศบาล หรือเขตปกครองอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน คดีที่พิพากษาโดยศาลโปริสภาสามารถอุทธรณ์ได้ที่ศาลชั้นต้น ยกเว้นกรณีของ คดีลหุโทษ และคดีอุทธรณ์มาตรการลงโทษทางแพ่งต่างๆ[10]

ศาลไกล่เกลี่ย[แก้]

ศาลไกล่เกลี่ย (ดัตช์: vredegerecht, ฝรั่งเศส: justice de paix, เยอรมัน: Friedensgericht, อังกฤษ: justice of the peace) มีหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีความทางแพ่งในระดับย่อยในระบบศาลเบลเยียม โดยมีศาลไกล่เกลี่ยอยู่ในทุกแคนทอน ซึ่งในปีค.ศ. 2017 มีถึง 187 ศาล (บางแคนทอนมีหลายแห่ง) โดยมีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งที่ไม่เกิน 5,000 ยูโร (ณ ปีค.ศ.​ 2018) ยกเว้นในกรณีของคดีความที่ศาลอื่นมีอำนาจเฉพาะ โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งต่างๆ ซึ่งรวมถึงคดีฟ้องร้องทางแพ่งต่างๆ เช่น การเช่าหรือปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ การฟ้องขับไล่ผู้เช่า สิทธิในการใช้ทรัพย์สินของผู้อื่น การจัดรูปที่ดิน เครดิตผู้บริโภค หรือค่าสาธารณูปโภคค้างจ่าย นอกจากนี้ยังมีอำนาจพิจารณาคดีความครอบครัวบางบริเวณ โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้ปกครองทางกฎหมายสำหรับบุคคลสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และการเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยไม่สมัครใจในกรณีของผู้ป่วยทางจิต โดยศาลไกล่เกลี่ยนั้นไม่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาใดๆ คดีที่พิพากษาโดยศาลไกล่เกลี่ยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่ศาลชั้นต้น (ยกเว้นคดีบางประเภท)[11]

ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย[แก้]

ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายได้ที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ดัตช์: justitiehuis, ฝรั่งเศส: maison de justice, เยอรมัน: justizhaus, อังกฤษ: House of Justice) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลแต่ละเขต และ 2 เขตในบรัสเซลส์ (ศาลหนี่งเป็นภาษาดัตช์ และอีกศาลเป็นภาษาฝรั่งเศส)

โครงสร้างก่อนปีค.ศ. 2014[แก้]

กฎหมายสังคม กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา
ประเทศ ศาลฎีกา (Hof van Cassatie / Cour de cassation)
ฝ่ายคดีสังคม — ฝ่ายคดีแพ่งและพาณิชย์ — ฝ่ายคดีอาญา
บริเวณศาล (5) ศาลแรงงาน (Arbeidshof / Cour du travail) ศาลอุทธรณ์ (Hof van beroep / Cour d'appel)
จังหวัด/บรัสเซลส์ (11) ศาลลูกขุน (Hof van Assisen / Cour d'Assises) ระบบลูกขุนสำหรับคดีอาญาและคดีความการเมือง
เขตศาล (27) ศาลแรงงานชั้นต้น (Arbeidsrechtbank / Tribunal du travail) ศาลพาณิชย์ (Ondernemingsrechtbank / Tribunal de l’entreprise) ศาลชั้นต้น (Rechtbank van eerste aanleg / Tribunal de première instance)
1-3 ศาลต่อเขต (35) ศาลโปริสภา (Politierechtbank / Tribunal de police)
แคนทอน (225) ศาลไกล่เกลี่ย (Vrederechter / justice de la Paix)

ศาลพิเศษ[แก้]

ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลพิเศษที่ใช้พิจารณาคดีความขัดแย้งระหว่างในระดับรัฐและระดับท้องถิ่น รวมถึงกฎหมายใดๆ ที่อาจละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ศาลรัฐธรรมนูญถูกก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการปฏิรูปการปกครองประเทศจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ โดยไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของศาลยุติธรรมเบลเยียม

รัฐบาลกลางเบลเยียมมีศาลปกครองจำนวนมาก โดยมีศาลปกครองสูงสุด (ดัตช์: Raad van State, ฝรั่งเศส: Conseil d'État, อังกฤษ: Council of State)เป็นศาลสูง

ศาลระหว่างประเทศ[แก้]

ประเทศเบลเยียมเป็นสมาชิกในองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร โดยศาลระหว่างประเทศที่มีอำนาจศาลในเบลเยียมได้แก่


อ้างอิง[แก้]

  1. "Hof van beroep" [Court of appeal]. www.rechtbanken-tribunaux.be (ภาษาดัตช์). College of the courts and tribunals of Belgium. สืบค้นเมื่อ 16 June 2019.
  2. "Arbeidshof" [Court of labour]. www.rechtbanken-tribunaux.be (ภาษาดัตช์). College of the courts and tribunals of Belgium. สืบค้นเมื่อ 16 June 2019.
  3. "Hof van assisen" [Court of assizes]. www.rechtbanken-tribunaux.be (ภาษาดัตช์). College of the courts and tribunals of Belgium. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-11. สืบค้นเมื่อ 16 June 2019.
  4. "Rechtbank van eerste aanleg" [Tribunal of first instance]. www.tribunaux-rechtbanken.be (ภาษาดัตช์). College of the courts and tribunals of Belgium. สืบค้นเมื่อ 8 November 2020.
  5. "Judiciary – Organization" (PDF). www.dekamer.be. Parliamentary information sheet № 22.00. Belgian Chamber of Representatives. 1 June 2014. สืบค้นเมื่อ 8 November 2020.
  6. "Arbeidsrechtbank" (ภาษาดัตช์). Pers & Gerecht. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-10.
  7. "Le tribunal du travail" (ภาษาฝรั่งเศส). Presse & Justice. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-10.
  8. "Arrondissementsrechtbank" (ภาษาดัตช์). Pers & Gerecht. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-10.
  9. "Le tribunal d'arrondissement" (ภาษาฝรั่งเศส). Presse & Justice. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-07-10.
  10. "Politierechtbank" [Police tribunal]. www.tribunaux-rechtbanken.be (ภาษาดัตช์). College of the courts and tribunals of Belgium. สืบค้นเมื่อ 16 June 2019.
  11. "Vredegerecht" [Justice of the peace]. www.tribunaux-rechtbanken.be (ภาษาดัตช์). College of the courts and tribunals of Belgium. สืบค้นเมื่อ 16 June 2019.