มัสยิดบ้านฮ่อ
18°47′12.07″N 99°0′4.49″E / 18.7866861°N 99.0012472°E
มัสยิดเฮดายาตูลอิสลามบ้านฮ่อ (จีน: 王和清真寺; พินอิน: wánghéqīngzhēnsì) หรือเรียกสั้น ๆ ว่ามัสยิดบ้านฮ่อ ตั้งอยู่ในตำบลช้างคลาน ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ใกล้กับไนท์บาซาร์ มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยชาวจีนมุสลิมที่อพยพมาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน หรือที่เรียกว่า จีนฮ่อ[1]
การก่อตั้งมัสยิด
[แก้]ในปี พ.ศ. 2458 ชาวจีนมุสลิมที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ ตกลงกันร่วมบริจาคเงินซื้อที่ดิน และสำหรับการก่อสร้างตัวอาคารของมัสยิดเป็นอาคารที่ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นจำนวนเงินประมาณ 3,000 รูปี (ประมาณ 2,400 บาท) ซึ่งถือว่าเป็นอาคารมัสยิดหลังแรกของชาวยูนนานมุสลิม ที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในจังหวัดเชียงใหม่ ย่านเวียงพิงค์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “มัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ” โดยมีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างอาคารมัสยิดครั้งนี้ 8 ท่าน ได้แก่
- ท่านขุนชวงเลียงฦๅเกียรติ (เจิ้งชงหลิน 鄭崇林) ต้นตระกูล “วงศ์ลือเกียรติ”
- ท่านเย่ เอ๋อโกเถ่อว (葉二哥頭)
- ท่านเย่ ฮั่วเถี่ยน (葉華庭) ต้นตระกูล “พงษ์พฤษฑล”
- ท่านนะสือชิง (納仕興) ต้นตระกูล “ธีระสวัสดิ์”
- ท่านหมู่ หย่งชิน (沐荣興) ต้นตระกูล “อนุวงค์เจริญ”
- ท่านม้า สุซาน (馬澤山)
- ท่านลี หวิ่นโซะ (李文學) ต้นตระกูล “ลีตระกูล”
- ท่านม้าฝูเม้ย (馬富美) ต้นตระกูล “อินทนันท์”
ต่อมา ชาวจีนยูนนานรุ่นสุดท้ายที่อพยพออกจากประเทศจีนช่วงหลังเปลี่ยนการปกครองปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2492) เข้าสู่พม่าและภาคเหนือของไทย เข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ประชากรจีนมุสลิมยูนนานมุสลิมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในปี พ.ศ. 2509 สัปปุรุษของมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ จึงได้รื้อถอนอาคารมัสยิดหลังเดิมที่ไม่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจ อาคารมัสยิดหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นโดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 750,000 บาท ปัจจุบันอาคารมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ ตั้งอยู่บนถนนเจริญประเทศ ซอย 1 ตำบลช้างคลาน จังหวัด เชียงใหม่[2]
รายชื่ออิหม่ามมัสยิดเฮดายาตูลอิสลาม (บ้านฮ่อ) ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
[แก้]มัสยิดแห่งนี้มีอิหม่ามมาทั้งสิ้น 10 คน ดังนี้
ที่ | อิหม่าม | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | อิหม่ามมู่เป้าเถียน (沐寶庭) | |
2 | อิหม่ามมู่หยินจะ (沐英乍) | |
3 | อิหม่ามมาไถหลิ่ง (馬太林) | |
4 | อิหม่ามม้าจิปิน (馬吉彬) | |
5 | อิหม่ามม้ายีถิ่ง (馬雨亭) | พ.ศ. 2468 - 2490 |
6 | อิหม่ามลีเหวิ่นฟู่ (李仁莆) | พ.ศ. 2490 - 2519 |
7 | อิหม่ามมาจงเหลี่ยง (馬叔良) | พ.ศ. 2519 - 2523 |
8 | อิหม่ามมาติ่งฮั่ว (馬定華) | พ.ศ. 2523 - 2536 |
9 | อิหม่ามหน่าชิงชิง (納順興) | พ.ศ. 2536 - ? |
10 | อิหม่ามซางฟู แซ่พาน | ? - ปัจจุบัน |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติการอพยพของจีนมุสลิม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-25. สืบค้นเมื่อ 2009-01-11.
- ↑ หนังสือมรดกศาสนาในเชียงใหม่ภาค 2 ประวัติและการพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่ จัดทำโดย คณะทำงานฝ่ายรวบรวมประวัติและพัฒนาการของศาสนาในเชียงใหม่ ภาคศาสนาอิสลาม โดย สุชาติ เศรษฐมาลินี และคณะ ในโอกาสสมโภชน์เชียงใหม่ 700 ปี (1839-2539) จัดพิมพ์โดย คณะอนุกรรมการด้านศาสนางานสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่