ภาวะละเลยกึ่งปริภูมิ
ภาวะละเลยกึ่งปริภูมิ | |
---|---|
ชื่ออื่น | Hemiagnosia, hemineglect, unilateral neglect, spatial neglect, contralateral neglect, unilateral visual inattention,[1] hemi-inattention,[1] neglect syndrome, one-side neglect,[2] or contralateral hemispatialagnosia |
ภาวะละเลยกึ่งปริภูมิบ่อยครั้งมีความเกี่ยวข้องกับรอยโรคในสมองกลีบข้างซีกขวา ซึ่งมีสีเหลืองด้านบน | |
สาขาวิชา | จิตเวชศาสตร์, ประสาทวิทยา |
ภาวะละเลยกึ่งปริภูมิ หรือ ภาวะละเลยข้างเดียว (อังกฤษ: hemispatial neglect หรือ hemiagnosia หรือ hemineglect หรือ unilateral neglect หรือ spatial neglect หรือ unilateral visual inattention[1] หรือ hemi-inattention[1] หรือ neglect syndrome) เป็นภาวะทางประสาทจิตวิทยาที่เมื่อมีความเสียหายต่อซีกสมองด้านหนึ่ง ความบกพร่องในการใส่ใจ (attention) และการรู้สึกตัว (awareness) ในปริภูมิด้านหนึ่งของกายก็เกิดขึ้น ภาวะนี้กำหนดโดยความไม่สามารถที่จะประมวลผลและรับรู้ตัวกระตุ้นทางด้านหนึ่งของกายหรือสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้มีเหตุมาจากความบกพร่องทางความรู้สึก[1]
ภาวะละเลยกึ่งปริภูมิโดยมากมีผลในกายด้านตรงข้ามกับซีกสมองที่เกิดความเสียหาย (คือมีรอยโรค) แต่ว่า กรณีที่มีผลในด้านเดียวกันกับรอยโรคในสมองก็มีอยู่เหมือนกัน[3]
อาการปรากฏ
[แก้]ภาวะละเลยกึ่งปริภูมิเกิดขึ้นโดยมากจากการบาดเจ็บในสมองซีกขวา ก่อให้เกิด ภาวะละเลยทางการเห็น (อังกฤษ: visual neglect) ของปริภูมิในด้านซ้าย ภาวะละเลยปริภูมิทางด้านขวามีน้อย เนื่องจากว่า มีระบบการประมวลผลของปริภูมิด้านขวา ในทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวา เปรียบเทียบกับปริภูมิด้านซ้าย ซึ่งในสมองของบุคคลที่ถนัดขวาโดยมาก (คือมีสมองด้านซ้ายเป็นใหญ่) จะมีระบบประมวลผลเพียงแค่ในสมองซีกขวาเท่านั้น ถึงแม้ว่าภาวะนี้จะมีผลอย่างเห็นได้ชัดในการรับรู้ทางตา (visual perception) การละเลยในการรับรู้ทางประสาทอื่น ๆ ก็มีได้ ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะละเลยทางการเห็น
ยกตัวอย่างเช่น โรคหลอดเลือดสมองที่มีผลต่อสมองกลีบข้างซีกขวา อาจนำไปสู่ภาวะละเลยของลานสายตา (visual field) ด้านซ้าย ทำให้คนไข้มีพฤติกรรมเหมือนกับไม่มีการรับรู้ปริภูมิด้านซ้ายเลย (แม้ว่า อาจจะยังสามารถหันไปทางซ้าย) ในกรณีที่อุกฤษฏ์ คนไข้อาจจะไม่ทานอาหารทางด้านซ้ายในจาน ถึงแม้ว่าอาจจะบ่นว่า หิวข้าว
ถ้าให้คนไข้วาดรูปนาฬิกา รูปวาดอาจจะแสดงตัวเลขจาก 12 ถึง 6 หรือตัวเลขหมดทั้ง 12 ตัว แต่จะอยู่ด้านครึ่งหนึ่งของนาฬิกาเพียงเท่านั้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งอาจจะวาดอย่างบิดเบือน หรือไม่วาดเลย คนไข้อาจจะโกนหนวดหรือแต่งหน้าด้านที่ไม่ละเลยเท่านั้น และบ่อยครั้ง คนไข้อาจจะชนกับวัตถุต่าง ๆ เช่นกรอบประตู ในด้านที่มีการละเลย[1]
ภาวะละเลยอาจจะปรากฏเป็นอาการหลงผิด คือคนไข้อาจปฏิเสธความเป็นเจ้าของในแขนขาข้างหนึ่ง หรือแม้แต่ทั้งซีกด้านของร่างกาย และเนื่องจากว่าการหลงผิดอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยลำพัง ไม่เกิดพร้อมกับความหลงผิดอย่างอื่น บ่อยครั้งจึงเรียกว่า monothematic delusion (อาการหลงผิดมีตีมเดียว)
ภาวะละเลยไม่เพียงแค่มีผลต่อความรู้สึกหรือการเห็น แต่ว่า มีผลต่อแม้แต่การรับรู้ที่อาศัยความทรงจำเช่นกัน คือ เมื่อให้วาดรูปจากความจำ คนไข้อาจจะวาดรูปนั้นเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ว่า ไม่ชัดเจนว่า นี้เป็นความบกพร่องในระบบความจำ คือไม่มีข้อมูลส่วนนั้นในระบบความจำ หรือว่า มีข้อมูลที่ไม่เสียหายอยู่ แต่ว่า คนไข้ละเลยข้อมูลความจำส่วนนั้นเหมือนกับละเลยข้อมูลของวัตถุที่มีอยู่ต่อหน้า
เหตุ
[แก้]เขตต่าง ๆ ในสมองกลีบข้างและสมองกลีบหน้า มีความเกี่ยวข้องกับการส่งความใส่ใจ (ในภายใน หรือโดยการขยับตา หรือโดยหันหน้า หรือโดยเอื้อมแขนก้าวขา) เข้าไปในปริภูมิด้านตรงข้าม ภาวะละเลยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเสียหายในจุดเชื่อมระหว่างสมองกลีบขมับและสมองกลีบข้าง และใน posterior parietal cortex (สมองกลีบข้างด้านหลัง)[4] การขาดความใส่ใจในปริภูมิด้านซ้าย อาจปรากฏในวิสัยของการเห็น การได้ยิน การรับรู้อากัปกิริยา (proprioception) และการได้กลิ่น ถึงแม้ว่าภาวะนี้มักจะปรากฏเป็นความบกพร่องในการรับรู้ความรู้สึก (และบ่อยครั้งเกิดขึ้นร่วมกับความบกพร่องในการรับรู้ความรู้สึก) แต่จริง ๆ แล้ว ภาวะนี้เป็นความล้มเหลวในการให้ความใส่ใจที่เพียงพอต่อความรู้สึกที่ได้รับ ความเป็นไปอย่างนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในโรคที่สัมพันธ์กันที่เรียกว่า extinction[5]
คนไข้ภาวะ extinction ที่เกิดจากความเสียหายในสมองซีกขวา สามารถแจ้งความมีอยู่ของวัตถุในปริภูมิด้านซ้ายเมื่อมีวัตถุเดียวเท่านั้น แต่ว่า เมื่อวัตถุอย่างเดียวกันมีอยู่ในปริภูมิด้านขวาด้วย คนไข้จะแจ้งความมีอยู่ของวัตถุด้านขวาเท่านั้น (คือการรับรู้วัตถุในปริภูมิด้านซ้าย ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับสมองที่มีความเสียหาย ดับไป (extinct) เพราะความมีอยู่ของวัตถุในปริภูมิด้านขวา)
แม้ว่าภาวะละเลยกึ่งปริภูมิก็ปรากฏเมื่อมีความเสียหายต่อสมองซีกซ้าย ซึ่งทำให้เกิดภาวะละเลยในปริภูมิด้านขวา แต่ว่า ภาวะนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าเมื่อมีความเสียหายในสมองซีกขวา โดยมีทฤษฎีว่า ความไม่เสมอกันนี้ เกิดจากความที่สมองซีกขวามีกิจเฉพาะในการรับรู้ปริภูมิและในการทรงจำ ในขณะที่สมองซีกซ้ายมีกิจเฉพาะในเรื่องภาษา ดังนั้น จึงมีการประมวลผลเกี่ยวกับลานสายตาด้านขวาในซีกสมองทั้งสองข้าง และเพราะเหตุนั้น สมองซีกขวาจึงสามารถทำกิจที่สูญเสียไปทางสมองซีกซ้าย แต่ว่า ในนัยตรงข้ามกันไม่เป็นอย่างนั้น[6]
ไม่ควรสับสนภาวะละเลยกับภาวะบอดครึ่งซีก (hemianopsia) ซึ่งเกิดจากความเสียหายต่อวิถีประสาทที่ดำเนินไปสู่คอร์เทกซ์สายตา เป็นการตัดสัญญาณที่ส่งไปจากเรตินาไปยังเปลือกสมอง ส่วนภาวะละเลยเป็นความเสียหายในเขตที่ประมวลข้อมูล คือว่า เปลือกสมองได้รับข้อมูลจากเรตินา แต่ว่าเกิดความผิดพลาดในการประมวลข้อมูลบางอย่างที่ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดี
แบบต่าง ๆ
[แก้]ส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงจากเอกสารอ้างอิงหรือแหล่งข้อมูล โปรดช่วยพัฒนาส่วนนี้โดยเพิ่มแหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือ เนื้อหาที่ไม่มีการอ้างอิงอาจถูกคัดค้านหรือนำออก |
ภาวะละเลยข้างเดียว (Unilateral neglect) เป็นกลุ่มอาการต่าง ๆ ซึ่งมีหลายประเภทย่อย และเป็นไปได้ว่า โรคต่าง ๆ หลายอย่างมีการจัดให้มีชื่อเดียวกันอย่างไม่ถูกต้อง มีความเห็นพ้องต้องกันที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ไม่มีกลไกเพียงอย่างเดียวที่สามารถอธิบายอาการหลากหลายของภาวะนี้ นอกจากนั้นยังปรากฏอีกด้วยว่า ความเสียหายในกลไกหลายอย่าง ๆ รวมตัวกันก่อให้เกิดภาวะละเลย แต่ความเสียหายแต่ละอย่างสามารถมีอยู่ได้โดยลำพังโดยไม่ต้องมีภาวะละเลย
แม้เรื่องของความใส่ใจเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นกลไกอย่างหนึ่งในหลาย ๆ อย่างที่เมื่อเสียหายแล้วอาจก่อให้เกิดภาวะนี้ ก็มีความซับซ้อนพอที่จะให้มีการสร้างทฤษฎีหลายอย่างเพื่ออธิบายภาวะละเลยแล้ว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมจึงยากที่จะแสดงอาการหลายหลากของภาวะละเลยว่ามีเหตุเป็นเขตเฉพาะ ๆ ในประสาทกายวิภาค แต่ว่า แม้ว่าจะมีความจำกัดอย่างนี้ เราสามารถพรรณนาถึงภาวะละเลยข้างเดียวโดยใช้ตัวแปรที่เลื่อมล้ำกันบ้าง คือ ด้านเข้าด้านออก ขอบเขต แกน และแนวทิศทาง
โดยด้านเข้าด้านออก
[แก้]ภาวะละเลยข้างเดียวสามารถแบ่งออกเป็นโรคทางด้านเข้า และโรคทางด้านออก ภาวะละเลยด้านเข้า หรือ ความไม่ใส่ใจ (inattention) คือการละเลยสิ่งที่เห็น เสียง กลิ่น และตัวกระตุ้นสัมผัสทางด้านตรงข้ามของสมอง ที่น่าประหลาดใจก็คือ ความไม่ใส่ใจนี้เป็นไปแม้แต่ในตัวกระตุ้นคือความคิด ในภาวะที่เรียกว่า “representational neglect” (ภาวะละเลยตัวแทน) คือ คนไข้อาจละเลยความจำ ความฝัน หรือแม้แต่ความหลอน ทางด้านซ้ายของร่างกาย
ภาวะละเลยด้านออก เป็นความบกพร่องในระบบสั่งการ (motor) และก่อนระบบสั่งการ (pre-motor) คนไข้มีภาวะละเลยในระบบสั่งการจะไม่ใช้แขนขาในด้านตรงกันข้าม แม้ว่าจะมีความสามารถทางกล้ามเนื้อและประสาทในการทำอย่างนั้น ส่วนบุคคลผู้มีภาวะละเลยก่อนระบบสั่งการ หรือที่เรียกว่า "directional hypokinesia" สามารถจะเคลื่อนแขนขาที่ปกติไปอย่างปกติในปริภูมิด้านเดียวกัน แต่ประสบความยากลำบากในการเคลื่อนแขนขาไปในปริภูมิด้านตรงกันข้าม ดังนั้น คนไข้ภาวะละเลยก่อนระบบสั่งการอาจต้องดิ้นรนเพื่อหยิบจับวัตถุทางด้านซ้ายแม้ว่าจะสามารถใช้แขนขวาได้อย่างปกติ
โดยขอบเขต
[แก้]ภาวะละเลยกึ่งปริภูมิมีขอบเขตที่กว้างขวางโดยสิ่งที่คนไข้ละเลย ขอบเขตอย่างแรกที่เรียกว่า ภาวะละเลยมีตนเป็นศูนย์ (egocentric neglect) ย่อมพบได้ในคนไข้ที่ละเลยกายหรือปริภูมิที่ตัว (personal space) ของตน[7] คนไข้เหล่านี้มักจะละเลยด้านตรงกับข้ามของรอยโรค ตามแนวกลางของกาย ของศีรษะ หรือของเรตินา[8] ยกตัวอย่างเช่น ในการทดสอบที่ตรวจจับโอกาสที่ละเลย คนไข้ภาวะละเลยมีตนเป็นศูนย์ทางด้านซ้ายมักจะทำผิดในด้านขวาสุดของหน้ากระดาษ เพราะละเลยปริภูมิในด้านขวาของลานสายตา[9]
ภาวะละเลยมีขอบเขตอย่างต่อไปเรียกว่า ภาวะละเลยมีวัตถุอื่นเป็นศูนย์ (allocentric neglect) ที่คนไข้ละเลยปริภูมิรอบ ๆ ตน (peri-personal) หรือปริภูมินอกปริภูมิรอบ ๆ ตน (extrapersonal) ปริภูมิรอบ ๆ ตน หมายถึงปริภูมิที่คนไข้สามารถเอื้อมไปถึง เปรียบเทียบกับปริภูมินอกปริภูมิรอบ ๆ ตน ซึ่งหมายถึงวัตถุและสิ่งแวดล้อมภายนอกระยะที่กายสามารถเข้าไปสัมผัสหรือเอื้อมถึง [7]
คนไข้ภาวะละเลยมีวัตถุอื่นเป็นศูนย์ มักจะละเลยด้านตรงข้ามกันของวัตถุแต่ละชิ้น ไม่ว่าวัตถุจะปรากฏอยู่ที่ด้านไหนของคนไข้[8] ยกตัวอย่างเช่น ในการทดสอบตรวจจับโอกาสที่ละเลยที่พึ่งกล่าวถึง คนไข้ที่มีภาวะละเลยด้านขวาจะทำผิดในทุกบริเวณของหน้ากระดาษ โดยละเลยด้านขวาของวัตถุแต่ละอย่าง[9]
ความแตกต่างนี้สำคัญ เพราะว่า การทดสอบโดยมากตรวจสอบภาวะละเลยในเขตที่เอื้อมถึง หรือปริภูมิรอบ ๆ ตน แต่คนไข้ที่สอบผ่านการทดสอบมาตรฐานของภาวะละเลยที่ว่านี้ ด้วยกระดาษและดินสอ อาจจะไม่สนใจแขนข้างซ้าย หรืออาจไม่สังเกตเห็นวัตถุที่ไกลทางด้านซ้ายของห้องอยู่ดี
ในกรณีของโรค somatoparaphrenia[10] ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพราะภาวะละเลยปริภูมิที่ตัว คนไข้อาจจะปฏิเสธความเป็นเจ้าของของแขนขาในด้านตรงข้าม ในหนังสือชื่อว่า "ชายผู้สับสนภรรยาของตนว่าเป็นหมวก"[11] แซคส์ (ค.ศ. 1985) พรรณนาถึงคนไข้คนหนึ่งที่ตกจากเตียง หลังจากที่ผลักสิ่งที่เขารู้สึกว่า เป็นขาที่ขาดออกจากซากศพ (ซึ่งความจริงแล้วเป็นขาของเขาเอง) ที่พนักงานได้ซ่อนไว้ภายใต้ผ้าห่มของเขา. คนไข้บางคนอาจจะกล่าวว่า "ผมไม่รู้ว่านั่นเป็นมือของใคร แต่ว่า น่าจะถอดแหวนของผมออกมาด้วย" หรือว่า "นี่เป็นแขนปลอมที่มีใครเอามาใส่ให้ผม ผมได้ส่งลูกสาวของผมให้ไปหาแขนจริงของผมแล้ว"
แกน
[แก้]การทดสอบภาวะละเลยโดยมากตรวจสอบความผิดพลาดทางด้านขวาหรือด้านซ้าย แต่คนไข้อาจจะละเลยตัวกระตุ้นทางด้านหนึ่งของแกนแนวขวาง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อให้วงกลมดวงดาวทั้งหมดในหน้ากระดาษ คนไข้อาจจะค้นเจอเป้าหมายทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของหน้ากระดาษ ในขณะที่ละเลยดวงดาวทางด้านบนหรือด้านล่าง
ในงานวิจัยเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยให้คนไข้ภาวะละเลยด้านซ้ายแสดงแนวกลางกายด้วยหลอดไฟนีออน แล้วพบว่าคนไข้มักจะชี้ตรงไปข้างหน้า ในตำแหน่งที่ไปทางด้านขวามากกว่าแนวกลางจริง ๆ ความเคลื่อนไปเช่นนี้ อาจจะอธิบายถึงความสำเร็จของวิธีการรักษาโดยใช้แว่นปริซึม ซึ่งขยับปริภูมิสายตาทางด้านขวาไปทางด้านซ้าย การขยับข้อมูลทางสายตาอย่างนี้ ปรากฏว่า เข้าไปแก้ปัญหาของความรู้สึกว่าอะไรเป็นแนวกลางในสมอง วิธีนี้ไม่ใช่เพียงแค่ทำภาวะละเลยทางสายตาเท่านั้นให้ดีขึ้น แต่ทำภาวะละเลยทางประสาทสัมผัส ประสาทสั่งการ และ “ภาวะละเลยตัวแทน” ให้ดีขึ้นด้วย
แนวทิศทาง
[แก้]คำถามที่สำคัญในใช้ในงานวิจัยภาวะละเลยก็คือ "ด้านซ้ายของอะไรเล่า" คำตอบนั้นพิสูจน์แล้วว่า ซับซ้อน คนไข้อาจจะละเลยวัตถุที่อยู่ทางด้านซ้ายของแนวกลางของตน (ภาวะละเลยมีตนเป็นศูนย์) หรืออาจจะเห็นวัตถุทุกชิ้นในห้องแต่ละเลยด้านซ้ายของวัตถุแต่ละชิ้น (ภาวะละเลยมีวัตถุอื่นเป็นศูนย์)
ประเภทใหญ่ ๆ ทั้งสองนั้นอาจจะแบ่งออกไปได้อีก คนไข้ภาวะละเลยมีตนเป็นศูนย์อาจละเลยตัวกระตุ้นทางด้านซ้ายของตัว ศีรษะ หรือเรตินา คนไข้ภาวะละเลยมีวัตถุอื่นเป็นศูนย์อาจจะละเลยด้านซ้ายของวัตถุที่ปรากฏจริง ๆ หรือบางครั้ง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจ อาจจะกลับด้านทำให้ตรงซึ่งวัตถุที่กลับด้านอยู่หรืออยู่เอียง ๆ แล้วจึงละเลยด้านที่ถูกแปลความหมายว่าเป็นด้านซ้าย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนไข้มองดูรูปถ่ายหรือใบหน้าตีลังกา คนไข้อาจจะกลับวัตถุนั้นให้มีหัวขึ้นในใจ แล้วละเลยด้านซ้ายของวัตถุกลับหัวนั้น นี่เกิดขึ้นด้วยในรูปที่เอียง หรือภาพสะท้อนในกระจกที่กลับด้านซ้ายขวา คนไข้ที่มองที่รูปกระจกที่กลับด้านของแผนที่โลก อาจจะละเลยการเห็นซีกโลกตะวันตก แม้ว่าส่วนนั้นที่กลับด้านอยู่จะอยู่ทางด้านขวาของกระจก (ทั้ง ๆ ที่เราอาจคิดว่า คนไข้ควรละเลยซีกโลกตะวันออกซึ่งอยู่ด้านซ้ายของกระจก)
ผลที่ตามมา
[แก้]แม้ว่าบ่อยครั้งจะไม่มีการตระหนักถึงความสำคัญ ภาวะละเลยข้างเดียวสามารถมีผลที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ ภาวะนี้มีอิทธิพลด้านลบต่อความสามารถในการทำกิจการงาน ดังที่วัดโดยใช้วิธี Barthel ADL index[12] มากกว่าอายุ เพศ กำลัง ซีกของโรคหลอดเลือดสมอง ความสมดุล การรับรู้อากัปกิริยา การรับรู้ หรือสถานะของ ADL[13] ก่อนเกิดโรค
ความมีภาวะนี้ภายใน 10 วันของการมีโรคลมปัจจุบัน เป็นตัวพยากรณ์การฟื้นฟูทางกิจหลังจาก 1 ปีที่ไม่ดี ที่แม่นยำกว่าตัวแปรอื่นหลายอย่าง รวมทั้งความอัมพฤกษ์ครึ่งซีก ภาวะบอดครึ่งซีก (hemianopsia) อายุ ความทรงจำทางตา (visual memory) ความทรงจำทางภาษา (verbal memory) หรือความสามารถในการสร้างมโนภาพ
ภาวะละเลยน่าจะเป็นเหตุอย่างหนึ่ง ที่คนไข้มีความเสียหายในสมองซีกขวา มีโอกาสเป็นสองเท่าที่จะหกล้ม มากกว่าคนไข้มีความเสียหายในสมองซีกซ้าย คนไข้ภาวะละเลยต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานกว่า และมีการพัฒนาการฟื้นฟูวันต่อวันในระดับที่ต่ำกว่าคนไข้อื่นที่มีความสามารถในการทำกิจคล้าย ๆ กัน นอกจากนั้น คนไข้ภาวะละเลยมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระน้อยกว่า แม้แต่เมื่อเทียบกับคนไข้ที่มีทั้งภาวะเสียการสื่อความ (aphasia) อย่างรุนแรงและความอัมพฤกษ์ครึ่งซีกในสมองด้านขวา (คือคนไข้ที่มีความเสียหายในสมองซีกขวาเป็นหลัก)
การรักษา
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ดูเพิ่ม
[แก้]- สภาวะเห็นทั้งบอด
- ความเสียหายในสมอง
- ภาวะเสียสำนึกความพิการ (Anosognosia)
- อาการหลงผิด (delusion)
- ภาวะเสียการระลึกรู้ (Agnosia)
- ภาวะมืออีกข้างหนึ่ง (Allochiria)
หมายเหตุและอ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Unsworth, C. A. (2007). Cognitive and Perceptual Dysfunction. In T. J. Schmitz & S. B. O'Sullivan (Eds.), Physical Rehabilitation (pp. 1149-1185). Philadelphia, F.A: Davis Company.
- ↑ "One-Sided Neglect". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 ตุลาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2023.
- ↑ Kim, M; Na, D L; Kim, G M; Adair, J C; Lee, K H; Heilman, K M (1999). "Ipsilesional neglect: behavioural and anatomical features". Journal of Neurology, Neurosurgery & Psychiatry. 67 (1): 35–38. doi:10.1136/jnnp.67.1.35. PMC 1736416. PMID 10369819.
- ↑ Vallar, Giusepppe (มีนาคม 1998). "Spatial hemineglect in humans". Trends in Cognitive Sciences. 2 (3): 87–95. doi:10.1016/S1364-6613(98)01145-0.
- ↑ extinction เป็นโรคทางประสาทที่ทำลายความสามารถในการรับรู้ตัวกระตุ้นแบบเดียวกันหลายตัวพร้อม ๆ กัน ในด้านตรงข้ามกับซีกสมองที่เสียหาย extinction โดยปกติเกิดขึ้นเพราะความเสียหายจากรอยโรคในสมองข้างหนึ่ง
- ↑ Iachini, Tina; Ruggiero, Gennaro; Conson, Massimiliano; Trojano, Luigi (2009). "Lateralization of egocentric and allocentric spatial processing after parietal brain lesions". Brain and Cognition. 69 (3): 514–20. doi:10.1016/j.bandc.2008.11.001. PMID 19070951.
- ↑ 7.0 7.1 Vaishnavi, Sandeep; Jesse Calhoun; Anjan Chatterjee (กุมภาพันธ์ 2001). "Binding Personal and Peripersonal Space: Evidence from Tactile Extinction" (PDF). Journal of Cognitive Neuroscience. 13 (2): 181–189. CiteSeerX 10.1.1.483.6296. doi:10.1162/089892901564243. PMID 11244544. S2CID 9438503. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012.
- ↑ 8.0 8.1 Kleinman, Jonathan; Melissa Newhart; Cameron Davis; Jennifer Heidler-Gary; Rebecca Gottesman; Argye Hillis (2007). "Right hemispatial neglect: Frequency and characterization following acute left hemisphere stroke" (PDF). Brain and Cognition. 64 (1): 50–59. doi:10.1016/j.bandc.2006.10.005. PMC 1949495. PMID 17174459. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012.
- ↑ 9.0 9.1 Kleinman, Jonathan; Melissa Newhart; Cameron Davis; Jennifer Heidler-Gary; Rebecca Gottesman; Argye Hillis (2007). "Right hemispatial neglect: Frequency and characterization following acute left hemisphere stroke (Fig.2)". Brain and Cognition. 64 (1): 50–59. doi:10.1016/j.bandc.2006.10.005. PMC 1949495. PMID 17174459.
- ↑ somatoparaphrenia เป็นประเภทหนึ่งของอาการหลงผิดมีตีมเดียว (monothematic delusion) ซึ่งคนไข้ปฏิเสธความเป็นเจ้าของแขนขาข้างหนึ่ง หรืออาจจะทั้งด้านของกาย คนไข้สร้างการกุเหตุเพราะจำเคลื่อน (confabulation) ว่า เป็นอวัยวะของใครกันแน่ หรือว่าอวัยวะนั้นมาอยู่ที่กายของเขาได้อย่างไร ในบางกรณี ความหลงผิดนั้นละเอียดซับซ้อนจนกระทั่งว่า คนไข้ปฏิบัติต่อและรักษาอวัยวะนั้น เหมือนกับเป็นอีกบุคคลหนึ่ง
- ↑ Oliver Sacks (1985). The Man Who Mistook His Wife For a Hat. Summit Books. ISBN 0-671-55471-9.
- ↑ Barthel ADL index เป็นลำดับเลขใช้ในการวัดความสามารถใน ADL ของบุคคลหนึ่ง
- ↑ Activities of Daily Living (ตัวย่อ ADL แปลว่า กิจกรรมในชีวิตประจำวัน) เป็นบทที่ใช้เกี่ยวกับการรักษาบำรุงสุขภาพ ที่หมายถึงกิจกรรมในชีวิตประจำที่ทำได้เองของบุคคลภายในที่อยู่ของตน ในที่กลางแจ้ง หรือทั้งสองอย่าง ผู้ทำงานในด้านสุขภาพปกติกล่าวถึงความสามารถหรือความไม่สามารถในการทำ ADL (กิจกรรมในชีวิตประจำวัน) ซึ่งเป็นเครื่องวัดสถานะความสามารถโดยกิจของบุคคล โดยเฉพาะในคนพิการหรือในคนชรา
- บรรณานุกรม
- Hans-Otto Karnath; A. David Milner; Giuseppe Vallar (2002). The cognitive and neural bases of spatial neglect. Oxford [Oxfordshire]: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-850833-5.
- Robertson, I.H., & Halligan, P.W. (1999). Spatial neglect: A clinical handbook for diagnosis and treatment. Hove, East Sussex:Erlbaum.
- Heilman, K.M and Valenstein, E. (2003) Clinical Neuropsychology: Fourth Edition
- Husain, Masud; Rorden, Chris (2003). "Non-spatially lateralized mechanisms i n hemispatial neglect". Nature Reviews Neuroscience. 4 (1): 26–36. doi:10.1038/nrn1005. PMID 12511859. S2CID 11450338.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Bartolomeo, Paolo (2014). Attention disorders after right brain damage: Living in halved worlds. London: Springer. ISBN 978-1-4471-5649-9.
- Bartolomeo, Paolo (2007). "Visual neglect" (PDF). Current Opinion in Neurology. 20 (4): 381–6. doi:10.1097/WCO.0b013e32816aa3a3. PMID 17620870. S2CID 18332604.
- Thomas Hoffman (23 พฤศจิกายน 2012). "The man whose brain ignores half of his life". The Guardian.
- Husain Masud (2008). "PDF". Scholarpedia. 3 (2): 3681. doi:10.4249/scholarpedia.3681.
- Robin Walker Unilateral Neglect: Clinical and Experimental Studies detailed book review at Monash University and University of Durham
- Schindler, l; Kerkhoff G; Karnath HO; Keller I; Goldenberg G. (2002). "Neck muscle vibration induces lasting recovery in spatial neglect". Journal of Neurology, Neurosurgery & Psychiatry. 73 (4): 412–9. doi:10.1136/jnnp.73.4.412. PMC 1738082. PMID 12235310.
- Vaishnavi, Sandeep; Jesse Calhoun; Anjan Chatterjee (กุมภาพันธ์ 2001). "Binding Personal and Peripersonal Space: Evidence from Tactile Extinction" (PDF). Journal of Cognitive Neuroscience. 13 (2): 181–189. CiteSeerX 10.1.1.483.6296. doi:10.1162/089892901564243. PMID 11244544. S2CID 9438503. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012.
- Kleinman, Jonathan; Melissa Newhart; Cameron Davis; Jennifer Heidler-Gary; Rebecca Gottesman; Argye Hillis (2007). "Right hemispatial neglect: Frequency and characterization following acute left hemisphere stroke" (PDF). Brain and Cognition. 64 (1): 50–59. doi:10.1016/j.bandc.2006.10.005. PMC 1949495. PMID 17174459. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012.
- Kleinman, Jonathan; Melissa Newhart; Cameron Davis; Jennifer Heidler-Gary; Rebecca Gottesman; Argye Hillis (2007). "Right hemispatial neglect: Frequency and characterization following acute left hemisphere stroke (Fig.2)". Brain and Cognition. 64 (1): 50–59. doi:10.1016/j.bandc.2006.10.005. PMC 1949495. PMID 17174459.
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |