ภัยพิบัติฮิลส์โบโร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภัยพิบัติฮิลส์โบโร
97 Avenue sign.jpg
97 อเวนิว
วันที่15 เมษายน ค.ศ. 1989
สถานที่สนามกีฬาฮิลส์โบโร
เชฟฟิลด์
แคว้นอังกฤษ
สาเหตุเหยียบกัน
บาดเจ็บ766 คน
เสียชีวิต97 คน (94 คน เมื่อ 15 เมษายน ค.ศ. 1989)

ภัยพิบัติฮิลส์โบโร หรือ โศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร (อังกฤษ: Hillsborough disaster) เป็นอุบัติเหตุเบียดกันจนเสียชีวิต เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1989 เป็นวันที่การแข่งขันรอบรองชนะเลิศของเอฟเอคัพระหว่างลิเวอร์พูลกับน็อตติงแฮมฟอเรสต์ต้องตัดสินชะตาเพื่อหาผู้ชนะเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกับเอฟเวอร์ตัน สนามที่ใช้เป็นสนามแข่งคือ สนามฮิลส์โบโร ของเชฟฟิลด์เวนส์เดย์ ก่อนแข่งมีการกำหนดอัฒจรรย์สำหรับกองเชียร์ทั้งสองทีมและถูกทักท้วงโดยลิเวอร์พูลมาก่อนหน้าแล้วเนื่องจากทีมลิเวอร์พูลซึ่งมีแฟนบอลมากกว่าแต่ได้ฝั่งที่นั่งที่จุคนได้น้อยกว่าคือ เลปปิงส์ เลน เอนด์ ทีจุได้ 14,600 ที่ แต่ทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ทีมที่เล็กกว่าแต่ได้อัฒจรรย์ฝั่งที่จุคนมากกว่าที่ฝั่งด้านตะวันออกหรือ สเปียน ค็อป ที่จุ 21,000 ที่ และเป็นความผิดพลาดแรกของฝ่ายจัดการแข่งขันก่อนที่เหตุการณ์เศร้าสลดจะตามมา การแข่งขันมีกำหนดการณ์คือเวลา 15.00 น. และมีการประกาศให้แฟนบอลควรเข้าสนามก่อนเวลา 14.45 น. แฟนบอลของน็อตติงแฮมฟอเรสต์เข้าสู่สนามไม่ยากนักเพราะจำนวนที่น้อย แต่แฟนบอลลิเวอร์พูลที่ประสบปัญหาการจราจรและการตรวจตราอย่างเข้มงวด รวมทั้งรู้อยู่แล้วว่าตั๋วที่มีจำกัดกับความต้องการชมของแฟนบอลที่มีมากกว่าทำให้มากระจุกอยู่ที่ทางเข้าที่มี 3 ทางและมีช่องเช็คตั๋วแบบเก่าที่ใช้การหมุนอยู่ 7 ตัว

สนามฮิลส์โบโรในปัจจุบัน
ป้ายอนุสรณ์ที่จารึกชื่อและอายุผู้เสียชีวิต

และยิ่งใกล้เวลาแข่งแฟนบอลยิ่งกังวลใจและอยากจะเข้าไปชมเกมส์ในสนามอย่างรวดเร็วทำให้ทางเข้าที่ค่อนข้างแคบถูกผลักดันจากแฟน ๆ ข้างหลัง ในขณะที่แฟนบอลบางคนก็ไม่มีตั๋วชมเกมทำให้ถูกกัก แฟนบอลข้างหลังก็ผลักดันและเมื่อคนคุมเห็นฝูงชนที่แออัดก็เลยเปิดประตูทางเข้าประตู C ที่ไม่มีช่องเช็คตั๋วทำให้กองทัพแฟนบอลแห่กันเข้าไปช่องทางนั้นอย่างมากมาย ประกอบกับการแข่งขันเริ่มไปแล้ว เสียงกองเชียร์ในสนามโห่ยิ่งเพิ่มแรงผลักดันถาโถมเข้าไป และทางเข้า ประตู C ที่นำไปสู่ล็อกผู้ชมที่ 3 และ 4 ในสนามที่รองรับผู้ชมได้เพียง 1,600 คน แต่การถาโถมแบบไม่มีทิศทางเพราะไม่ได้ผ่านช่องเช็คตั๋ว ทำให้แฟนบอลกว่า 3,000 คนเข้าไปอัดกันในล็อกที่นั่ง 3 และ 4 และ เนื่องจากในสมัยนั้นแต่ละล็อกจะมีรั้วกั้นเพื่อป้องกันบรรดาฮูลิแกนส์หรืออันธพาลลูกหนังที่ก่อเรื่องในสมัยนั้น แฟนบอลที่แห่แหนเข้าไปจากข้างหลังก็อัดแฟนบอลที่อยู่ข้างหน้าจนติดรั้ว และเมื่อเริ่มการแข่งขันมา 4 นาที ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ ก็ซัดลูกข้ามคานทำให้เรียกเสียงเชียร์จากแฟน ๆ ในสนามแต่กลับเป็นการเร่งเร้าให้กองเชียร์นอกสนามทะลักเข้ามาในสนาม แฟนบอลถูกอัดจนหายใจไม่ออกมีบ้างที่ปีนกำแพงหนีออกมาได้ การแข่งขันที่เริ่มไปเพียง 6 นาทีตำรวจก็ให้สัญญาณหยุดการแข่งขัน ในเวลา 15.06 น. และต่างเข้าไปช่วยแฟนบอลที่โชคร้าย แต่โศกนาฏกรรมที่เลวร้ายที่สุดในสนามฟุตบอลก็เกิดขึ้นเพียงเพราะความผิดพลาดในการจัดการตั้งแต่แบ่งที่นั่ง การดูแลการเข้าสนามและการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์

ในที่สุดมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 95 ราย และอีกหนึ่งรายเสียชีวิตที่โรงพยาบาล รวมทั้งสิ้น 96 ราย ซึ่งล้วนแต่เป็นแฟนของลิเวอร์พูล

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ว่ากันว่าเป็นเพราะความสะเพร่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อนุญาตให้แฟนลิเวอร์พูลกว่า 2,000 คน แออัดเข้าไปในอัฒจรรย์ฝั่ง เลปปิงส์ เลน เอนด์ ในช่วงก่อนที่จะเริ่มเกมไม่กี่นาที แถมยังปล่อยให้เข้าไปในชั้นที่มีแฟนบอลแออัดกันแน่นอยู่แล้ว แทนที่จะเป็นฝั่งที่มีแฟนบอลเบาบางกว่า ทำให้แฟนบอลที่อยู่ด้านหน้าโดนอัดติดกับรั้วเหล็ก ซึ่งรั้วเหล็กดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างไม่น่าเชื่อ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์บางรายกล่าวว่า แฟนบอลที่โดนอัดมาติดรั้วหลายรายเริ่มมีอาการตัวเขียวหน้าเขียว ขณะที่ผู้เสียชีวิตบางรายสิ้นใจเพราะขาดอากาศหายใจขณะทียังยืนอยู่

หลังเหตุการณ์นี้ทำให้การเข้าชมฟุตบอลในสนามของลีกสูงสุดของอังกฤษต้องเป็นเปลี่ยนอัฒจรรย์แบบยืนเป็นแบบมีที่นั่งทั้งหมดและให้รื้อรั้วเหล็กออก ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับฟุตบอลยุคใหม่ในอังกฤษ

ในปี ค.ศ. 2012 ได้มีการสอบสวนเหตุการณ์นี้ใหม่อีกครั้ง พบว่าในรายงานเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่เชื่อว่ามีความครอบคลุมและสมบูรณ์พร้อมแล้ว พบว่ามีหลายจุดในรายงานฉบับดังกล่าวที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และหลายประเด็นก็ไม่ถูกพูดถึง อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นแง่บวกของรายงานฉบับดังกล่าว คือ การที่ทำให้มีการออกกฎให้ทุกสนามใน 2 ดิวิชั่นของอังกฤษ ปรับอัฒจรรย์เป็นที่นั่งทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2014

ในปี ค.ศ. 2014 ในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือนเมษายน ซึ่งเป็นวาระครบ 25 ปีของอุบัติเหตุครั้งนี้ ก่อนการเตะฟุตบอลทุกระดับในอังกฤษไม่ว่าจะเป็นรายการพรีเมียร์ลีกหรือเอฟเอคัพ จะมีการยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 6 นาที และจะเริ่มเกมในนาทีที่ 7 เนื่องจากเวลาที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เป่านกหวีดให้ยุติการแข่งขันคือเวลา 15.06 น. ก็คือ หลังจากที่เกมเอฟเอเคัพในครั้งนั้นเริ่มไปได้ 6 นาทีแล้วนั่นเอง[1][2]

อ้างอิง[แก้]

  1. หน้า 20 กีฬา, รำลึก 25 ปี ฮิลส์โบโรห์ บทเรียนที่เปลี่ยนลูกหนังผู้ดีไปตลอดกาล โดย ผยองเดช. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,560: วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556 แรม 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย
  2. "รำลึกฮิลส์โบโร่!บอลผู้ดีสัปดาห์นี้เริ่มเตะช้า7นาที". สยามสปอร์ต. สืบค้นเมื่อ 15 April 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์[แก้]

53°24′42″N 1°30′06″W / 53.41154°N 1.50154°W / 53.41154; -1.50154พิกัดภูมิศาสตร์: 53°24′42″N 1°30′06″W / 53.41154°N 1.50154°W / 53.41154; -1.50154