มอยนัก
มอยนัก | |
---|---|
เมือง | |
พิกัด: 43°46′N 59°02′E / 43.767°N 59.033°E | |
ประเทศ | อุซเบกิสถาน |
สาธารณรัฐ | การากัลปักสถาน |
อำเภอ | มอยนัก |
ความสูง | 55 เมตร (180 ฟุต) |
ประชากร (2018)[1] | |
• ทั้งหมด | 13,500 คน |
มอยนัก (การากัลปัก: Moynaq / Мойнақ) หรือ โมยนอก (อุซเบก: Moʻynoq / Мўйноқ) เป็นเมืองในตอนเหนือของสาธารณรัฐการากัลปักสถาน ประเทศอุซเบกิสถาน และเป็นศูนย์กลางการปกครองของอำเภอมอยนัก[2] มอยนักในอดีตเป็นเมืองท่า ติดกับทะเลอารัล แต่ในปัจจุบัน มอยนักตั้งอยู่ห่างไป 150 กิโลเมตรจากแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุด ท่ามกลางทะเลทรายอารัลกุม มอยนักจึงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงภัยพิบัติที่สำคัญ นอกจากนี้ มอยนักยังเป็นที่จัดเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญในเอเชียกลาง
ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของมอยนักคือซากเรือประมงที่ถูกทิ้งร้างจำนวนมากจากสมัยโซเวียต และมีพิพิธภัณฑ์ขนาดหนึ่งห้องที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมประมงที่เคยเจริญมากในมอยนัก[3]
ประวัติศาสตร์
[แก้]เดิมทีมอยนักเป็นชุมชนประมงและเป็นเมืองท่าเดียวของประเทศอุซเบกิสถาน มีประชากรหลายหมื่นคน และเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจครึกครื้น แต่ในปัจจุบันมอยนักตั้งอยู่หลายสิบกิโลเมตรจากขอบของทะเลอารัลซึ่งแห้งลงอยู่เรื่อย ๆ ในอดีต การประมงเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่มาโดยตลอด และมอยนักเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมประมงและปลากระป๋อง อย่างไรก็ตาม ในคริสต์ทศวรรษ 1960 รัฐบาลโซเวียตได้เบี่ยงทางน้ำของแม่น้ำอามูดาร์ยาและซีร์ดาร์ยาซึ่งปกติเป็นต้นน้ำของทะเลอารัล ออกไป ทำให้ทะเลอารัลแห้งเหือดลงไปมาก และพื้นที่รอบทะเลอารัลในอุซเบิกสถานก็ต้องอยู่ภายใต้ภาวะเสี่ยงต่อการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวในสมัยโซเวียต ซึ่งมีการผลิตฝ้ายเป็นสำคัญ ได้เบี่ยงน้ำจากแม่น้ำสายต่าง ๆ ไปสู่ระบบชลประทาน ยังเป็นผลให้มีการทิ้งของเสียและมลภาวะต่าง ๆ ทางเคมีตามมา ซึ่งยิ่งทำให้ความเค็มของน้ำที่ยังเหลือในทะเลอารัลสูงขึ้น และน้ำในทะเลอารัลระเหยไปเร็วมากขึ้น ท้ายที่สุดส่งผลให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทะเลตาย และเมืองโดยรอบก็ตายไปตาม ซึ่งรวมถึงเมืองมอยนักด้วย[4][5]
วัฒนธรรม
[แก้]ปัจจุบันมอยนักเป็นสถานที่จัดเทศกาลสตีฮิยา (Stihia Festival) ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียกลาง จัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2018 เทศกาลนี้ได้รับการบรรยายไว้โดยไวซ์มีเดีย ว่าเป็น "[งานดนตรี]เทคโนอย่างเมามันท่ามกลางสุสานเรือร้าง" ในปี 2019 มีผู้เข้าร่วมเทศกาลถึง 10,000 คน และมีดีเจมาแสดงจากทั้งอุซเบกิสถานและยุโรป[6] ชื่อเทศกาล "Stihia" แปลว่า "พลังของธรรมชาติอันยั้งไว้ไม่ได้" ซึ่งเป็นการสื่อถึงภัยพิบัติทะเลอารัลแห้งเหือด และถึงพลังของดนตรีในการนำพาผู้คนมาอยู่ด้วยกัน[7] นอกจากนี้ยังมีเทศกาล Stihia N+1 จัดควบคู่ไปด้วย ซึ่งประกอบด้วยการเสวนาและพูดคุยเกี่ยวกับศิลปะ วิทยาศาสตร์ จนถึงเทคโนโลยี[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Число постоянных жителей в Республике Каракалпакстан на 1 января 2018 года เก็บถาวร 2019-03-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Портал открытых данных Республики Узбекистан
- ↑ "Classification system of territorial units of the Republic of Uzbekistan" (ภาษาอุซเบก และ รัสเซีย). The State Committee of the Republic of Uzbekistan on statistics. July 2020.
- ↑ "Travel Guide to Moynaq & Aral Sea | Caravanistan". Caravanistan (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2018-07-27.
- ↑ "Waiting for the sea". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2018-07-27.
- ↑ "It's Raining Salt: Toxic Aral Sea Storm Sparks Health Fears In Central Asia". RadioFreeEurope/RadioLiberty (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-07-27.
- ↑ Kennedy, Almas Koldassov,Rowan (2018-10-12). "Stihia Festival | We Went to a Techno Rave in an Abandoned Ship Graveyard in Uzbekistan". Amuse (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-07. สืบค้นเมื่อ 2020-10-31.
- ↑ "Stihia: An Electronic Dawn In Uzbekistan". Resident Advisor. สืบค้นเมื่อ 2020-10-31.
- ↑ "Stihia". ohio8.vchecks.me. สืบค้นเมื่อ 2020-10-31.[ลิงก์เสีย]