มิอตสึกูชิ
![]() | ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
มิอตสึกูชิ (ญี่ปุ่น: 澪標; โรมาจิ: Miotsukushi; แปล: แสวงบุญ ณ ซูมิโยชิ) เป็นบทที่ 14 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท
ที่มาของชื่อบท มิโอะซึคุชิ
[แก้]มิโอะ (澪) แปลว่า ทางน้ำ ร่องน้ำ
ชิรุเบะ (標るべ) แปลว่า เครื่องหมาย, วัด
มิอตสึกูชิ (澪標) หมายถึง เสามาตรวัดระดับนำในร่องน้ำไม่ว่าเป็นช่องแคบ คลอง ปากแม่น้ำ หรือในทะเล ที่บ่งบอกว่าเรือจะสามารถผ่านได้หรือไม่[1]
มิอตสึกูชิ 「澪標」ยังเป็นการพร้องเสียงในภาษากวีญี่ปุ่นกับ มิโอะ(โวะ)ซึคุชิ「身を尽くし」 ที่แปลว่า มอบให้ด้วยทั้งหมดของหัวใจอีกด้วย[2]
ในบทนี้ เก็นจิเดินทางไปสักการะศาลเจ้าสุมิโยะชิ ใกล้ ๆ นะนิวะ เพื่อขอบคุณเทพเจ้าที่ปกป้องคุ้มครองเขา ในวันเดียวกันนั้น อะคะชิโนะคิมิเองก็บังเอิญลงเรือจากอะคะชิมาสักการะเทพสุมิโยะชิเช่นกัน ทว่าชายหาดเต็มไปได้บริวารของเก็นจิ ทำให้นางรู้สึกถึงฐานะอันต่ำต้อยของตน จึงไม่พายเรือขึ้นฝั่ง แต่แล่นเรือผ่านไปยังท่าเรือนะนิวะแทน
ในที่สุดเก็นจิก็ทราบเรื่องขณะที่เขาออกท่องเที่ยวแถบนะนิวะ ที่ที่เขาเห็นเสาวัดระดับน้ำ (มิโอะซึคุชิ) ในร่องน้ำโฮะริเอะ (Horie) เก็นจิจึงส่งเพลงยาวไปให้อะคะชิโนะคิมิความว่า
「みをつくし恋ふるしるしにここまでも めぐり逢ひけるえには深しな 」[3]
"Mi o tsukusi kofuru shirushi ni koko made mo meguri-ahi keru e ni ha fukashi na"
"มิอตสึกูชิ โคฟูรุ ชิรูชิ นิ โคโกะ มาเดะ โมะ เมงูริ-อาฮิ เคะรุ เอะ นิ ฮะ ฟูกาชิ นะ"
ด้วยปรารถนาทั้งดวงหฤทัย ยังให้พี่พบเจ้ากัลยาณี ณ สมุทรวารี เสามาตรหยั่งชลธี ดั่งบ่งชี้ลึกล้ำบุพเพสันนิวาตสองเรา
ศาลเจ้าสุมิโยะชิ
[แก้]
สุมิโยะชิไทฉะ หรือ ศาลเจ้าใหญ่สุมิโยะชิ (住吉大社, Sumiyoshi-taisha, Sumiyoshi Grand Shrine) เป็นศาลเจ้าในลัทธิชินโต อยู่ในเขตสุมิโยะชิ ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นศาลหลักของศาลเจ้าบูชาเทพสุมิโยะชิทั่วประเทศญี่ปุ่น
สุมิโยะชิไทฉะ บูชาเทพเจ้า สุมิโยะชิซันจิน (เทพ 3 พระองค์แห่งสุมิโยะชิ ประกอบด้วย เทพ โซะโคะซึสึ โนะ โอะโนะมิโคะโตะ, นะคะซึสึ โนะ โอะโนะมิโคะโตะ และ อุวะซึสึ โนะ โอะโนะมิโคะโตะ) และยังบูชา โอะกินะกะตะระชิฮิเมะ โนะ มิโกะโตะ (จักรพรรดินีจิงกู) ทั้งหมดรวมเรียกว่า สุมิโยะชิ โอคะมิ แปลว่า เทพแห่งสุมิโยะชิผู้ยิ่งใหญ่ หรืออีกชื่อหนึงว่า สุมิโยะชิ โนะ โอคะมิ โนะ มิยะ
สถาปัตยกรรมของ สุมิโยะชิไทฉะ เป็นแบบเฉพาะตัวที่เรียกว่าแบบ สุมิโยะชิซึคุริ[4]
ตัวละครหลักในบท
[แก้]- เก็นจิ : ขึ้นเป็นไนไดจิน อายุ 28-29
- พระราชชนนีโคกิเด็ง : พระราชมารดาของจักรพรรดิสุซะคุ
- จักรพรรดิสุซะคุ : พระเชษฐาต่างมารดาของเก็นจิ พระชนมายุ 30 ถึง 31
- วิญญาณของคิริสึโบะอิน : พระราชบิดาของเก็นจิ และจักรพรรดิสุซะคุ
- โอะโบะโระซึกิโยะ : ธิดาคนที่ 6 ของอุไดจิน นางในราชสำนักตำแหน่งไนชิโนะคะมิ (นางสนองพระโอษฐ์) อีกนัยหนึ่งคือพระสนมของ จักรพรรดิสุซะคุ
- มุระซะกิ : ภรรยาของเก็นจิที่คฤหาสน์บนถนนนิโจ อายุ 20 ถึง 21
- องค์รัชทายาท : โอรสของฟุจิตสึโบะ (บุตรชายลับ ๆ ของเก็นจิ) อายุ 10 ถึง 11 ปี ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็น จักรพรรดิเรเซ
- ฟุจิตสึโบะ : อดีตจักรพรรดินีในองค์จักรพรรดิคิริสึโบะ อายุ 33 - 34
- องค์รัชทายาทพระองค์ถัดมา : พระโอรสของจักรพรรดิสุซะคุกับพระชายาตำหนักโชเคียว (โชเคียวเด็ง) อายุ 2-3 ปี
- พระชายาตำหนักโชเคียว : พระราชมารดาขององค์รัชทายาทพระองค์ถัดมา
- ไดโจไดจิน : ขุนนางผู้สำเร็จราชการ เดิมคือ สะไดจิน พ่อตาของเก็นจิ ขึ้นรับตำแหน่งแทน บิดาที่ล่วงลับของพระชนนีโคกิเด็ง อายุ 62-63
- โทโนะจูโจ : เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น กอนไดนะกอน สหายสนิทและพี่ชายภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วของเก็นจิ
- พระชายาตำหนักโคกิในจักรพรรดิเรเซ : บุตรีของโทโนะจูโจ อายุ 11-12
- โคไบ : บุตรชายคนรองของโทโนะจูโจ
- ยูงิริ : บุตรชายของเก็นจิกับอะโอะอิ อายุ 11-12
- อะคะชิโนะคิมิ : ภรรยาคนหนึ่งของเก็นจิ สมรสกันระหว่างที่เก็นจิเทรเทศตัวเองไปหาดสุมะ อายุ 19-20
- ท่านหญิงน้อยแห่งอะคะชิ : บุตรีแรกเกิดของเก็นจิกับอะคะชิโนะคิมิ
- นักบวชชราแห่งอะคะชิ : บิดาที่บวชเป็นพระของอะคะชิโนะคิมิ อายุ 61-62
- อดีตพระชายาตำหนักเรเค : พระชายาของจักรพรรดิคิริสึโบะอิน
- ฮะนะจิรุซะโตะ : คนรักคนหนึ่งของเก็นจิ น้องสาวของพระชายาตำหนักเรเค
- เฮียวบุเคียวโนะมิยะ : องค์ชายเจ้ากรมกลาโหม พี่ชายของฟุจิตสึโบะ และ บิดาของมุระซะกิ
- โยะชิคิโยะ : ผู้ติดตามของเก็นจิ
- โคะเระมิตสึ : คนสนิท และพี่น้องร่วมแม่นมเดียวกับเก็นจิ
- อดีตพระชายาแห่งโระคุโจ : คนรักอายุมากกว่าที่เลิกรากันไปแล้วของเก็นจิ อายุ 35-36
- อะกิโคะโนะมุ : บุตรีของพระชายาแห่งโระคุโจ รับตำแหน่งไซกู (องค์หญิงผู้ดำรงค์ตำแหน่งหญิงพรมจาริณีศักดิ์สิทธิ์แห่งศาลเจ้าใหญ่เมืองอิเสะ) อายุ 19 - 20
เรื่องย่อ
[แก้]หลังเก็นจิกลับนครหลวง สิ่งแรกที่เขาทำคือบำเพ็ญกุศลใหญ่ถวายวิญญาณพระราชบิดา อาการเจ็บพระเนตรของจักรพรรดิสุซะคุก็ค่อย ๆ หายเป็นปกติ พระองค์จึงดำริจะสละราชสมบัติ เดือนสอง องค์รัชทายาทเข้าพิธีเกมปุกุ ราววันที่ 20 ในเดือนเดียวกัน องค์จักรพรรดิสุซะคุสละราชสมบัติ องค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเรเซ เก็นจิขึ้นสู่อำนาจราชศักดิ์อันยิ่งใหญ่ในราชสำนัก เขาขอร้องพ่อตาผู้ลาออกจากราชการ กลับมาเป็นไดโจไดจินเพื่อช่วยจักรพรรดิเรเซสำเร็จราชการแผ่นดิน ราวต้นเดือนสาม เก็นจิคิดถึงอะคะชิโนะคิมิผู้กำลังตั้งครรภ์ซึ่งป่านนี้นางคงคลอดแล้ว เขาส่งคนเดินสาส์นไปถามไถ่ที่อะคะชิและได้รับข่าวดีว่า อะคะชิโนะคิมิคลอดบุตรีอย่างปลอดภัยในวันที่ 16 เก็นจิฉุกคิดถึงเรื่องที่หมอดูเคยทำนายชะตาของเขาไว้ว่า เก็นจิจะมีบุตรธิดา 3 คน ทั้งสามจะได้เป็น จักรพรรดิ จักรพรรดินี และมหาเสนาบดี เก็นจินึกเสียใจที่ปล่อยให้บุตรีต้องกำเนิดนอกนครหลวง เก็นจิคัดเลือกแม่นมด้วยตัวเองและส่งนางไปอะคะชิทันที
ต้นฤดูร้อน ฝนตกไม่ขาดสาย เก็นจิไปหา ฮะนะจิรุซะโตะ นางนั้นต้องพึ่งพาเก็นจิในทุก ๆ ด้าน ถึงแม้เก็นจิจะไม่ใคร่ไปหานาง แต่นางก็ไม่เคยแสดงกิริยาแง่งอน แค้นเคืองเขาสักนิด เก็นจิรู้ว่านางไม่อยากทำให้เขาไม่สบายใจ นางรอการมาของเขาที่ระเบียง เก็นจิดูสง่างามหล่อเหลาภายใต้แสงจันทร์สลัวหมอก เสียงน้ำฝนไหลลงมายังโซ่รางน้ำดังกรุ๋งกริ๋ง ความอ่อนโยนและถ่อมตนของท่านหญิงดอกส้มทำให้เก็นจิยิ่งชื่นชมนาง
ในฤดูใบไม้เปลี่ยนสี เก็นจิเดินทางไปสักการะศาลเจ้าสุมิโยะชิ ขบวนสักการะนั้นช่างดูงดงามอลังการณ์ คนสนิทผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเก็นอย่างโคะเระมิตสึ และ โยะชิคิโยะ ก็อยู่นำในขบวนด้วย บังเอิญ อะคะชิโนะคิมิ ก็ลอยเรือมาสักการะศาลเจ้าในวันเดียวกัน นางรู้สึกถึงฐานันดรที่ต่างกันระหว่างครอบครัวตนกับเก็นจิ รู้สึกทุกข์ทรมานใจเมื่อเห็นความหรูหรายิ่งใหญ่ของขบวนเดินทาง กระทั่งยูงิริ บุตรชายของเก็นจิที่ยังเป็นเด็กมีผู้รับใช้ส่วนตัว บุตรีของนางเองก็ดูมีฐานันดรสูงกว่านาง อะคะชิโนะคิมิตัดสินใจไม่เข้าสักการะเทพสุมิโยะชิในวันนี้ เพราะท่านเทพเจ้าคงยากที่จะเห็นเครื่องบูชาอันเล็กน้อยของนางเมื่อเทียบกับเครื่องบูชาที่หรูหราของเก็นจิ นางจึงหันหัวเรือไปสู่ท่าเรือนะนิวะ ในที่สุดเก็นจิก็ทราบเรื่องขณะที่เขาออกท่องเที่ยวแถบนะนิวะ ที่ที่เขาเห็นเสาวัดระดับน้ำ (มิโอะซึคุชิ) ในร่องน้ำโฮะริเอะ (Horie) เก็นจิจึงส่งสาส์นเป็นกวีส่งไปให้อะคะชิโนะคิมิ เพื่อยืนยันความรักที่เขามีต่อนาง
อดีตพระชายาแห่งโระคุโจกลับมายังเมืองหลวง เนื่องจากการผลัดแผ่นดิน อะกิโคะโนะมุพ้นจากตำแหน่งไซกู อดีตพระชายาแห่งโรคุโจป่วยและตายไปโดยฝากฝังบุตรีให้เก็นจิดูแล เก็นจิประกอบพิธีทางศาสนาและไว้ทุกข์ให้นาง ในวันที่ลมแรงที่มีหิมะและลูกเห็บตกหนัก เก็นจิห่วงใยอะกิโคะโนะมุว่านางคงทุกข์ระทม เขาจึงเขียนโคลงด้วยกระดาษสีเทาหม่นด้วยลายพู่กันงดงามส่งไปให้อะกิโคะโนะมุว่า อดีตวิญญาณพระชายาแห่งโระคุโจมารดาของนางจะคอยปกป้องนางอยู่[5]
จักรพรรดิสุซะคุอินผู้สละราชย์นั้น หมายปองอะกิโคะโนะมุ หวังจะได้นางเป็นชายา ทว่าเก็นจิรับนางไปดูแลที่คฤหาสน์นิโจในฐานะบุตรีบุญธรรมเพื่อเตรียมจะถวายตัวเป็นพระชายาของจักรพรรดิเรเซ ด้วยอายุที่มากกว่าจะนอกจากจะเป็นพระชายาแล้ว อะกิโคะโนะมุจะได้คอยดูแลและแนะนำเรื่องต่าง ๆ ใหจักรพรรดิเรเซได้อีกด้วย โดยแสร้งทำเป็นไม่รับรู้ความในพระทัยขององค์สุซะคุอิน ไดโจไดจิน (อดีตสะไดจิน) เองก็รับหลานสาว (บุตรีของโทโนะจูโจ) เป็นบุตรีบุญธรรมเพื่อเพิ่มบารมี และส่งนางเข้าถวายตัวให้จักรพรรดิเรเซ เป็นพระชายาโคกิเด็ง
ศึกษาเพิ่มเติม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ " 澪標". USJホテル大阪観光ガイド.
- ↑ "澪標 ". 源氏物語の世界 再編集版.
- ↑ "澪標 " เก็บถาวร 2009-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Texts of Genji Monogatari E-Text.
- ↑ " Sumiyoshi Taisha". วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ.
- ↑ "มิโอะซึคุชิ" เก็บถาวร 2009-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.The Tale of Genji .Unesco Global Heritage Pavilion.