มูราซากิ ชิกิบุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มูราซากิ ชิกิบุ

มูราซากิ ชิกิบุ (ญี่ปุ่น: 紫式部โรมาจิMurasaki Shikibu) (ค.ศ. 973 - ค.ศ. 1014 หรือ 1025) เป็นกวีชาวญี่ปุ่น เป็นผู้สร้างผลงาน ตำนานเก็นจิ เธอเป็นหญิงในราชสำนักสมัยเฮอัง เกิดในปี เทนเอน ที่ 1 หรือราว ค.ศ. 973 ในตระกูลขุนนางสาย ฟุจิวาระ ในระดับชั้นกลาง บิดาชื่อว่า ฟุจิวาระ ทาเมโทคิ ไม่มีใครทราบชื่อจริงของเธอ สันนิษฐานว่า ที่เธอรับการเรียกขานว่า มูราซากิ ชิกิบุ นั้นก็เนื่องจากหญิงผู้มีชนชั้นในสังคมยุคนั้นจะไม่เปิดเผยชื่อจริงๆของตัว "มูราซากิ" มาจากชื่อของตัวละครนำหญิงในตำนานเก็นจิ หรือไม่ก็มูราซากิที่แปลว่าสีม่วง พ้องกับชื่อตระกูลฟุจิวาระของเธอ (ดอกฟุจิมีสีม่วง) ส่วน "ชิกิบุ" มาจากการที่ บิดาและพี่ชายของเธอทำงานในกรมราชพิธี (ชิกิบุ) นั่นเอง[1]

ปีโจโตคุที่ 4 หรือราวปี ค.ศ.998 เธอแต่งงานกับฟุจิวาระ โนะ โนบุทากะ (藤原 宣孝) มีบุตรสาว 1 คน เรียกขานนามกันว่า ไดนิ โนะ ซัมมิ (大弐三位) ซึ่งไม่ใช่ชื่อจริง แต่เป็นการเรียกแทนตัวจากตำแหน่งเช่นกัน ต่อมา 3 ปี สามีของเธอเสียชีวิต และช่วงนี้เองที่เธอเริ่มประพันธ์ ตำนานเก็นจิ

ราวปีคังโคที่ 2 หรือ ราวปี ค.ศ.1005 นางรับตำแหน่งในหน้าที่ผู้ติดตามของ โชชิ บุตรสาวของ ฟุจิวาระ โนะ มิจินางะ (藤原 道長) ขุนนางผู้ยิ่งใหญ่ ต่อมา โซชิ ขึ้นเป็นจักรพรรดินีในจักรพรรดิอิจิโจ

ประวัติ[แก้]

มูราซากิเกิดเมื่อราว ค.ศ.973 ในนครหลวงเฮอังเกียว เธอเกิดในครอบครัวขุนนางเล็กๆที่เป็นสาขาทางเหนือของตระกูลฟุจิวาระอันยิ่งใหญ่

แม่ของมูราซากิเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเด็ก ดังนั้นมูราซากิได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างแตกต่างตรงกันข้ามกับเด็กในยุคนั้น บิดาของเธอ ฟุจิวาระ โนะ ทาเมโทคิ (藤原 為時, เสียชีวิตราวปี ค.ศ. 1029) เป็นบัณฑิตและข้าราชสำนัก ในกรมราชพิธี หรือชิกิบุโช ต่อมาบิดาของเธอย้ายไปรับราชการที่หัวเมืองต่างๆ (เช่น ฮาริมะ, เอจิเซ็ง) มูราซากิติดตามบิดาไปที่เอจิเซ็งด้วยใน ค.ศ. 996 และ เอจิโงะ

ในสมัยเฮอังนั้น คู่สามีภรรยาจะใช้ชีวิตแยกบ้านกันอยู่และลูกจะได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาและญาติทางตระกูลของมารดา หญิงสมัยนั้นจะไม่เขียนอักษรจีน แต่จะอ่านเขียนด้วยอักษรคานะและการโคลงกลอนร้อยกรองของญี่ปุ่น แต่มูราซากิความรู้เรื่องวรรณกรรมคลาสสิกของจีนในยุคนั้น อีกทั้งยังอ่านเขียนตัวจีนได้

จาก บันทึกของมูราซากิ ชิกิบุ เธอได้บันทึกไว้ว่า เมื่อตอนเด็กๆ ขณะที่บิดาสอนวรรณกรรมคลาสสิกของจีนให้พี่ชาย เธอนั่งอยู่ข้างๆ และเข้าใจบทเรียนที่พี่ชายของเธอเรียนด้วยความยากลำบากได้อย่างง่ายดาย [2] บิดาของเธอชื่นชมสติปัญญาความเฉลียวฉลาดของเธอ และรู้สึกเศร้าใจเพราะเสียดายในความสามารถที่มาพร้อมกับชาติกำเนิดที่เป็นหญิงแทนที่จะเป็นชาย ซึ่งในสมัยนั้น ความเป็นชายที่มาพร้อมกับพรสวรรค์ข้างต้นจะส่งผลให้มีความก้าวหน้าในชีวิตมากกว่า

มูราซากิ ชิกิบุ แต่งงานกับ ฟุจิวาระ โนะ โนบุทากะ (藤原 宣孝) ในราว ค.ศ.998 หรือ 999 และเป็นหม้ายเพราะสามีเสียชีวิตลงในปี 1001 มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน ซึ่งอาจจะเกิดราวปี ค.ศ.999 ชื่อว่า คาตาโกะ หรือ เคนชิ ต่อมารับราชการในวังและเรียกขานกันในนาม ไดนิ โนะ ซัมมิ และบุตรสาวของเธอ อาจจะเสียชีวิตราวปี ค.ศ. 1080

ราวปี ค.ศ. 1006 มูราซากิ ชิกิบุ ได้รับการเรียกตัวเพื่อไปรับใช้ใกล้ชิด จักรพรรดินี อากิโกะ หรือ โซชิ โดยการว่าจ้างจาก ฟุจิวาระ มิจินางะ (藤原 道長) ขุนนางผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค เพราะความสามารถทางด้านการประพันธ์นวนิยาย และหลักฐานสุดท้ายที่กล่าวถึงมูราซากิ ชิกิบุ บันทึกใน ค.ศ. 1013 และเธออาจจะเสียชีวิตในปีถัดมา (ค.ศ. 1014)

ผลงาน[แก้]

ผลงานชิ้นเอกของมูราซากิ ชิกิบุ คือนวนิยายเรื่อง ตำนานเก็นจิ นอกจากนี้แล้ว เธอยังเขียนบันทึก ที่เรียกกันว่า บันทึกของมูราซากิ ชิกิบุ (紫式部日記) ที่เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆในราชสำนักในปี ค.ศ. 1008 และ ประชุมบทร้อยกรองส่วนตัว ชื่อว่า มูราซากิ ชิกิบุ ชู (紫式部集) ซึ่งอาจจะรวบรวมขึ้นมาหลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว

มูราซากิ ชิกิบุ กับ ตำนานเก็นจิ[แก้]

ไม่มีใครทราบว่ามูราซากิ ชิกิบุ เริ่มเขียนตำนานเก็นจิ หรือเขียนจบเมื่อไหร่ แต่หลักฐานจากบันทึกของเธอบอกเราว่า เธอเขียนตำนานเก็นจิแล้วในราวปี ค.ศ. 1007 หรือ 1008 และเป็นที่ยอมรับกันว่าเธอเขียนตำนานเก็นจิทั้ง 54 บท แม้แต่ละบทจะเขียนโดยไม่ได้เรียงตามระยะเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็มีการตัดต่อระหว่างบทที่น่าอัศจรรย์ ไม่ทราบว่าเธอวางแผนให้เป็นเช่นนี้ก่อนจะเขียนหรือไม่? ในเอกสารบางชิ้นใน ศตวรรษที่ 14 กล่าวว่า องค์หญิงพระองค์หนึ่ง ได้ถาม จักรพรรดินี ว่ามี นิทาน เรื่องใหม่ๆให้อ่านบ้างหรือไม่ เมื่อไม่มีนิทานเรื่องใหม่ๆแล้ว จักรพรรดินีจึงบัญชาให้ มูราซากิ ชิกิบุ เขียนนิยายขึ้นใหม่ มูราซากิ ชิกิบุ จึงเดินทางไปไหว้พระที่วัดอิชิยามะ ที่อยู่ใกล้ทางใต้ของทะเลสาบบิวะ ใช้เวลาเดินทาง 1 วันโดยรถเทียมวัวไปทางทิศตะวันออกของเกียวโต เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง เนื่องจากมูราซากิ ชิกิบุประทับใจกับเหตุการณ์ในตอนเด็กๆ เรื่องของขุนนางผู้มีความสามารถ ถูกเนรเทศไปคิวชูอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น ณ คืนวันหนึ่ง ที่วัดอิชิยามะ ในเดือน 8 ตามจันทรคติ ในขณะที่เธอเคลิบเคลิ้มไปกับความงดงามของภาพพระจันทร์เต็มดวงส่องสว่างสะท้อนผืนน้ำของทะเลสาบบิวะ จินตนาการเกี่ยวกับนิยายก็ผุดขึ้นมาในมโนสำนึก เธอจินตนาการถึง ตัวเอก เก็นจิ ถูกเนรเทศออกจากเมืองหลวงไปอย่างไม่เป็นธรรม สู่ริมทะเลที่มีแสงจันทร์สาดส่อง เธอเกรงว่าจะลืมจินตนาการนั้น จึงเขียนบันทึกเรื่องราวนั้นไว้ ซึ่งในภายหลัง กลายเป็นเรื่องราวในบทที่ 11 และ 12 ของตำนานเก็นจิ[3]

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

บันทึกของมูราซากิ ชิกิบุ บทความภาษาอังกฤษ