ยุทธนา โพธสุธน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยุทธนา โพธสุธน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 มกราคม พ.ศ. 2514 (53 ปี)
อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
พรรคการเมืองพลังประชารัฐ (2562-2565,2566-ปัจจุบัน)
เศรษฐกิจไทย (2565-2566)

ยุทธนา โพธสุธน เป็นนักการเมืองชาวไทย ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี 2 สมัย สังกัดพรรคชาติไทย และเป็นหลานของ ประภัตร โพธสุธน[1]

ประวัติ[แก้]

ยุทธนา โพธสุธน เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2514 เป็นบุตรของนายประสิทธิ์ และดวงแข โพธสุธน และเป็นหลานของ นายประภัตร โพธสุธน และเป็นน้องชายของ พัชรี โพธสุธน อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา

ยุทธนา โพธสุธน เป็นศิษย์เก่าจากโรงเรียนอัสสัมชัญ จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจการเงิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจการเงิน CALIFORNIA STATE UNIVERSITY ประเทศสหรัฐอเมริกา

การทำงาน[แก้]

ยุทธนา โพธสุธน เข้าสู่งานการเมืองโดยการเป็นกำนันตำบลวังน้ำซับ เป็นประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอศรีประจันต์[1] ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 สังกัดพรรคชาติไทย แทนนายประภัตร ซึ่งย้ายไปลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน และเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 คู่กับนายเสมอกัน เที่ยงธรรม และได้รับเลือกตั้งทั้งสองคน กระทั่งเขาถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตามคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ของศาลรัฐธรรมนูญ[2] และได้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม โดย พัชรี โพธสุธน ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน

หลังการเว้นวรรคทางการเมือง เขากลับสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง แต่เนื่องจากเกิดความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งระหว่าง จองชัย เที่ยงธรรม กับประภัตร โพธสุธน[1][3] ในที่สุดนายจองชัย จึงย้ายไปลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคภูมิใจไทย แข่งขันกับนายประภัตร แต่ให้บุตรชายคือ เสมอกัน เที่ยงธรรม ยังคงลงสมัครในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ส่งผลให้นายยุทธนา ต้องย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ต่อมาเมื่อ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ลาออกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เขาจึงได้เลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทน[4][5][6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ส.ส.ป้ายแดง "ยุทธนา" หลานเฮียเม้ง ชาติไทยประชารัฐ
  2. "ศิลปอาชา"สูญพันธุ์ หลังยุบชาติไทย เปิด109 กก.บริหาร "พปช.-ชาติไทย-มัชฌิมาฯ"ถูกเพิกสิทธิเลือกตั้งเก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากมติชน
  3. ฉากจบ “ณัฏฐพล” พ้นพรรคพลังประชารัฐ
  4. 'ณัฏฐพล'ยื่นลาออกจากส.ส. เปิดทาง'ยุทธนา โพธสุธน'นั่งแทน... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/education/846785
  5. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง (นายยุทธนา โพธสุธน)
  6. ประกาศให้ “ยุทธนา” เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ หลัง “ณัฏฐพล” ลาออก
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๕, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๔, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๗๒, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑