รองเท้านารีขาวพังงา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รองเท้านารีขาวพังงา
ดอกของรองเท้านารีขาวพังงา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Asparagales
วงศ์: Orchidaceae
วงศ์ย่อย: Cypripedioideae
สกุล: Paphiopedilum
สปีชีส์: P.  thaianum
ชื่อทวินาม
Paphiopedilum thaianum
Iamwir., (2006)

รองเท้านารีขาวพังงา, รองเท้านารีไทยอานัม หรือ รองเท้านารีไทย เป็น กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี พบทางภาคใต้ของประเทศไทย[2]

ที่มาของชื่อ[แก้]

ที่มาของชื่อไทย รองเท้านารีขาวพังงา เพื่อบ่งบอกว่า เป็นกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี ที่มีดอกพื้นสีขาว และมีแหล่งกำเนิด มาจากจังหวัดพังงา หรือ ชื่อไทย รองเท้านารีไทย เพื่อบอกว่า เป็นกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย รองเท้านารีไทยอานัม เรียกตามชื่อละตินของชื่อชนิด [3][4]

ที่มาของชื่อชนิด ในชื่อละตินทางวิทยาศาสตร์ thaianum เป็นคำคุณศัพท์อเพศ (Neutral gender) ซึ่งผันตามเพศของสกุล Paphiopedilum ซึ่งให้ความหมายถึง มีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทย[5]

ประวัติ[แก้]

รองเท้านารีขาวพังงา เคยถูกค้นพบและนำมาสู่วงการนักเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ มาก่อนปี พ.ศ. 2540 แต่ในช่วงนั้นส่วนใหญ่ นักเพาะเลี้ยง และนักอนุกรมวิธานพืชได้มองว่า กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นเพียง พันธุ์ (variety) หรือ สายพันธุ์ (race) หนึ่งของ รองเท้านารีขาวสตูลเท่านั้น

ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2548 ประพันธ์ เอี่ยมวิริยะกุล ได้พบกล้วยไม้รองเท้านารีขาวพังงาในที่เลี้ยง และได้เดินทางไปศึกษาและเก็บตัวอย่างบนเทือกเขาหินปูนในจังหวัดพังงา ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและบรรยายพร้อมตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เป็นชนิดใหม่ของโลกว่า Paphiopedilum thaianum ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2549 ลงในวราสาร Orchid Review ของราชพฤกษชาติสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร ประเทศอังกฤษ

ในราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ศุภลักษณ์ ภูมิคง และคณะ ได้เริ่มทำการสำรวจและวิจัยชีววิทยาของรองเท้านารีขาวพังงา และชนิดพันธุ์ใกล้เคียง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ดอกมีพื้นสีขาว บางดอกมีพื้นสีขาวอมเหลืองหรือเขียวค่อนข้างเจือจาง มีจุดสีม่วงน้ำตาลขนาดเล็ก กระจายอยู่ในบริเวณใกล้โคนกลีบ ใบค่อนข้างหนาและแข็ง รูปลิ้นแคบยาวหรือรูปไข่กลับ ยาว 3.5-9.5 ซม.กว้าง 1-2.4 ซม. ปลายใบมีรอยหยักสามง่ามขนาดเล็กมากและโค้งมนต่อขอบใบ ขอบใบใกล้โคนมีขน ใบด้านบนมีลายสีเขียวแก่สลับสีเขียวอ่อน ใต้ท้องใบสีม่วงคล้ำ ดอกมีขนาดกว้างระหว่าง 3.3-4.2 ซม. รูปลักษณะมองจากด้านหน้าค่อนข้างกลมหรือรี ก้านช่อดอกตั้ง ยาวประมาณ 6-23 ซม. มีดอกที่ปลายช่อดอก อาจมีดอกได้ถึง 1-2 ดอกต่อหนึ่งช่อดอก กลีบกระเป๋าโป่งพอง มีจุดสีม่วงน้ำตาลขนาดใหญ่จำนวนหลายจุด บนกลีบกระเป๋าด้านใน โล่รูปไข่กลับ ทางออกของแมลงผสมเกสร 1.5-1.6 มม. ซึ่งเป็นกลไกคัดเลือกแมลงผสมเกสร[2]

รองเท้านารีขาวพังงา มีลักษณะคล้าย รองเท้านารีขาวสตูล แต่รองเท้านารีขาวพังงามีขนาดดอกและใบเล็กกว่า แต้มกลางโล่สีเขียว และมีจุดสีม่วงน้ำตาลขนาดใหญ่หลายจุดกระจายตัวบนผิวด้านในกลีบกระเป๋า[2][3]

ถิ่นอาศัย[แก้]

พบตามธรรมชาติบนพื้นผิวภูเขาหินปูน ขึ้นอยู่ตามซอกหิน ในภาคใต้ของประเทศไทย พบในแถบจังหวัดพังงาเท่านั้น ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 350 - 450 ม.[2]

ฤดูออกดอก และระบบสืบพันธุ์[แก้]

ออกดอกช่วงเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม[2]

จากการศึกษาวิจัยภาคสนามที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2555 โดย HANS BÄNZIGER, ศุภลักษณ์ ภูมิคง และ กนกอร ศรีม่วง ได้ทำการเก็บข้อมูลในแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของรองเท้านารีขาวพังงาและรองเท้านารีขาวสตูล พบว่าแมลงผสมเกสรเป็นชันโรง ในสกุล Lasioglossum ซึ่งเป็นชันโรงชนิดใหม่ของโลก และได้บรรยายและตั้งชื่อว่า Lasioglossum orchidodeceptum ซึ่งเป็นคนละชนิดกับแมลงผสมเกสรของรองเท้านารีขาวสตูล ซึ่งเป็นชันโรงคนละสกุลและคนละชนิดกันคือ Tetragonula testaceitarsis จึงเป็นหลักฐานยืนยันกลไกการแยกชนิด (Speciation mechanism) ที่มีระหว่าง ชนิดซ่อนเร้น (Cryptic species) ทั้งสองชนิดได้เป็นอย่างดี[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Rankou, H.. (2015) Paphiopedilum thaianum IUCN Red List of Threatened Species. Retrieved 3 July 2016. IUCN Red List of Threatened Species. Database entry includes a brief justification of why this species is critically endangered..
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Iamwiriyakul, P. (2006) Paphiopedilum thaianum, A new species of Paphiopedilum from Thailand. Orchid Review 114 (1271): 278-281.
  3. 3.0 3.1 Paphiopedilum thaianum, Prapanth Iamwiriyakul (2016) Species: Paphiopedilum thaianum. Index siamensis. Retrieved 4 July 2016. Siamensis.org.
  4. http://pantip.com/topic/35360956 Prapanth Iamwiriyakul (2016) ผลสำรวจการออกเสียงชื่อชนิด thaianum ในภาษาไทย. Retriteved 12 July 2016. pantip.com
  5. Stearn, W. T.. (2000) Botanical Latin: history, grammar, syntax, terminology and vocabulary. 4th edition. Timber Press
  6. BÄNZIGER, H.; PUMIKONG, S., & SRIMUANG, K. (2012) The missing link: bee pollination in wild lady slipper orchids Paphiopedilum thaianum and P. niveum (Orchidaceae) in Thailand. in Mitteilungen der Schweizerischen entomologischen Gesellschaft (Bulletin de la Société entomologique suisse) 85: 1–26

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]