มาแรน็อสตรูง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จักรวรรดิโรมันในช่วงสูงสุดใน ค.ศ. 117 อย่างไรก็ตาม ในแผนที่นี้เรียกทะเลนี้ว่า มาแรอินแตร์นูง ("ทะเลภายใน")

มาแรน็อสตรูง (ละติน: Mare Nostrum; แปลว่า "ทะเลของเรา") เป็นชื่อที่ใช้เรียกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในสมัยโรมัน ภาษาละตินคลาสสิกออกเสียงเป็น [ˈma.rɛ ˈnɔs.t̪rʊ̃ː] ส่วนภาษาละตินคริสตจักรออกเสียงเป็น [ˈmaː.rɛ ˈnɔs.t̪rum]

หลายทศวรรษหลังการรวมชาติอิตาลีใน ค.ศ. 1861 ฝ่ายชาตินิยมและฝ่ายฟาสซิสต์อิตาลีที่มองอิตาลีเป็นรัฐสืบทอดของจักรวรรดิโรมันพยายามฟื้นฟูการใช้ศัพท์นี้[1]

สมัยโรมัน[แก้]

เดิมทีชาวโรมโบราณใช้วลี มาแรน็อสตรูง สำหรับเรียกทะเลติร์เรเนียนหลังพิชิตซิซิลี ซาร์ดิเนีย และคอร์ซิกาในช่วงสงครามพิวนิกกับคาร์เธจ จากนั้นเมื่อ 30 ปีก่อน ค.ศ. ดินแดนโรมันมีขอบเขตจากคาบสมุทรไอบีเรียถึงอียิปต์ และเริ่มมีการใช้วลี มาแรน็อสตรูง สำหรับเรียกทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด[2] นอกจากนี้ยังมีการใช้ชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น มาแรอินแตร์นูง (Mare Internum; "ทะเลภายใน") แต่ไม่มีชื่อ มาแรแมดิแตร์ราเนอูง (Mare Mediterraneum) ซึ่งเป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นในภาษาละตินตอนปลายและมีหลักฐานยืนยันการใช้หลังจากที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายไปนานพอสมควร[3]

ฝ่ายชาตินิยมอิตาลี[แก้]

หลายทศวรรษหลังการรวมชาติอิตาลีใน ค.ศ. 1861 ฝ่ายชาตินิยมอิตาลีที่มองอิตาลีเป็นรัฐสืบทอดของจักรวรรดิโรมันพยายามฟื้นฟูการใช้ศัพท์นี้[1] โดยเฉพาะเมื่อชาตินิยมอิตาลีกำลังรุ่งเรืองในช่วง "ลัทธิอาณานิคมในทวีปแอฟริกา" เมื่อคริสต์ทศวรรษ 1880 นำไปสู่การเรียกร้องให้สถาปนาจักรวรรดิอาณานิคมอิตาลีซึ่งนำแนวคิด มาแรน็อสตรูง มาตีความใหม่เพื่อปรับใช้เป็นครั้งแรก[4]

ฝ่ายฟาสซิสต์[แก้]

แผนที่ มาแรน็อสตรูง ของอิตาลีในฤดูร้อน ค.ศ. 1942 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง: สีเขียวคือดินแดนที่กองทัพเรืออิตาลีควบคุม สีแดงคือดินแดนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรควบคุม

เบนิโต มุสโซลินี ใช้คำนี้อีกครั้งในด้านโฆษณาชวนเชื่อฟาสซิสต์ ซึ่งคล้ายกับ เลเบินส์เราม์ ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มุสโซลินีต้องการสถาปนาความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมันอีกครั้ง และเชื่อว่าอิตาลีเป็นประเทศในเมดิเตอร์เรเนียนที่มีอำนาจมากที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[5] เขาประกาศว่า "ศตวรรษที่ยี่สิบจะเป็นศตวรรษแห่งอำนาจอิตาลี" และสร้างหนึ่งในกองทัพเรือที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลก เพื่อควบคุมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน[6][7]

การใช้งานร่วมสมัย[แก้]

มาเรโนสตรุน เป็นชื่อวรรณกรรมขายดีของบิเซนเต บลัสโก อิบัญเญซ นักเขียนชาวสเปนที่เผยแพร่ใน ค.ศ. 1918 จากนั้นมีการเผยแพร่ภาพยนตร์อิงวรรณกรรมใน ค.ศ. 1948

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Lowe (2002), p.34
  2. Couperus (1993), p.32
  3. Online Etymology Dictionary. "Mediterranean". Accessed 29 Aug 2011.
  4. Raymond F. Betts (1975). The False Dawn: European Imperialism in the Nineteenth Century. Univ. of Minnesota Pr. p. 12.
  5. Anthony Rhodes, Propaganda: The art of persuasion: World War II, p70 1976, Chelsea House Publishers, New York
  6. Fleming, Thomas. The New Dealers' War. Perseus Books,2001
  7. Italian naval operations in the Mediterranean, such as the Battle of Cape Matapan, are included in the Battle of the Mediterranean

บรรณานุกรม[แก้]