รอเบิร์ต คาปา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รอเบิร์ต คาปา
คาปากำลังใช้กล้องถ่ายภาพยนตร์ฟิลโม 16 มม. ในสเปน
ภาพถ่ายโดยแกร์ดา ทาโร
เกิดแอ็นแดร แอร์เนอ ฟรีดมันน์[1]
22 ตุลาคม ค.ศ. 1913(1913-10-22)
บูดาเปสต์, จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
เสียชีวิต25 พฤษภาคม ค.ศ. 1954(1954-05-25) (40 ปี)
จังหวัดท้ายบิ่ญ, รัฐเวียดนาม
สุสานสุสานอมาวอล์กฮิล นิวยอร์ก
สัญชาติฮังการี, อเมริกัน (ตั้งแต่ ค.ศ. 1946)
มีชื่อเสียงจากการถ่ายภาพสงคราม

รอเบิร์ต คาปา (อังกฤษ: Robert Capa, 22 ตุลาคม ค.ศ. 1913 – 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1954) ชื่อเกิด แอ็นแดร แอร์เนอ ฟรีดมันน์ (ฮังการี: Endre Ernő Friedmann)[1] เป็นช่างภาพสงครามและช่างภาพวารสารศาสตร์ชาวฮังการี-อเมริกัน คาปาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในช่างภาพสงครามและผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์[2]

ครั้งเป็นวัยรุ่นคาปาหลบหนีการปราบปรามทางการเมืองในฮังการีไปยังเบอร์ลินและเข้าเรียนที่นั่น หลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ คาปาย้ายไปอยู่ที่ปารีสและร่วมงานกับแกร์ดา ทาโร ช่างภาพชาวเยอรมันเชื้อสายยิว คาปาปฏิบัติงานในสงคราม 5 ครั้งได้แก่ สงครามกลางเมืองสเปน สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป สงครามอาหรับ–อิสราเอล พ.ศ. 2491 และสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง และมีผลงานเผยแพร่ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายใหญ่หลายภาพ[3] คาปาเป็นช่างภาพพลเรือนเพียงคนเดียวที่ร่วมการยกพลขึ้นบกที่หาดโอมาฮาในการยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดี และบันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองในลอนดอน แอฟริกาเหนือ อิตาลี และการปลดปล่อยกรุงปารีส

ค.ศ. 1947 พลเอกดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์มอบเหรียญอิสรภาพให้แก่คาปาจากผลงานภาพถ่ายช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในปีเดียวกันคาปาร่วมก่อตั้งแมกนัมโฟโตส์ สหกรณ์ช่างภาพอิสระทั่วโลกแห่งแรก

ประวัติ[แก้]

รอเบิร์ต คาปามีชื่อเกิดว่าแอ็นแดร แอร์เนอ ฟรีดมันน์ เกิดในครอบครัวชาวยิวที่บูดาเปสต์ใน ค.ศ. 1913 เป็นบุตรของแดเฌอ ฟรีดมันน์กับฌูเลีย แบร์โควิตส์[2] คาปามีพี่ชายชื่อ ลาสโล ฟรีดมันน์ และน้องชายชื่อ คอร์เนล คาปา เมื่ออายุได้ 18 ปี คาปาถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จึงต้องหลบหนีจากฮังการีไปยังเบอร์ลิน[4]: 154  ที่นั่นคาปาเรียนที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินและทำงานชั่วคราวเป็นผู้ช่วยห้องมืด ก่อนจะเป็นช่างภาพให้กับ Dephot เอเจนซีภาพสัญชาติเยอรมัน ต่อมาเมื่อพรรคนาซีเรืองอำนาจ คาปาซึ่งเป็นยิวตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ปารีสใน ค.ศ. 1934[4]: 154 

ที่ปารีส คาปาพบกับแกร์ตา โพโฮริลเลอ ช่างภาพชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่มาปารีสด้วยเหตุผลเดียวกับคาปา[4]: 154  ทั้งสองทำงานร่วมกันและมีความสัมพันธ์แบบรักใคร่ โดยเริ่มแรกใช้นามแฝงร่วมกันว่ารอเบิร์ต คาปา[5] แต่ภายหลังแยกกันทำงานและแกร์ตาใช้นามแฝงว่าแกร์ดา ทาโร[6] ในค.ศ. 1936 คาปาและแกร์ดาเดินทางไปสเปนเพื่อถ่ายภาพสงครามกลางเมืองสเปน ซึ่งหนึ่งปีต่อมาแกร์ดาเสียชีวิตหลังถูกรถถังฝ่ายสาธารณรัฐชนในยุทธการที่บรูเนเต[7][8]

คาปายังรู้จักกับอ็องรี การ์ตีเย-แบรซง ช่างภาพชาวฝรั่งเศสที่บุกเบิกการถ่ายภาพแนวสตรีท ต่อมาคาปา แบรซงและช่างภาพอีกห้าคนร่วมกันก่อตั้งแมกนัมโฟโตส์ใน ค.ศ. 1947[4]: 154 [9]

การทำงาน[แก้]

ระหว่าง ค.ศ. 1936–1939 คาปาทำงานถ่ายภาพสงครามกลางเมืองสเปนกับแกร์ดา ทาโร และเดวิด ซีมัวร์ ช่างภาพชาวโปแลนด์[10] ในสงครามนี้คาปาได้ถ่ายภาพ "The Falling Soldier" ซึ่งเป็นภาพทหารฝ่ายสาธารณรัฐที่ถูกยิงเสียชีวิต ต่อมาภาพดังกล่าวถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ และบางส่วนเชื่อว่าเป็นการจัดฉาก[11] นอกจากทาโรและซีมัวร์ คาปายังร่วมงานกับเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งในขณะนั้นทำงานเป็นนักข่าว โดยเฮมิงเวย์ได้บรรยายถึงประสบการณ์นี้ในนวนิยาย ศึกสเปญ[12]

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง คาปาย้ายจากปารีสไปที่นครนิวยอร์กเพื่อหางานและหลบหนีพรรคนาซี ต่อมาคาปาถูกส่งไปยังหลายพื้นที่ในยุโรปและได้ถ่ายภาพสำคัญหลายภาพ เช่น "The Magnificent Eleven" ซึ่งเป็นภาพทหารสหรัฐกำลังยกพลขึ้นบกที่หาดโอมาฮาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944[13], "The Shaved Woman of Chartres" ซึ่งเป็นภาพสตรีถูกกล้อนผมและประจานหลังถูกกล่าวหาว่าให้ความร่วมมือกับศัตรูทางแนวนอนที่เมืองชาทร์เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944[14] และ "The Picture of the Last Man to Die" ซึ่งเป็นภาพทหารสหรัฐถูกสังหารโดยพลซุ่มยิงเยอรมันที่เมืองไลพ์ซิชเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1945[15]

คริสต์ทศวรรษที่ 1950 นิตยสาร ไลฟ์ มอบหมายให้คาปาถ่ายภาพในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง คาปาได้ติดตามกรมทหารฝรั่งเศสในจังหวัดท้ายบิ่ญ ประเทศเวียดนาม จนในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 กรมทหารฝรั่งเศสเคลื่อนผ่านเขตที่มีการปะทะ คาปาตัดสินใจลงจากรถเพื่อไปถ่ายภาพ และเสียชีวิตหลังเหยียบกับระเบิด[16][4]: 155 [17] ร่างของเขาถูกฝังที่สุสานอมาวอล์กฮิล รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Capa, Robert". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 6, 2011. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 18, 2009.
  2. 2.0 2.1 Kershaw, Alex. Blood and Champagne: The Life and Times of Robert Capa, Macmillan (2002) ISBN 978-0306813566
  3. Hudson, Berkley (2009). Sterling, Christopher H. (บ.ก.). Encyclopedia of Journalism. Thousand Oaks, Calif.: SAGE. pp. 1060–67. ISBN 978-0-7619-2957-4.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Davenport, Alma. The History of Photography: An Overview, Univ. of New Mexico Press (1991)
  5. "Gerda Taro, Robert Capa y los peligros de firmar con un seudónimo masculino". eldiario.es (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 2018-01-23.
  6. "Photo of Gerda Taro". zakhor-online.com. สืบค้นเมื่อ April 1, 2018.
  7. Steinman, Ron (October 2007). "Capa and Taro: Together at Last". The Digital Journalist.
  8. Aronson, Marc; Budhos, Marina (2017). Eyes of the World Robert Capa, Gerda Taro, and the Invention of Modern Photojournalism. Macmillan Publishing Group, LLC. ISBN 9780805098358.
  9. "Robert Capa’s Longest Day", Vanity Fair, June 2014
  10. "New Works by Photography’s Old Masters", New York Times, April 30, 2009
  11. MacSwan, Angus (November 11, 2008). "New light shed on Capa's "Falling Soldier" photo". Reuters. สืบค้นเมื่อ October 26, 2021.
  12. "Photo of Capa (far left) with Hemingway (far right) in Spain". wordpress.com. สืบค้นเมื่อ April 1, 2018.
  13. "Op-Ed: The D-day photos that must be seen". The Los Angeles Times. June 2, 2019. สืบค้นเมื่อ October 26, 2021.
  14. "L'Épuration | Robert Capa". December 11, 2012.
  15. "Bowman, Raymond J." tracesofwar.com. สืบค้นเมื่อ April 23, 2016.
  16. Aronson, Marc; Budhos, Marina (2017). Eyes of the World Robert Capa, Gerda Taro, and the Invention of Modern Photojournalism. Macmillan Publising Group, LLC. ISBN 9780805098358.
  17. Badenbroek, Michael. "Robert Capa – war photographer". army-photographer.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 4, 2016. สืบค้นเมื่อ เมษายน 28, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]