พูดคุย:รสนา โตสิตระกูล

ไม่รองรับเนื้อหาของหน้าในภาษาอื่น
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รสนา โตสิตระกูล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิประเทศไทยและสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศไทย ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ รสนา โตสิตระกูล หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
 โครง  บทความนี้อยู่ที่ระดับโครง ตามการจัดระดับการเขียนบทความ
รสนา โตสิตระกูล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิกิการเมืองและสถานีย่อย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมเรื่องราวทุกอย่างเกี่ยวกับการเมือง ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในโครงการนี้ได้ด้วยการช่วยกันพัฒนาบทความ รสนา โตสิตระกูล หรือแวะไปที่หน้าโครงการหรือหน้าสถานีย่อยเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
 โครง  บทความนี้อยู่ที่ระดับโครง ตามการจัดระดับการเขียนบทความ

เบื้องหลังการศาลปกครองสูงสุด กรณีแปรรูปการไฟฟ้า จากบทสัมภาษณ์ ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 26/3/49 สมควรศึกษาไว้ครับ --ข้อความนี้ไม่ได้ลงชื่อ ซึ่งออกความเห็นโดยผู้ใช้ KuroiSchwert (พูดคุยหน้าที่เขียน) 04:01, 5 กรกฎาคม 2557 (ICT)

http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=26/Mar/2549&news_id=122125&cat_id=220100 http://www.thaipost.net/index.asp?bk=tabloid&post_date=26/Mar/2549&news_id=122126&cat_id=220100


(ใครจะเอามาเขียน ระวังโดนฟ้องนะจ๊ะ เพราะที่สุภิญญา กลางณรงค์โดนฟ้อง 400 ล้าน ก็มาจาก ไทยโพสต์ แทบลอยด์ วันอาทิตย์เหมือนกัน :-P

'ฟ้ามีตา' รสนา โตสิตระกูล[แก้]

26 มีนาคม 2549 กองบรรณาธิการ

"เรื่องของคุณสมบัติเราชี้ แต่เราไม่ได้ลงลึกถึงขนาดเท่ากับศาลปกครอง เราเพียงแต่คิดว่าตรงนี้เอาใส่ๆ เข้ามาเพื่อว่ามันจะเป็นประเด็น"

จะบอกว่าเป็นเซอร์ไพรส์ก็ได้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เพราะก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามเคลื่อนไหวคัดค้านการแปรรูป กฟผ.มาเนิ่นนานแต่ไม่เป็นผล ไม่ว่าจะมีการชุมนุมยืดเยื้อ หรือต่อสู้ในรูปแบบใด สุดท้าย รัฐบาลก็ยังแปรรูป กฟผ.เป็นบริษัทมหาชน มีการขายหุ้นให้พนักงานและประชาชน จนกระทั่งจะนำเข้าตลาดหุ้นอยู่แล้ว

แม้แต่ตอนที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคไปยื่นฟ้องต่อศาล หลายฝ่ายก็ยังมองว่าเป็นความคาดหวังลมๆ แล้งๆ เพราะไม่คิดว่าจะชนะ ไม่คิดว่าการร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับจะมีช่องโหว่

แต่ท้ายที่สุดก็กลับตาลปัตร อย่างที่ฝ่ายผู้ฟ้องเองก็ไม่คาดคิด เพราะถึงแม้ศาลปกครองจะไม่วินิจฉัยในประเด็นหลักที่ยื่นฟ้องไปว่า พระราชกฤษฎีกาไม่น่าจะมีอำนาจล้มเลิกพระราชบัญญัติ แต่ด้วยกระบวนวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง ที่ใช้วิธีการไต่สวน ศาลลงมาเรียกดูพยานหลักฐานเอง ก็ทำให้พบว่ากระบวนการในการแปรรูปไม่ถูกต้อง ตั้งแต่การแต่งตั้งบุคคล การทำประชาพิจารณ์ และการโอนสาธารณสมบัติไปเป็นของบริษัท

นั่นจึงเป็นอย่างที่รสนา โตสิตระกูล สรุปว่า "ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า"


รูเข็มในกำแพง

"พวกเราในเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคพยายามรณรงค์เรื่องค่าเอฟที การขึ้นค่าไฟที่ไม่ค่อยถูกต้อง หรือเรื่อง ปตท.ที่เชื่อมโยงกับเรื่องค่าไฟ ตอนที่จะมีการนำเข้าตลาดฯ ตอนนั้นพวกเราก็รณรงค์นะ ไปปราศรัยไปไฮด์ปาร์กที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สีลม แต่ปรากฏว่าข่าวลงน้อยมา ทีวีไม่ต้องพูดถึง หนังสือพิมพ์ลงสักหนึ่งย่อหน้า เราก็รู้สึกหมดหวังนะ โหเข้าตลาดฯ ไปแล้ว พนักงาน กฟผ.ก็ซื้อไปแล้ว ก็คิดว่าเอ๊ะจะทำยังไงดี อยู่มาวันหนึ่งเจอสุริยะใสก็คุยกันว่าจะทำยังไงดีเรื่องนี้ ข่าวไม่ลงเลย เขาเลยบอกว่าพี่สนใจไหมผมเคยได้ยิน อ.คณิน (บุญสุวรรณ) พูดถึงเรื่องกฎหมาย แต่บังเอิญผมก็ไม่ได้ตั้งใจฟังนะ ตอนนั้นก็หูผึ่ง เลยบอกว่านัดเจอคุณคณินหน่อย ก็ถามแกว่ามีช่องทางกฎหมายยังไง คุณคณินก็บอกว่าศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาหรือมติ ครม.ต่างๆ"

"ตอนนั้นคุณคณินก็ชี้ประเด็นหลายอย่าง เช่นเรื่องเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นสาธารณสมบัติ ซึ่งไม่เป็นธรรมที่จะโอนสมบัติที่ประชาชนมีส่วนยกให้กับรัฐ ถูกบังคับเวนคืนในราคาถูกๆ หรืออำนาจการรอนสิทธิต่างๆ ไปเป็นของเอกชน แล้วคุณคณินก็พูดถึงประเด็นกฎหมายว่าการยกเลิกพระราชบัญญัติโดยพระราชกฤษฎีกามันเป็นนิติประเพณีที่ไม่ค่อยถูกต้อง แต่มีการอ้างคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจสามารถทำได้ ตอนนั้นเราก็พยายามหาช่องกฎหมายอยู่ว่าในรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งบอกว่าสามารถออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งในพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับได้อ้างถึงมาตรานี้ด้วย แต่ว่าจริงๆ มันไม่น่าจะใช้ได้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่ใช่กระทรวง ทบวง กรม การยุบเลิกกระทรวง ทบวง กรมทั้งหลายทรัพย์สมบัติยังคงเป็นของส่วนกลาง แต่ว่าการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทสามารถเอาสมบัติออกไปขาย ซึ่งตรงนี้ไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย ก็เลยเออน่าสนใจ น่าจะลอง"

"ตอนนั้นเวลาที่เขากำลังจะเอาเข้าตลาดฯ ก็กระชั้นชิดเข้ามาแล้ว เลยบอกคุณคณินว่าช่วยร่างมาสักดราฟต์หนึ่งได้ไหม คุณคณินก็ช่วยร่างให้ แต่ดราฟต์นั้นก็อาจจะยังไม่ได้มีข้อกฎหมายที่กระชับรัดกุมที่จะล็อกแต่ละประเด็นเอาไว้ เป็นการเขียนในส่วนที่เป็น concept idea ซึ่งก็เป็นประโยชน์ หลังจากได้ดราฟต์นั้นมาเราก็คิดว่าน่าจะยื่น ก็ได้คุณนิติธร ล้ำเหลือ มาช่วยร่างให้กระชับรัดกุมมากขึ้น ซึ่งตอนนั้นหลายคนก็บอกโอ๊ยผีไปถึงป่าช้าแล้ว มันจะทันเร้อ แม้แต่การ์ตูนในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งก็เขียนล้อเลียน อ้อยเข้าปากช้างแล้วนะหนู อะไรทำนองนี้ หลายคนก็ถาม พี่แล้วมันจะชนะเหรอ สำหรับตัวพี่เองเวลาจะทำอะไรสักเรื่องเราไม่ค่อยแคร์ว่าจะแพ้หรือชนะ เราแคร์ว่าเรื่องนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า สมมติมันถูกต้องเราก็ทำ ถ้าเราเดินไปถึงกำแพงแล้วมันตัน เดินไปไม่ได้ แต่ถ้าเราเห็นรูเข็มเล็กๆ เพียงรูเดียวบนผนังและมีแสงลอดมา จงอย่าหยุดยั้ง ต้องทะลวงบุกฝ่าไป ด้วยความคิดแบบนั้น หลายคนถามว่าชนะเหรอ เสียเวลาไหม ก็บอกว่าโอ๊ยประชาชนต้นทุนต่ำจะตาย คุณไม่มีต้นทุนอะไร มีแต่เสมอตัวกับชนะ เพราะฉะนั้นไม่เสียหายที่จะลอง"

"แต่ตอนนั้นก็คือว่าเรื่องนี้มันเป็นส่วนหนึ่งที่จิตใจของบรรพบุรุษ จิตใจของผู้คนประชาชน อาจจะดูเหมือนจิตนิยม แต่พี่เชื่อว่ามันเป็นพลังอะไรบางอย่าง ในการที่คนจำนวนมากบอกว่าเขาไม่อยากให้แปรรูป แต่เขาไม่มีช่องทางว่าเขาจะทำอะไร จะทำอะไรได้กฎหมายเป็นกฎหมาย แต่ตอนนั้นความรู้สึกของเราคือลอง และการที่ได้เริ่มทำอันนี้ขึ้นมาพี่คิดว่า แหม เราก็ไม่ได้คิดว่าเราเก่งนะ ก็ถือว่าตัวเองเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง และถ้าหากว่าเราแต่ละคนพยายามทำตัวเองในฐานะที่เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้อง เราก็อาจจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอันนั้นได้ คือในทางพุทธพี่เชื่อว่ากุศลธรรมทั้งหลายแม้จะเพียงน้อยนิดก็อย่าไปเมินหรือไม่เห็นความสำคัญ แม้เพียงน้อยนิดแต่ก็ทำไป และถ้ายังไม่ประสบผลก็ถือเสียว่าเหตุปัจจัยมันยังไม่พร้อม แต่เราสามารถตอบกับตัวเองได้ว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว จากความคิดตรงจุดนั้นทำให้คิดว่า กฟผ.เราลองไม่เสียหายอะไร"

คอนเซ็ปต์แรกที่ยื่นฟ้องไม่ได้มีเรื่องคุณสมบบัติบุคคลหรือเรื่องวิธีการทำประชาพิจารณ์เลยใช่ไหม เรื่องพวกนี้มาทีหลัง

"ใช่ ตอนที่เขียนดราฟต์แรกเรามีเวลาน้อยมากนะ เขียนได้แต่กรอบกว้างๆ โดยที่ตอนนั้นต้องเรียกว่าบีบคอคุณนิติธร แกกำลังทำเรื่องวิทยุชุมชนอยู่ ไปบอกให้แกช่วยปรับปรุงร่างฉบับของคุณคณินให้หน่อย เขาก็บอกพี่ผมไม่มีเวลาหรอก เราบอกไม่ได้ต้องพรุ่งนี้ นับช่วงเวลาแล้วเขาจะแปรรูปวันที่ 16 เราไม่มีเวลาแล้ว ถกเถียงกันจนพี่สมชาย หอมละออ ต้องเข้ามาบอกนิติธรพักเรื่องวิทยุชุมชนไว้ก่อน ทำเรื่องนี้ก่อน ซึ่งตอนนั้นเขาก็บอกไม่มีข้อมูลเลยนะพี่ ไม่รู้ละเธอต้องทำ ไม่ต้องนอนก็ไม่ต้องนอน พรุ่งนี้ต้องส่ง ก็ได้ผล"

"ฉะนั้นกรอบแรกมันจะเป็นกรอบกว้าง แต่ว่ามันคือตัวที่เป็นสาระ แต่เรื่องคุณโอฬารคุณปริญญา เราได้รับความช่วยเหลือในเรื่องข้อมูลจากหลายคน โดยเฉพาะคุณชื่นชม สง่าราศี กรีเซ่น แกตามข้อมูลพวกนี้มาตลอด คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหลาย อย่าง อ.ปรานี (ทินกร) อ.เดือนเด่น (นิคมบริรักษ์) อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เป็นนักวิชาการที่มา backup ข้อมูลเราทั้งนั้น และหลังจากที่เราส่งดราฟต์ไป ทางฝ่ายที่ถูกเราฟ้องก็ทำฉบับแก้ข้อหามา เราก็เอามาศึกษาว่าสิ่งที่เขาแก้คืออะไรและเราต้องตีประเด็นของเขาให้ตก เขาพูดประเด็นว่าเรามาฟ้องหลังจาก 90 วันแล้ว หมดอายุความแล้ว เราบอกนี่มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์สาธารณะ พูดอย่างนั้นไม่ได้หรอก เราตีไปที่มาตรา 26-27 ใน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกำหนดว่าอำนาจที่ให้กับบริษัท กฟผ.จะต้องใช้อย่างจำกัดนะ โดยต้องก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจเกิน สิ่งเหล่านั้นเราสามารถชี้แจงแต่ละประเด็นได้ว่าถ้าหากมีการแปรสภาพแล้วจะขัดต่อตัวกฎหมายของเขาเอง เพราะมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชน เนื่องจากอะไรเราก็แจกแจงรายละเอียดเข้าไป ซึ่งตรงนั้นเราคิดว่าเป็นตัวเนื้อๆ นะ แต่กรณีคุณโอฬาร ดร.ปริญญา เราถือว่าเป็นประเด็นทางเทคนิค"

แต่ศาลปกครองจะตัดสินเรื่องทางเทคนิค หรือเรื่องของกระบวนการว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะไม่มีตัดสินว่านโยบายนี้ถูกหรือผิด

"ใช่ แต่เราก็ไม่ได้ไปโต้ประเด็นเรื่องนโยบายด้วยนะ เราก็โต้ประเด็นทางกฎหมายเหมือนกัน อย่างกรณีถ้ามีการแปรรูปแล้วยังมีอำนาจมหาชนติดไปกับบริษัท กฟผ. ซึ่งอำนาจตรงนั้นจะทำให้คุณไม่เสมอภาคทางด้านกฎหมาย เพราะในเมื่อคุณเป็นเอกชนแล้ว แต่คุณยังมีอำนาจไปรอนสิทธิ์คนอื่น คุณยังสามารถได้รับการประกันหนี้จากกระทรวงการคลัง ซึ่งบริษัทอื่นไม่มี คุณได้เปรียบเขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเป็นรัฐวิสาหกิจที่เขาอ้าง ทำให้เขาไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งทำให้เกิดความไม่เสมอภาค และการที่เขามีอำนาจในการจัดหาเชื้อเพลิง 50 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือค่อยไปประมูล แต่การประมูลก็ต้องมาผ่าน กฟผ. เพราะฉะนั้น กฟผ.คุมหมด เป็นผู้ขายรายเดียว กฟผ.ก็ย่อมมีอำนาจเหนือคนอื่น และยิ่งทรัพย์สินหลายอย่างที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี เขาบอกว่าเฉพาะทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี ก็คือถ้าคุณเจ๊งเขายึดทรัพย์คุณไม่ได้ ตรงจุดนี้ก็ทำให้ กฟผ.ได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าองค์กรเอกชนอื่น ซึ่งต้องถือว่ามันขัดต่อกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ และในฐานะที่ทรัพย์สินหลายอย่างเป็นของประชาชนส่วนรวม เวลาคุณไปขายคุณตีราคาที่ต่ำมาก เราก็แจกแจงตรงนี้ การตีราคาที่ต่ำมากตรงนี้ย่อมไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ"

"ที่เราคิดคือตรงนี้เป็นเนื้อ เรื่องการฟังประชาพิจารณ์หรือรับฟังความคิดเห็นก็จะเอาตัวจำนวนคนที่มาฟังถ้าเทียบปริมาณของการจัดของเขา เทียบสัดส่วนแล้วมันน้อยมาก ซึ่งขัดต่อกฎหมายของเขาด้วย และก็ไปดูในเรื่องของคุณสมบัติ อย่างคุณโอฬาร ไชยประวัติ ดร.ปริญญา นุตาลัย เป็นคุณสมบัติที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจเอง ตรงจุดนี้เราชี้ แต่เราไม่ได้ลงลึกถึงขนาดเท่ากับศาลปกครอง เราเพียงแต่คิดว่าตรงนี้เอาใส่ๆ เข้ามาเพื่อว่ามันจะเป็นประเด็น"

"เพราะตอนแรกเราตีความว่ารัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้เจรจาสงบศึกกับพนักงาน กฟผ.แล้ว และก็ตกลงว่าจะไม่มีการนำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดร.ชัยอนันต์มาพูดเรื่องนี้ และก็เซ็นร่วมกัน รับรู้กันว่าจะปรับปรุง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจโดยที่จะร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ขึ้นมา ว่าด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด และก็มีการเชิญ ดร.รังสรรค์ ดร.ปรานี ดร.เดือนเด่น อีกหลายคนเข้ามาเป็นกรรมการยกร่าง เพื่อที่จะดูกฎหมายเรื่องนี้ ก็ทำงานมา 1 ปี แต่ปรากฏว่าหลังจากเลือกตั้งที่เขาได้ 19 ล้านเสียง รัฐบาลก็พลิกทันที ข้อตกลงนี้ไม่เอาแล้วนะ เขาแปรรูปเลย วันที่ 24 มิ.ย. 2548 คณะอาจารย์ทั้งหลายที่มารับหน้าที่ช่วยทำร่างกฎหมายเลยลาออก เห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจ ตรงจุดนี้เราก็บอกว่าการรับฟังความคิดเห็นเป็นการกระทำก่อนที่เขาจะมาเจรจากับพนักงาน กฟผ. ฉะนั้นเมื่อมีการเจรจามีการเซ็นข้อตกลงกันแล้ว ต้องถือว่าการรับฟังความคิดเห็นนั้นเป็นโมฆะโดยปริยาย แต่ถ้าเขายังอ้างว่าอันนั้นยังจะใช้อยู่ เราก็บอกว่าบุคคลที่อยู่ในคณะกรรมการตรงนี้มีคุณสมบัติขัดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ เช่น คุณโอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องโทรคมนาคม เพราะฉะนั้นการมาอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ก็ถือว่าเป็น conflict of interest ส่วนคุณปริญญาก็เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี มาเป็นประธานรับฟังความคิดเห็นก็ขัดกับคุณสมบัติที่ระบุเอาไว้"

"เราไม่ได้คิดว่าประเด็นนี้จะสำคัญมาก เพียงแต่รวมๆ เสริมเข้ามา แต่ปรากฏว่าศาลให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง conflict of interest มาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าหลังจากที่ศาลตัดสินตรงนี้แล้ว ต้องบอกว่าคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ถือว่าเป็นใบเสร็จ ที่ชี้ให้เห็นว่าการทับซ้อนในเรื่องผลประโยชน์โดยครอบครัวชินวัตรกับความเป็นนายกรัฐมนตรีมันเกิดขึ้น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาไม่ว่านักวิชาการ องค์กรเอกชน หรือใครต่อใครที่พูดถึง conflict of interest ก็มักจะไม่มีใบเสร็จที่จะพูดได้ เป็นเพียงแค่การเห็น สิ่งที่ส่อว่ามันเป็นเช่นนั้น พอคุณสุภิญญาพูดก็ถูกฟ้อง 400 ล้าน หรืออย่างงานวิจัยของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ที่ชี้ให้เห็นว่าหุ้นที่เป็นของนักการเมืองในตลาดหลักทรัพย์มันจะมีการเติบโตที่สูงกว่าหุ้นโดยทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด มันก็เป็นงานวิจัย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเอามาใช้เป็นใบเสร็จเสียทีเดียว การตัดสินของศาลปกครองในครั้งนี้เป็นใบเสร็จ ซึ่งเป็นข้อดีที่เราจะสามารถสาวถึงเรื่องอื่นต่อไป"

หลักของศาลปกครองคือเน้นเรื่องกระบวนการ ไม่ชี้เรื่องเนื้อหาว่าถูกหรือผิด

"ถูกต้อง ตอนนั้นเราก็คิดอยู่เหมือนกัน เวลาที่เราทำข้อมูลทำคำร้องหรือคำร้องเพิ่มเติม เราก็ต้องคิดต้องเดาใจว่าศาลปกครองเขาจะต้องดูเรื่องอะไร อย่างส่วนที่คุณคณินให้ไอเดียมามันเป็น concept แต่ถ้าเขียนแค่นั้นมันจะไม่พอ อาจถูกตีตกได้ แต่เราพยายามเจาะในกระบวนการว่ามันไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตอนนั้นเราก็พยายามที่จะจัดลำดับว่าส่วนนี้เป็นเนื้อหา ส่วนนี้เป็นกระบวนการ ถ้าหากศาลจะให้เราแพ้ ศาลต้องตอบทุกเรื่อง ถ้าเขาตอบไม่ได้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเราต้องชนะ ฉะนั้นเราก็พยายามเก็บกวาดทุกอย่าง ไม่ให้มันตกหล่นเท่าที่พอจะนึกออก ช่วงนั้นก็ทำงานกันหนักพอสมควร ต้องทำตารางกันขึ้นมาเลยว่าคำร้องฉบับแรกว่าอะไรบ้าง และเขาค้านเรื่องอะไรมาบ้าง และเราจะตีโต้เขาในเรื่องอะไรบ้าง และการตีโต้อันนี้มีตัวอย่างในเรื่องอะไร ทำเป็นตัวอย่างออกมาเลย ซึ่งก็ได้อาศัยนักวิชาการมาช่วย หลังจากทำตารางนี้ออกมาก็อาศัยนักกฎหมายในการมาแต่งร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกัน เลยคิดว่าความสำเร็จอันนี้มีคนที่อยู่เบื้องหลังเยอะ คือตัวเองเสนอหน้าแต่ว่าจริงๆ มีคนที่อยู่เบื้องหลังเยอะ ต้องถือว่าคนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เราชนะ"

ปรากฏว่าศาลก็ไม่ได้เอาคอนเซ็ปต์แรกมาตัดสินด้วย

"ใช่ ประเด็นอื่นๆ ที่ว่าใช้พระราชกฤษฎีกามายกเลิกพระราชบัญญัติเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ ศาลไม่ได้จับอันนี้เลย แต่อย่างน้อยที่สุดประเด็นที่ตรงกันคือเรื่องกระบวนการกับเรื่องสาธารณสมบัติ ซึ่งเป็นสมบัติของคนทุกคน เมื่อมีการแปรสภาพแล้ว มันกลายเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและขัดกับกฎหมาย"

"ตอนนั้นจริงๆ เราพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะความที่เราไม่เชื่อศาลรัฐธรรมนูญ เราก็ยังกลัว คือตอนนั้นก็มีการเถียงกันในหมู่นักกฎหมายว่าเอ๊ะถ้าเราไปพูดว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ พวกนี้ก็จะบอกว่าต้องไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าอย่างนั้นก็เสร็จเลย แต่เราบอกเราไม่ฟ้องเพราะจริงๆ เราไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่แล้ว เราต้องการฟ้องในส่วนที่เป็นพระราชกฤษฎีกา แต่เนื่องจากมันโยงไปถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย ตอนนั้นหลายคนก็พยายามตีความว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความมาแล้วว่าไม่ขัด พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ แล้วจะแก้ยังไงตรงจุดนี้ นักกฎหมายหลายคนก็มาช่วยกันถกเถียง"

"ตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่ขัด คือพูดถึงในเชิงหลักการทั่วไป แต่ยังไม่มีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น ฉะนั้นในเรื่องนี้มันเป็นกรณีตัวอย่าง ว่า กฟผ.เป็นกิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานและมีลักษณะพิเศษที่ไปเกี่ยวข้องกับชาวบ้านเยอะ เกี่ยวข้องกับการไปรอนสิทธิเขา เกี่ยวข้องกับการเวนคืน ซึ่งเป็นการบังคับเขา ประชาชนอาจจะไม่พอใจแต่ก็ต้องยอมเพราะมันเป็นอำนาจรัฐ แต่รัฐทำอย่างนั้นได้โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ถ้าคุณเวนคืนแล้วเอาทรัพย์สินเห่านี้ไปแปรเป็นของเอกชน มันก็หมดความชอบธรรม เราก็โต้เถียงกันในประเด็นนี้ ก็บอกไม่เป็นไร ถ้าหากว่าจะต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ศาลปกครองเป็นคนส่งไปเอง แต่เราจะไม่ไป ซึ่งในช่วงนั้น อ.ชัยอนันต์ลุกขึ้นมาตอบโต้พวกเราบอกว่าถ้าขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสิ ไปยื่นศาลปกครองได้ยังไง ศาลปกครองไม่ควรจะตัดสินสิ่งที่เป็นความกังวลในอนาคต ตอนนั้นเราก็ตอบโต้กันนะ พี่ก็เขียนบทความโต้ อ.ชัยอนันต์ จนบัดนี้แกก็ยังไม่ได้ตอบสิ่งที่เราตั้งคำถามไป แต่ก็เอาละ อย่างน้อยที่สุดแกก็สละเรือก่อนที่เรือจะล่ม ซึ่งก็โอเค แต่ตอนนี้ก็ทำให้เราเห็นเหมือนกันว่าศาลไม่ไปแตะสิ่งเหล่านั้นเลย เรื่องความกังวลในอนาคตทั้งหลายที่เราพูดตั้งยืดยาว แต่ศาลมาตีในเรื่องของกระบวนการ ตีในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ตีในเรื่องสิ่งที่เป็นทรัพย์สมบัติส่วนรวมที่ไม่สามารถจะยกให้เอกชนได้ ซึ่งเพียงแค่นี้เราก็ถือว่ามันมีพื้น มีบรรทัดฐานที่เราจะไปดูในเรื่องอื่น"


แปรรูป-จะไปทางไหน

การที่ศาลมีคำพิพากษาอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าสิ้นสุดเพราะรัฐบาล-ถ้ายังอยู่ อาจจะตั้งต้นแปรรูปใหม่ได้

"แต่เขาจะแปรรูปโดยเอาทรัพย์สมบัติที่เป็นส่วนกลางไปไม่ได้ เพราะจริงๆ เราเองไม่ได้ค้านการแปรรูปทุกอย่าง สมมติโรงไฟฟ้าแทนที่รัฐจะลงทุนเองก็ตัดให้เอกชนมาลงทุนก็ได้ ซึ่งการลงทุนและเขาแข่งขันกันมันก็ต้องทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ราคาต่ำลง และรัฐเป็นคนรับซื้อ"

ถ้าตีความตามนี้จะเอาโรงไฟฟ้าไปขายได้ไหม

"ก็ต้องไปดู โรงไฟฟ้าเป็นตัวผลิตไฟหรือว่าเป็นอะไร ถ้าเป็นตัวผลิตอย่างเดียวก็อาจจะได้ แต่ว่ารัฐบาลรักษาการไม่ควรทำอะไรได้ มันควรจะดูทั้งระบบว่าในการปรับปรุงประสิทธิภาพของ กฟผ.ทั้งหมดควรจะเป็นยังไง เพราะในระบบของการไฟฟ้ามันมีทั้งระบบผลิต ระบบสายส่ง ระบบขายปลีก คุณจะแปรจุดไหน ส่วนไหนมันมีธรรมชาติของการผูกขาด 100 เปอร์เซ็นต์รัฐต้องเก็บไว้ แต่ส่วนไหนที่ไม่ใช่ ที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญ ถ้ามีความจำเป็นก็อาจจะแปรรูปไปได้ มันมีการประชาพิจารณ์และเสนอรูปแบบทั้งสภาที่ปรึกษาฯ ทั้งวุฒิสภา คุยกันเยอะแยะ ทำหนังสือออกมาเป็นเล่ม ปรากฏว่ารัฐบาลไม่เคยเอาไปดูเลย พอบอกจะแปรรูปแปรทันทีเลย คุณทักษิณก็บอกว่าตายเป็นตาย ต้องแปรให้ได้ ซึ่งทำให้คนเกิดความสงสัยว่าทำไมต้องตายเป็นตายด้วย"

"แล้วดูไปตีราคาทรัพย์สิน กฟผ.มีลักษณะที่ไม่สุจริต เพราะเขาตีมูลค่าเป็นหุ้น 8,000 ล้านหุ้น เขาขาย 2,000 หุ้น เท่ากับ 25% เขาทำราคา IPO ที่ 25-28 เราคำนวณว่า 25% คือ 2,000 หุ้น ถ้าคูณ 25 บาท จะได้ประมาณ 5 หมื่นล้าน ถ้าคูณ 28 บาท จะได้ 5.6 หมื่นล้าน อันนี้คือมากสุด ถ้าคุณบอกว่าจะขาย 25% ไม่ได้มากกว่านี้แล้วนะ เพราะฉะนั้นที่เขาโฆษณาว่าจะต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า 2 แสนล้าน คุณจะเอาเงินจากไหนถ้าคุณไม่กู้มา คุณต้องกู้อยู่ดี ถ้าคุณต้องกู้ทำไมคุณต้องตัดเนื้อ 25% ขายไป แล้วได้เงินแค่ 5.6 หมื่นล้าน ในขณะที่ กฟผ.สมัยเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งเงินส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐปีละ 3 หมื่นล้าน เพียง 2 ปีก็มากกว่า 25% ที่จะได้มา เพราะฉะนั้นอันนี้เราจะถือว่าสุจริตได้ไหม สมมติเราเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ขายดีมาก จนเราต้องเปิดร้านที่ 2 เราคิดว่าเราอยากจะดึงเพื่อนมาถือหุ้นกับเราหรือเราจะกู้ดี ถ้ามีเงินสำหรับที่จะจ่ายหนี้จ่ายดอกเบี้ย เราจะกู้ดีกว่าใช่ไหม เพราะว่าเมื่อเราผ่อนดอกไปจนหมดจ่ายเงินที่เรากู้หมด กำไรทั้งหมดก็คือของเรา แต่ถ้าคุณตัดไป 25% ก็จะเป็นของคนอื่นตลอดไป และเผลอๆ รัฐก็จะขายผ่องถ่ายออกไปเรื่อยๆ แบบเดียวกับ ปตท."

"เวลานี้ ปตท.ถืออยู่แค่ 52% แต่ดูสิเมื่อขาย ปตท.ไป ประชาชนเสียประโยชน์ขนาดไหน เสียประโยชน์มากกว่า เพราะเวลาน้ำมันขึ้นราคารัฐไม่สามารถที่จะใช้นโยบายกำหนดว่าต้องให้ ปตท.ตรึงราคาน้ำมัน สมมติมันยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ และไม่จำเป็นต้องแสวงหากำไรสูงสุด เพียงแค่อยู่ด้วยตัวเองได้ มีกำไรบ้าง ในยามจำเป็นหรือยามวิกฤติ รัฐสามารถกำหนดนโยบายเฉพาะได้ว่าตรึงราคาน้ำมัน เมื่อ ปตท.ตรึงราคาปุ๊บบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหลายจะไม่สามารถขึ้นราคาน้ำมันได้ แต่เมื่อเราขายไปแล้วราคาน้ำมันขึ้น รัฐบอกว่าไม่สามารถไปกำหนดนโยบายให้ตรึงราคาได้ถึงแม้ตัวเองจะถือหุ้นใหญ่ กลายเป็นว่าเราต้องตั้งกองทุนน้ำมันขึ้นมาอุดหนุน มารับต้นทุนน้ำมันแทนประชาชน ซึ่งก็หนี้ของเราอยู่ดี เราไม่ต้องจ่ายวันนี้แต่เราต้องจ่ายในอนาคต และกลายเป็นว่ากองทุนมีหนี้เป็นแสนล้าน ในขณะที่คุณขายหุ้น ปตท.ในสมัยนั้น 35 บาทคุณขายไปกี่ล้านหุ้น คุณได้เงินมาก็ไม่เท่าไหร่หรอก แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่าไหร่ อันนี้มีประโยชน์จริงไหม นี่เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม"

"แต่ ปตท.ตอนนั้นถูกแปรรูปไปคนไม่ตื่นตัวมากเพราะมันไม่ลงไปถึงชีวิตของประชาชน หรือแม้แต่ กฟผ.ในสมัยนั้นคนก็รู้แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง มันเหมือนกับเราถูกยึดอำนาจไปหมดแล้ว ก็แล้วแต่ว่ารัฐบาลจะจัดสรรให้เป็นอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น ซึ่งถ้าเราไม่ไปฟ้องโดยใช้กฎหมายบ้าง เราก็กลายเป็นได้แต่นั่งทำตาปริบๆ ว่าสมบัติแต่ละชิ้นถูกเอาออกไปๆ จนหมด"

"ที่น่าเจ็บใจอย่างทรัพย์สิน พี่ได้คุยกับอดีตรองผู้ว่าฯ กฟผ.สมัยหนึ่ง นานมาแล้ว แกบอกว่าทรัพย์สินมีถึง 1 ล้านล้านนะ แต่เขาจะซ่อนตัวเลขทางบัญชีเอาไว้ คือทรัพย์สินมีเยอะ แต่ทรัพย์สินจำนวนมากของ กฟผ.จะมีราคาแค่ 1 บาท เนื่องจากเป็นตัวเลขทางบัญชี สมมติเรามีทรัพย์สินชิ้นหนึ่ง เช่น รถยนต์คันละ 1 ล้านบาท คุณตัดมูลค่าปีละ 20% 5 ปีเหลือ 0 นะ ฉะนั้น 5 ปีรถคันนั้นราคาเท่ากับ 1 บาท เขาใส่ราคา 1 บาทเพื่อให้จำได้ว่ายังมีทรัพย์สินตัวนี้อยู่ แต่มูลค่าทางบัญชีไม่มีนะ แต่ถ้าคุณเอาไปขายมันก็ไม่ใช่ 1 บาทใช่ไหม มันต้องมีราคาเป็นแสน ปรากฏว่าตอนที่เราถามคุณนอคุณ รองปลัดกระทรวงพลังงานว่าคุณคิดทรัพย์สินยังไง เขาบอกคิดตามมูลค่าบัญชี เราบอกเฮ้ยคุณคิดตามมูลค่าบัญชีได้ยังไง มูลค่าบัญชีคือเรื่องของเราเอง แต่ถ้าคุณจะขายคุณต้องคิดราคาอีกแบบหนึ่งสิ คุณขายแล้วคุณไปคิดราคาบัญชีได้ยังไง อันนี้แหละที่ทำให้เราเห็นว่ารัฐไม่สุจริต เพราะว่าประชาชนมอบอำนาจให้คุณในการดูแลทรัพย์สมบัติให้เรา เพราะฉะนั้นถ้าเราจะขายของเราต้องขายให้ได้ราคาดีที่สุดใช่ไหม ไม่ใช่ขายราคาต่ำสุด และคุณขายราคาตามบัญชีแบบเหมาเข่งเลย"

"ฉะนั้นลองดูนะที่บอกว่าขาย 2,000 ล้านหุ้นคุณจะได้เงินสูงสุด 5.6 หมื่นล้าน แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณขายเลย 100% ยกให้เป็นของเอกชนเลย 8,000 ล้านหุ้นคุณได้เงินเท่าไหร่ ต่ำสุดคุณได้ 2 แสนล้าน สูงสุดได้ 2.24 แสนล้าน ในขณะที่ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจระดับ top ลำดับ 1 ที่มีกำไรมากที่สุดรองจาก ปตท.ซึ่งถูกแปรรูปไปแล้ว คุณได้กำไรมากที่สุด แต่คุณมาขายในราคาเท่านี้ คุณไม่ได้คิดถึงค่าเสียโอกาส ถ้าคุณจะขายคุณต้องขาย branding คุณต้องคิด good view ของบริษัท อะไรต่ออะไรที่มันเป็นผลที่จะไปทำมาหากินได้ แต่นี่รัฐบาลต้องถือว่าเหมือนบังคับยึดทรัพย์ประชาชน เอาไปขายทอดตลาดเหมือนตอนปี 2540 แต่ กฟผ.ไม่ใช่เอ็นพีแอล คุณมายึดทรัพย์ประชาชนได้ยังไง ซึ่งคำถามนี้พี่ถามไปที่กระทรวงพลังงานแล้วไม่เคยตอบ เรายื่นจดหมายไป เราขอดูหน่อยซิทรัพย์สินคุณคำนวณยังไง เพราะว่าคุณกำหนดราคาต่ำสุด 25-28 ขณะที่เจพีมอร์แกน มอร์แกนสแตนเลย์ โบรกเกอร์ทั้งหลายในตลาดหลักทรัพย์ตีราคาหุ้น กฟผ.ต่ำสุดที่ 27 บาท สูงสุดที่ 40 บาทนะ โบรกเกอร์ปกติเขาต้องตีราคาต่ำอยู่แล้วเพื่อจะได้ขายง่าย แต่เราเป็นเจ้าของต้องราคาดีกว่านั้นใช่ไหม นี่เรากลับราคาต่ำกว่าโบรกเกอร์อีก หมายความว่ายังไง แบบนี้มันไม่สุจริตอยู่แล้ว"

"แต่รัฐบาลถ้ามันมีอำนาจมากก็จะเหลิง คิดว่าทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะหลังจากแปรรูป ปตท.ไปแล้วติดใจ ไม่มีใครค้าน ปตท.สัญญาว่าใน 1 ปีจะแยกท่อก๊าซออกเป็นอิสระเพื่อจะคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านไปแล้ว 4-5 ปีไม่ทำอะไรเลย แล้ว ปตท.บังคับขายก๊าซ 100% ให้ กฟผ. โดยอ้างความเป็นรัฐวิสาหกิจ น้ำมันบังคับขาย 80% ให้ กฟผ. อีก 20% จึงจะสามารถให้บริษัทน้ำมันต่างชาติมาประมูล และประมูลทีไร ปตท.แพ้เขาทุกที หมายความว่ายังไง หมายความว่าเวลาคุณอ้างว่าคุณเป็นรัฐวิสาหกิจ คือประชาชนต้องแบกคุณไว้บนหลังเราใช่ไหม แต่เวลาที่เราบอกว่าเฮ้ยน้ำมันสูงนะ คุณลดราคาหน่อย ลดไม่ได้เพราะว่าเราเป็นบริษัทเอกชน แต่เวลาคุณจะเอาประโยชน์คุณบอกว่าเราเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นคุณก็เป็นองค์กรแบบนกมีหูหนูมีปีก คุณจะเลือกใช้กติกาที่เป็นประโยชน์กับคุณเท่านั้น เหมือนกับเวลาค้างคาวไปอยู่กับหูมันก็บอกว่าเฮ้ยฉันเป็นหนูนะ แต่พอหนูบอกคุณต้องทำตามระเบียบของหนู เฮ้ยไม่ใช่ฉันเป็นนก พอกฎของนกเป็นแบบนี้นะ เฮ้ยไม่ใช่ฉันเป็นหนู เฮ้ยตกลงคุณเอาประโยชน์ทั้ง 2 ส่วนเลย องค์กรแบบนี้ก็เหมือนกัน"

"หัวใจของการแปรรูปคือการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์จากสิ่งที่เป็นของรัฐให้เป็นของเอกชนเพื่อให้เกิดการแข่งขัน แล้วเกิดประสิทธิภาพ เกิดราคาที่เหมาะสม แต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของเราเวลานี้มันพิกลพิการ มันครึ่งๆ กลางๆ มันเป็นการแปรรูปเพื่อแสวงหาประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมือง เพราะฉะนั้นการที่ศาลปกครองตัดสินในวันนี้เราถือว่าฟ้ามีตา ประเทศชาติบ้านเมืองนี้ยังมีจิตใจของบรรพบุรุษจิตใจของประชาชนที่คุ้มครองรักษาอยู่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดเสมอว่าเวลาเราทำเราต่อสู้เราถือว่าความพยายามเป็นของมนุษย์ แต่ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า ก็ไม่ใช่จิตนิยมอะไรนะ ในแง่พุทธศาสนาเหตุปัจจัยมันมากมาย เราไม่สามารถที่จะคุมเหตุปัจจัยได้ แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง สิ่งนั้นจะเป็นเหตุปัจจัยให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถูกต้องได้"

มันจะมีคำถามว่าเราคัดค้านการแปรรูปหมดหรือเปล่า เพราะเราบอกว่าจะกลับไปไล่ฟ้องทุกรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้ว

"เราสามารถที่จะกลับไปดูทั้งหมดว่ามันมีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตัวพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาอาจจะไม่ถูกต้อง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจถ้าเป็นต่างประเทศเขาจะต้องมีบัญชีแนบท้าย เพราะต่างประเทศเขาก็มีแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่เขาจะไม่เซ็นเช็คเปล่าให้กับรัฐบาล สภาจะต้องเป็นคนทำรายการเลยว่ามีรัฐวิสาหกิจอะไรบ้างที่จะให้แปรรูปได้ โดยไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชน สมมติเขาเลือกมา 20 แห่งที่แปรรูปได้ รัฐอาจจะไม่ต้องแปรทั้งหมดก็ได้ อาจจะแปรบางส่วน แต่อันที่ไม่ได้อยู่ใน list คุณก็แปรไม่ได้นะ แต่ที่ผ่านมา พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจเท่ากับเซ็นเช็คเปล่าให้กับรัฐบาล คุณจะเลือกอะไรก็ได้ที่จะไปแปร แล้วไหนบอกว่าการแปรรูปเพื่อสร้างประสิทธิภาพใช่ไหม ทำไมไม่แปรรูปไอ้พวกที่มันขาดทุน เพราะเป็นกิจการที่มันขาดทุนใช่ไหม คุณก็แปรรูปพวกนั้นสิ ทำไมต้องยุบทิ้ง สิ่งเหล่านี้ต้องตั้งคำถามว่าจริงๆ คุณทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์หรือเปล่า เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าเราจะรื้อดูทั้งหมด เราก็คือรื้อดูว่ามันมีการใช้อำนาจลักษณะที่เป็น conflict of interest หรือเปล่า เพราะเวลานี้สิ่งที่สังคมตั้งคำถามก็คือการเข้ามาบริหารบ้านเมืองภายในระยะเวลา 5 ปีของไทยรักไทย มันเป็นการแสวงหาประโยชน์ของนักธุรกิจทางการเมืองใช่หรือไม่"

"แต่การผูกขาดของรัฐถ้าไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพอันนี้มันก็ต้องแก้นะ เราก็ไม่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจเป็นเสือนอนกินแล้วก็มาเอาเปรียบประชาชน แต่ถ้าบางอันไม่เป็นปัญหาก็แล้วไป อันไหนเป็นปัญหาเราก็ต้องมาว่าต่อไป"

"ที่สำคัญคือสิ่งที่เป็นเรื่องของพลังงาน มันเป็นยุทธปัจจัย เกิดสงครามหรือเกิดภัยพิบัติธรรมชาติขึ้นมารัฐจะสามารถสั่งการได้ไหมถ้าไฟฟ้าไปอยู่ในมือเอกชน ขนาดเอาน้ำมันที่ได้รับการชดเชยไปแล้วลิตรละ 3 บาทเอามาขายในราคา 21 บาทมันยังไม่เอามาคืนเลย รัฐบาลที่มีหน้าที่ทวงคืนจากบริษัทน้ำมันทั้งหลายทำไมไม่ทวงคืน มีผลประโยชน์อะไรหรือเปล่า เพราะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเปล่า ประชาชนขอถาม"

"แต่เวลานี้สิ่งที่เรารู้สึกก็คือรัฐที่มีอำนาจมากและไม่มีการตรวจสอบ มันนำไปสู่การคอรัปชั่นได้ เพราะสมการในการคอรัปชั่นคือ คอรัปชั่นเท่ากับอำนาจ ลบด้วยการตรวจสอบ ถ้าสมมติอำนาจเท่ากับ 10 การตรวจสอบเท่ากับ 0 คอรัปชั่นก็เท่ากับ 10 เวลานี้อย่างน้อยศาลปกครองแสดงความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสอบขึ้นมา เพราะฉะนั้นต้องบอกว่าอำนาจของรัฐบาล 10 ลบด้วย 1 คือมีการตรวจสอบอยู่ 1 ยังคอรัปชั่น 9 ใช่ไหม แต่ถ้าหาก กกต.เพิ่มมาอีก 1 เป็นอำนาจ 10 ลบด้วย 2 จะเหลือ 8 ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเป็นอิสระจริง อำนาจเท่ากับ 10 ลบด้วย 3 คอรัปชั่นคุณได้ 7 แต่ถ้าคุณสามารถทำให้องค์กรทั้งหลายมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง 10 ลบ 10 คอรัปชั่นเท่ากับ 0 แต่เวลานี้มันเป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้ภาคประชาชนต้องคิดใหม่นะว่าการปฏิรูปทางการเมืองของเราล้มเหลว เพราะเราไปให้อำนาจกับนักการเมืองให้มันเข้มแข็ง ไปให้อำนาจองค์กรอิสระเพื่อให้มาคาน ซึ่งไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้นถ้ามีการปฏิรูปต้องเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน เพราะมีแต่ประชาชนเท่านั้นที่จะสามารถปกป้องทรัพย์สินของตัวเองได้ และทำการตรวจสอบได้"

กลับไปที่การแปรรูปว่า แนวคิดของรัฐบาลคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อกระตุ้นเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามา

"การเข้ามาถ้ามันเป็นการเข้ามาเพื่อเก็งกำไร ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และจะต้องบอกว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยรักไทยไม่เคยพัฒนาสิ่งที่เราเรียกว่า real sector รัฐบาลนี้ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ คุณเป็นนายหน้า คุณไม่เคยสร้างการผลิตที่แท้จริงในเมืองไทย และสิ่งที่อันตรายที่สุดก็คือรัฐบาลไทยรักไทยเป็นตัวแทนของความโลภ ซึ่งพยายามหว่านโปรยความโลภให้กับประชาชนคนไทย เราสร้างวัฒนธรรมหวยขึ้นมาในจิตใจของประชาชน เพราะว่าวัฒนธรรมหวยคือให้ประชาชนมีความหวัง ทุกคนรู้ว่าซื้อหวยมีสิทธิ์ถูก 0.001% ทุกคนมีความหวัง แท็กซี่ก็มีความหวังจะได้รถ 1 ใน 3 คันนั้น คนจนก็หวังว่าจะได้บ้านมั่นคงบ้านเอื้ออาทร เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคไทยรักไทยทำก็คือว่าหว่านโปรยความโลภ หว่านโปรยการพึ่งพิง หว่านโปรยระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมประชาธิปไตยและสังคมการพึ่งตนเอง เพราะประชาธิปไตยขั้นต้นสุดคือประชาชนต้องรู้จักพึ่งตนเอง พึ่งในอำนาจของตัว ไม่หวังพึ่งคนอื่นมากเกินไป แม้แต่ปราศรัยยังบอกถ้าเลือกผม ลูกหลานท่านจะได้แลปท็อปคนละ 1 เครื่อง เท่ไหมพ่อแม่พี่น้อง นี่มันผิดกฎหมายหาเสียง กกต.จะต้องเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้ วันนี้เราเพิ่งไปฟ้องมา เอาเอกสารไปยื่นว่านายกฯ ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เรียกร้องให้ตัดสิทธิเลือกตั้งของคุณทักษิณ เราอยากจะดูน้ำหน้า กกต.ว่าจะทำอะไรไหม เอา ฮ.ของราชการไปหาเสียง จะเอาเรื่องไหม"

"เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องต่อต้านไม่ใช่คุณทักษิณคนเดียว แต่คือระบอบทักษิโณมิกส์ เพราะเป็นระบอบที่ทำให้สังคมอ่อนแอ ทำให้สังคมเกิดความหวังลมๆ แล้งๆ เอาประชานิยมมาหว่านเป็นของหวาน ประชาชนจะต้องถูกมอมเมาเพื่อให้คุณสาละวนอยู่กับอะไรไม่รู้เพื่อให้เขาล้วง ต้องบอกว่าตอนนี้ธุรกิจการเมืองเข้ามา insider การเมืองการปกครอง เขามารู้ไส้ใน เขารู้หมดว่ามีอะไร เขาจะล้วงนั่นนี่ จะจัดสรรอันนั้นอันนี้ ขณะที่เอาอันนี้มาหว่าน อเมริกาเรียกว่า titty entertainment หัวนมหลอก เขาจะสร้างความบันเทิง อาจจะมีน้ำนมนิดหน่อย เอาไว้หลอกเพื่อให้เขามีเวลาในการล้วงตับ การบริหารงาน 5 ปีของเขา เขามาอย่างมีแผน การปฏิรูประบบราชการของเขา เขาตั้งหลายกระทรวง แต่กระทรวงที่ตั้งเพื่อ mission ของเขาคือไอซีทีและกระทรวงพลังงาน ไอซีทีเพื่อจัดการเกี่ยวกับสัมปทานทั้งหลายที่ตระกูลชินวัตรเกี่ยวข้อง ขณะที่กระทรวงพลังงานมาแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ล้วงตับอันนี้ออกไป ล้วงทรัพย์สินออกไป กระทรวงพลังงานมาทำหน้าที่แปลงทรัพย์สินของชาติให้เป็นทุนของเอกชน ขณะที่ไอซีทีก็สร้างมาตรการเยอะแยะเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายของสัมปทานเพื่อทำให้หุ้นของชินคอร์ปสูงขึ้น เมื่อเขาขายชินคอร์ปได้กำไรเป็น 15 เท่านะ คนธรรมดาทำไม่ได้หรอกถ้าไม่มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาหว่านโปรย การขายชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้าน คือการคอรัปชั่นทางนโยบาย กฟผ.นี่คุณเอาสัมปทานมาปั่นๆๆ ใช้หลักเกณฑ์มาทำให้หุ้นมาขึ้นๆ ขายออกไปคุณก็ล้วงกลับมาซื้อหุ้นพลังงาน นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น"

มันเป็นจินตนาการที่มองแง่ร้ายไปหรือเปล่าที่พูดกันว่าจะเอาเงิน 7.3 หมื่นล้านมาซื้อหุ้น กฟผ.

"มันมีข้อพิสูจน์เยอะนะ เราลงดูกระทรวงไอซีทีเวลานี้มีความหมายอะไร มันหมดภารกิจไปแล้ว"

เขาอาจจะไปซื้อหุ้น กฟผ.หลังเข้าตลาด นั่นก็เป็นเรื่องปกติ

"ก็แล้วแต่ข้อมูล ดูอย่าง ปตท.สิ ผู้ถือหุ้นใคร หุ้นจำนวนมากเป็นหุ้นผู้อุปการคุณ นามสกุลจึงรุ่งเรืองกิจ มหากิจศิริ อย่างคุณโอฬารก็ตั้งใจเขียนว่าตำแหน่งของเขามาจากมหาวิทยาลัยชินวัตรเท่านั้น ไม่พูดว่าเขาเป็นกรรมการบริหารในชินคอร์ป แม้แต่จะตั้ง regulator ชั่วคราวของการไฟฟ้าก็ยังเอาคุณอนันต์ อัศวโภคิน เข้ามา แล้วบอกว่าเป็นผู้แทนผู้บริโภค คุณเอาคนเหล่านั้นมาเพื่อตอบแทนทางการเมืองใช่ไหม เอาเงินภาษีมาจ่ายให้คนเหล่านี้เดือนละ 1.5 แสน มันยุติธรรมไหม เราต้องต่อจิ๊กซอว์นะเวลามอง หรืออย่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นกฎหมาย hijack เลย คุณต้องการสร้างอำนาจพิเศษสำหรับตัวเอง เป็นกฎหมายที่ยกเลิกกฎหมายทุกชนิด และยกพื้นที่ตรงนั้นให้ต่างชาติเช่าได้ 90 ปี เวลานี้กำลังจะไปยึดท่าเรือคลองเตย ไปยึดที่ดินมักกะสันของการรถไฟ"

การตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษก็อาจจะไม่ใช่ไม่ดีเสียทั้งหมด ถ้ามีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ต้องดูภาพรวม สมมติเราบอกว่าเราต้องการทำระบบกระจายอำนาจ มันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนะ แต่พอคุณมาทำเศรษฐกิจพิเศษปุ๊บ มันคือการยกเลิกอำนาจทุกอย่าง คนที่ตั้งขึ้นมาตั้งโดย ครม.นะ คณะกรรมการนั้นทำอำนาจได้ทุกอย่าง ถ้าผู้ว่าฯ ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเห็นขัดแย้งต้องฟังคณะกรรมการนะ นี่คุณทำลายหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเปล่า แล้วคุณเป็นประเทศการค้าเสรีอยู่แล้วจำเป็นต้องทำเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยเหรอ อย่างจีนที่มาอ้างเสิ่นเจิ้น หรือรัสเซีย เพราะเขาเป็นระบบคอมมิวนิสต์ เขาต้องการเอาพื้นที่ตรงนี้เป็นเขตทดลองเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่งเขาต้องออกกฎหมายพิเศษขึ้นมา แต่นี่คุณอยากจะชี้จุดไหนก็ได้เป็นเศรษฐกิจพิเศษ"

"อยากจะบอกว่าตอนนี้มันเป็นพัฒนาการของระบบทุนนิยมโลกนะ มันพยายามที่จะก้าวข้ามพ้นข้อจำกัดในเรื่องของทุนทุกชนิด เพราะฉะนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องเกิดขึ้น เพื่อให้ระบบทุนนิยมโลกพัฒนาไป ซึ่งเขตอุตสาหกรรมแบบเดิมมันตอบสนองไม่ได้แล้ว คุณเลยต้องทำพื้นที่ทั้งเขตใหญ่ๆ ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ต้องถามว่าประชาชนได้ประโยชน์ไหม หรือเป็นประโยชน์ในมือของคนกลุ่มน้อยเท่านั้น เคยพูดเล่นๆ ว่าต่อไปถ้าไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ประชาธิปัตย์ลงไปหาเสียงไม่ได้ด้วยนะ"

เรื่องที่เราต่อต้านอำนาจผูกขาดนั้นชัดเจน แต่เรื่องคัดค้านการลงทุนข้ามชาติ ทำให้ดูว่าเราค้านทักษิณโดยเอาชาตินิยมมาเกี่ยวข้องหรือเปล่า

"นี่ชาตินิยมเหรอ ไม่เกี่ยวกันนะ ถามหน่อยนะ ตามข่าวบริษัทยูโนแคลของอเมริกาไหม ที่บริษัทของจีนจะมาซื้อ ทำไมรัฐสภาอเมริกาลุกขึ้นมาต่อต้านและปลุกประชาชนเขามาต่อต้าน ในเมื่ออเมริกาเป็นเจ้าแห่งลัทธิเสรีนิยมใช่ไหม คนเหล่านี้เขาจะเสรีนิยมต่อเมื่อเขาได้เปรียบ ถ้าเมื่อไหร่เขาเสียเปรียบเขาจะปลุกสิ่งที่เรียกว่าชาติขึ้นมา ในเมื่อเรามีความอ่อนแอ-พี่ก็ไม่เชื่อหรอกว่าคนไทยมีความเป็นชาตินิยม คนไทยไม่มีความชาตินิยมเท่าไหร่นักหรอก แต่ถ้าเราบอกว่าเราท้องถิ่นนิยม ก็ได้ เพราะถ้าคุณไม่มีความรู้สึกของความเป็นท้องถิ่นเลย คุณก็สูญสลายนะ เราไม่ใช่ชาตินิยมพวกคลั่งชาตินะ แต่เวลาที่เขาพูดเรื่องเศรษฐกิจเสรีเขาเคยพูดเรื่องแรงงานเสรีไหม เพราะประเทศทั้งหลายพวกนี้ถ้าลองเปิดเสรีแรงงานสิ ทำไมคุณให้เสรีแต่ทุนเสรีแต่การค้า เพราะคุณเหนือกว่าใช่ไหม อ.ปรีดีเคยพูดไว้คำหนึ่งเศรษฐกิจเสรีคือเสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่ เราเป็นไก่แล้วเรายังมีหน้ามาพูดอีกว่า เฮ้ยเสรีไม่เป็นไรหรอก โถเราเป็นหมูสยามมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เวลานี้เทมาเสกมันก็เห็นเราเป็นหมูสยาม เพราะมันรู้ว่านักการเมืองไทยซื้อได้ คนไทยก็ไม่มีความรักชาติหรอก เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดเรื่องชาตินิยม พี่ไม่เคยชาตินิยมแบบคลั่งชาตินะ"

แต่เราคัดค้านทักษิณมานานเรื่องอำนาจนิยม เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพิ่งมาเห็นผลตอนปลุกกระแสชาตินิยม

"ก็ไม่เป็นไร สมมติคุณทักษิณยึดฐานเศรษฐกิจได้ทุกอย่างแล้ว เขาไม่ต้องเป็นรัฐบาลก็ได้ แล้วคุณจะไปร้องอะไรเขาได้ เดี๋ยวนี้การยึดอาณานิคมแบบใหม่คือการใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นการที่คุณทักษิณจะไปคือการที่ประชาชนลุกขึ้นมาฝึกการใช้กฎหมาย คุณไม่สามารถล้มเขาโดยม็อบและการชุมนุมเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าทำอย่างนั้นคุณต้องเลือดตกยางออกใช่ไหม ซึ่งเราเบื่อแล้ว ประชาชนไม่สมควรเสียเลือดเสียเนื้ออีกแล้ว คุณทักษิณไม่มีค่าพอ แต่เรายินดีเสียเหงื่อมายืนเฝ้าด่ามันทุกวัน แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือเราต้องจัดการกับเขาด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นในแง่ของพี่ ตั้งแต่ทำเรื่องทุจริตยาเป็นต้นมาพี่ถือว่าเราต้องการฝึกใช้เครื่องมือใหม่ๆ เท่าที่ประชาชนพอจะมี และพี่ยังเชื่อว่าอันนี้จะเป็นทางออกได้ เพียงแต่ว่าบรรดาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายมันห่วยแตก มันไม่มีความเป็นอิสระ"

อย่างที่เราต่อต้าน AIS ของสิงคโปร์ ก็มีคนถามว่างั้นต้องไปใช้ดีแทคของนอร์เวย์ ใช้ทรู-ที่กำลังฟ้อง ทศท แปดพันกว่าล้าน อย่างนั้นหรือ

"นั่นเป็นเรื่องน่าเศร้านะ เห็นไหมว่าประเทศชาติไม่มีความหวังเลย ทุกอย่างเป็นของคนอื่นหมด พอมาถึงจุดนี้เราบอกว่ามันของต่างชาติทั้งนั้นแหละ ก็ใช้มันเถอะเอไอเอส ก็ถูก ก็คุณอยากไม่สนใจเอง ไม่ทำให้มันเป็นของประชาชน รัฐบาลทำให้เราไม่มีอะไรเหลือ ทำไมเขาถึงไม่สร้างอะไรที่เป็น real sector ที่เป็นของคนไทย ทำไมคุณไม่ฟูมฟัก ดีแต่พูดว่าตถตา-มันเป็นเช่นนั้นเอง เขาไม่ควรจะพูดเลยถึงคำสั่งสอนของอาจารย์พุทธทาสฯ เพราะถ้ามันยังพูดอีกเราก็จะขอพูดอีกคำหนึ่งที่ อ.พุทธทาสฯ พูดก่อนมรณภาพ พูดว่า อตัมมยตา คือกูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย คำว่ากูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย คือเราจะไม่เอากับกิเลสที่อยู่ในใจของเราอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นคุณทักษิณและระบอบทักษิณคือรูปธรรมของความโลภและพยายามหว่านโปรยความโลภให้กับสังคมไทย คนไทยทุกคนต้องบอกว่าอตัมมยตากับคุณทักษิณ คือกูไม่เอากับมึงแล้วโว้ย ไม่เอากับระบอบทักษิณ ที่มาหว่านโปรยความโลภในจิตใจของเรา"

"ขอจบท้ายด้วยนิทานเรื่องหนึ่ง กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีฝูงหมูป่าอยู่ฝูงหนึ่ง เป็นหมูป่าที่ฉลาดมาก ไม่เคยมีนายพรานจับหมูป่าฝูงนี้ได้เลย อยู่มาวันหนึ่งมีนายพรานที่ฉลาดมากชื่อนายทักษิณ ก็คิดจะจับหมูป่า เขาก็เอาข้าวโพดมาตั้งให้ที่ชายป่า ซึ่งข้าวโพดถุงนั้นอาจจะชื่อว่าประชานิยม หมูป่าแรกๆ ก็ไม่มากิน แต่นานเข้าเอ๊ะกินก็ดีนะ ก็เริ่มคุ้นกับนายพรานคนนั้น นายพรานก็เอามาทิ้งเอาไว้และเอาไม้ปักไว้อันหนึ่ง ผ่านมาอีกวันก็เอามาให้อีกถุงแล้วปักไม้ตรงนั้น หมูป่าก็กินเพลิน กว่าจะรู้ตัวอีกทีไม้ที่ปักมันรอบตัวเป็นคอกที่คุมหมูป่าได้ทั้งฝูงและก็รอไปเป็นหมูย่างหรือหมูหัน เพราะฉะนั้นถ้าจะต้องแปลความคือระบอบทักษิณเอาประชานิยมมาหวานโปรยความโลภเพียงเล็กๆ น้อยๆ ให้ประชาชนเพลิน แต่เขาก็จะไปล้วงโน่นนี่ จัดการหมด กว่าจะรู้ตัวทรัพย์สมบัติไปหมดแล้ว คุณอยู่ในคอกคุณต่อต้านอะไรไม่ได้ แล้วคุณยังอยากได้ไหม ต้องบอกประชาชนว่าต้องอตัมมยตานะ เราอาจจะไม่ต้องพูดเรื่องชาติก็ได้นะ ถ้าบางคนฟังแล้วแสลงหู"

นิติธร ล้ำเหลือ[แก้]

26 มีนาคม 2549 กองบรรณาธิการ

"เรื่องเราไม่รู้เลยคือ กระบวนการในการจัดการทรัพย์สินยังไม่เสร็จสิ้น นี่เป็นเรื่องลับมากเลยนะ เพราะเราไม่มีทางเข้าไปถึงเอกสารตัวนั้นเลย เราไม่รู้ว่ามีตัวนี้ด้วย


ไม่รู้ด้วยว่ามันยังจัดการไม่เสร็จสิ้น แต่ศาลรู้ เพราะศาลดูเอกสารแล้ว"


ทนายความนักสิทธิมนุษยชนผู้นี้ไม่เพียงแต่ทำคดี กฟผ. แต่เคยทำคดี กสช.มาแล้ว รวมทั้งคดีเพิกถอนสัญชาติชาวเขาที่แม่อาย นับรวมแล้วจึงมีคดีใหญ่ 3 คดีที่เขาสามารถฟ้องศาลปกครองทวงสิทธิให้ประชาชนผู้เสียหายได้ นอกจากนี้ เขายังกำลังทำคดีวิทยุชุมชน ร่วมทำคดีอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร และอีกหลายคดีที่อาจเรียกได้ว่ากลายเป็น "ขาประจำ" ไปแล้ว

"เรื่องนี้จริงๆ แล้วผมตามข่าวหนังสือพิมพ์ตามปกติ และก็เห็นภาคประชาชนเขาพยายามรณรงค์เรียกร้อง แต่ก็ไม่ได้ดูประเด็นมากมาย เพราะตอนนั้นเรื่องที่เข้ามาเป็นเรื่อง กสช. และก็คดีทางภาคใต้ เรื่องวิทยุชุมชน คือมันก็วุ่น เดิมเข้าใจว่าเรื่องนี้ไปตกอยู่ที่คุณนคร เราคุยกันเราก็บอกว่ามีประเด็นทางกฎหมายที่จะเพิกถอนได้ แต่ไม่ได้คุยกับทางคุณรสนา ได้ข่าวว่าวันจันทร์จะมีการฟ้องคดี โดยพี่คณินเป็นคนต้นร่างมา เสร็จแล้วก็นัดว่าวันอาทิตย์มีการส่งร่างให้กับพี่นคร รู้สึกวันจันทร์จะติดขัดอะไรฟ้องไม่ได้ สุริยะใสก็โทร.มาว่าอยู่ออฟฟิศหรือเปล่า เขาก็ขอเข้ามาคุย ตอนนั้นผมกำลังจะไปรัฐสภาเตรียมพยานให้คุณหมอนิรันดร์กับอาจารย์เจิมศักดิ์ เรื่องคดีวิทยุชุมชนที่จะขึ้นสืบที่อ่างทองในวันรุ่งขึ้น"

"เขาก็เข้ามา เอาร่างพี่คณินมาให้ดู ผมบอกอันนี้ยังใช้ไม่ได้ มันเป็นไอเดีย โดยหลักก็คือเสนอไอเดียว่า ควรฟ้องศาลปกครองเพื่อเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ผมก็บอกโอเคฟ้องได้ แต่ถ้าจะฟ้องตามเนื้อหานี้มันฟ้องไม่ได้ เพราะที่เอามาให้ดูไม่ใช่เนื้อหาในการฟ้องคดี ทางคุณรสนาเขาก็บอกให้ผมฟ้อง ผมถามว่ามีเวลาเท่าไหร่ เขาบอกแค่วันเดียว คือผมก็ไม่ได้ตามละเอียด วันนั้นที่มาหาผมก็มีสำเนาพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับมาให้ดู พ.ร.บ.ทุนก็ไม่มีอะไรก็ไม่มี ผมก็ปฏิเสธ คือทำให้แต่ต้องขอเวลา 3 วัน อย่างน้อยต้องไปฟ้องวันศุกร์ ระหว่างนี้ผมติดที่จะต้องขึ้นสืบพยานที่อ่างทอง ก็คุยกัน แกก็บอกว่าจำเป็น ผมก็เลยต้องมานั่งไล่ประเด็นว่ามีอะไรบ้าง จริงๆ เราก็เข้าใจภาคประชาชนว่าเขามีใจที่จะดำเนินการตรวจสอบติดตามตรงนี้ แต่ประเด็นทางกฎหมายเขาไม่มี เลยถามว่าความรู้สึกว่า กฟผ.มันเสียหายคืออะไรบ้าง เขาก็บอกประเด็นมา ผมก็บอกยังไม่รับปาก จะไปประชุมที่รัฐสภาก่อน กลับมาทางคุณรสนาเห็นว่าผมจะต้องขอเวลาแน่นอน แกก็โทร.หาพี่สมชาย หอมละออ พี่สมชายโทร.มา ผมก็เลยต้องให้น้องอีกคนดูคดีวิทยุชุมชน พอรู้ว่าต้องทำแน่ผมเลยไปที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ซื้อหนังสือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซื้อมาหมดคืนนั้นแล้วก็อ่าน เริ่มเขียนตอนเที่ยงคืน ก็เขียนทั้งคืนจน 11.30 น. กำหนดเดิมเขาฟ้อง 10 โมง ผมบอกไม่ทันเพราะถ้าฟ้อง 10 โมงเนื้อหาสาระไม่ครบ เลยฟ้องเกือบบ่าย 3"

สาระสำคัญตอนแรกคือเรื่องสาธารณสมบัติ แสดงว่าเรื่องคุณสมบัติบุคคลอย่างคุณโอฬารมาทีหลัง

"ตอนนั้นผมดูแล้วเรารู้ประเด็นหมด คือผมไม่มีรายละเอียดแต่เคยทำคดี กสช.มาก่อน กสช.ก็เป็นเรื่องที่มีส่วนได้เสีย ความไม่เป็นกลางระหว่างกรรมการสรรหากับผู้สมัคร และก็กระบวนการต่างๆ ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ผมมาดูเรื่องนี้ ฟังเขา brief ก็เอา พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสากิจมาเปิด ก็มาดูเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ทุน ซึ่งเขากำหนดไว้ว่ายังไง วิธีการแปรรูปว่าใครมีหน้าที่อย่างไรบ้าง บังเอิญที่เราดูในขณะนั้นเราไม่มีเอกสารพวกนี้เลยนะ รายละเอียดว่าใครไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ที่ไหนต่างๆ แต่ก็ถามคุณชื่นชมและคุณสายรุ้ง ก็เขียนบนกระดานว่ามีประเด็นนี้ๆ มีกฎหมายมาเกี่ยวข้องอย่างนี้ๆ ผมก็ถามเขาว่าใช่ไหม แบบนี้ถูกไหม เพราะผมไม่รู้เรื่องเลย เขาก็บอกโอเค คุณชื่นชมเขาจะ brief ความเป็นมาและตัวเลขทางเศรษฐกิจ ส่วนคุณสายรุ้งเขาจะพูดถึงเนื้อหาสาระ ความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการต่างๆ ที่จะแปรรูปออกมา บางประเด็นที่ไม่เข้าใจก็ให้เขาโทร.ติดต่อคุณศิริชัย ไม้งาม ถามว่าถ้าผมจะพูดไปแบบนี้มีเอกสารไหม เพราะในขณะที่เขียนมันไม่มี ก็เสนอประเด็นแบบนี้"

"เพราะฉะนั้นผมเลยได้ข้อสรุปว่า กฎหมายเรื่องการแปรรูปมันเขียนว่าเพื่อประสิทธิภาพความคล่องตัว โดยนัยมันก็ควรจะเลือกแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจที่ไม่อยู่ในสภาพที่จะดำเนินงานต่อไปได้ จำเป็นจะต้องระดมทุนอย่างจริงๆ จังๆ แต่ กฟผ.เท่าที่เราทราบก็ดีมาโดยตลอด นั่นคือประเด็นที่หนึ่ง ผมเห็นว่าขัดเจตนารมณ์ตรงนี้ พอมาดูว่าการแปรรูปจะต้องประกอบด้วยใครบ้าง ก็มีคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง ซึ่งตรงนี้ก็คาดเดาได้เลย ผมก็คาดเดาได้ว่าน่าจะมีคนที่ไม่เป็นกลางเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน น่าจะมีส่วนได้เสียแน่นอน ซึ่งในขณะนั้นคุณชื่นชมกับคุณสายรุ้งเขาก็บอกชื่อบุคคล และยืนยันว่าคนพวกนี้มีส่วนได้เสียแน่ แต่ตอนนั้นเอกสารในมือผมยังไม่มี แต่เขายืนยันว่าเขามีเอกสารเพราะเขาตามเรื่องมาตลอด จากตรงนั้นมาเราก็มาดูในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นในภาคประชาชน อันนี้เห็นได้ชัด เนื้อหาในการนำเสนอรวมทั้งกระบวนการทำวิจัย ก็มาดูว่าสัดส่วนของประชาชนที่จะเข้าไปฟัง โดยเฉพาะประเด็นที่คิดในขณะนั้นคือ คุณทำประชาพิจารณ์ 5 ครั้ง 5 พื้นที่ ซึ่งการใช้ไฟคิดง่ายๆ ถือว่าคนใช้ไฟ 100 เปอร์เซ็นต์ สัดส่วนการทำประชาพิจารณ์ 5 ครั้ง คุณไปทำภาคละครั้งเดียว ขณะที่เนื้อหาสาระของ กฟผ.ที่มีประวัติความเป็นมาเป็น 100 ปี ซึ่งจะโอนหุ้นไปในคราวเดียวมันไม่มีทาง ประชาชนไม่เข้าใจแน่ นี่ก็เป็นประเด็นอันหนึ่ง การประชาพิจารณ์มันไม่มีทางทำได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และก็เชื่อไม่ทำด้วย เพราะถ้าทำอย่างตรงไปตรงมาจะถูกคัดค้านอย่างหนัก"

"ก็มาดูเนื้อหาในพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ที่กำหนดสิทธิประโยชน์หน้าที่พวกนี้ ก็เห็นว่าตรงนี้มีการเอาอำนาจของ กฟผ.ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจมหาชน ในขณะนั้นเราก็คิดเรื่องประเด็นการเวนคืน เรื่องเขื่อน เพราะที่ผ่านมาผมเคยช่วยพี่น้องปากมูล ก็เห็นว่าตรงนี้มีปัญหาแน่ เพราะคุณไม่สามารถที่จะเอาอำนาจเฉพาะไปโอนให้เอกชน ในพระราชกฤษฎีกายังบอกว่าการไฟฟ้าต้องทำต่อไป นั่นหมายความว่าต้องมีการเวนคืนต่อไปอีก ฉะนั้นต่อไปการเวนคืนก็จะเป็นการที่บริษัทเอกชนเข้ามาเวนคืนได้ ซึ่งมันก็ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายแล้ว ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะทำให้บริษัทนี้มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งคนอื่นไม่มีสิทธิ์แข่งได้เลย และจะเป็นกระบวนการเวนคืนที่ทำตามอำเภอใจ ฉะนั้นสิทธิของประชาชนที่จะได้รับค่าเสียหายก็มีปัญหาแน่"

"อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ในเรื่องหุ้นที่แจกพนักงาน ที่ผ่านมาเราก็เห็นอยู่ว่าพนักงาน กฟผ.พยายามที่จะต่อต้านตลอด แต่พอได้รับหุ้นกระแสก็เงียบลง เราคิดในขณะนั้นว่ามันก็เหมือนการให้สินบนดีๆ นี่เอง และก็คิดไม่ออกว่าพนักงาน กฟผ.กับประชาชนทั่วไปมันแตกต่างกันยังไง ทำไมพนักงาน กฟผ.ถึงได้สิทธิพิเศษ ย้อนกลับไปดูเรื่องของ ปตท.ระยะเวลาการขายมันสั้นมาก ปัจจุบันหุ้น ปตท.ก็ถูกขายออกไปหมด จะเหลือนายทุนกลุ่มใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ฉะนั้นอันนี้เราว่ามันไม่เป็นธรรม ขณะเดียวกันมาดูรายละเอียดลึกลงไปก็ปรากฏว่า เรื่องความมั่นคงในเรื่องการให้บริการมีปัญหาแน่ เพราะไม่มีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นที่ชัดเจนแน่นอน นั่นหมายความว่าขึ้นอยู่กับความพอใจของบริษัทว่าจะดำเนินการยังไง หรือภาครัฐจะดำเนินการยังไง ซึ่งโอกาสของคนที่จะเข้าไปซื้อหุ้น คือผมไม่ได้คิดถึงพนักงาน ผมคิดถึงคนที่เขาถูกเวนคืนเรื่องเขื่อน ปัจจุบันยังได้รับค่าชดเชยไม่ครบเลย โอกาสของคนพวกนี้ที่จะเข้าไปซื้อหุ้นล่ะ ประเด็นต่อมาคือการตรวจสอบ เดิมประชาชนทั่วไปใครก็ตรวจสอบได้ แต่พอเป็นบริษัทมหาชนจำกัดนั่นหมายความว่า คนที่ตรวจสอบชัดเจนคือผู้ถือหุ้น ฉะนั้นหลักประกันความมั่นคงตรงนี้ก็หายไปอีก ขณะเดียวกันนั้นประเด็นเรื่องการบังคับคดี เดิมทรัพย์สิน กฟผ.ไม่อยู่ภายใต้การบังคับคดีเลย หมายความว่า กฟผ.บริหารงานผิดพลาด กิจการในการผลิตไฟฟ้า-ส่งไฟฟ้ายังดำเนินการได้ เพราะไม่สามารถจะไปบังคับคดีกับทรัพย์สินนี้ได้ แต่พอมาเป็นเอกชนปรากฏว่ามีทรัพย์สินของ กฟผ.อยู่ภายใต้การบังคับคดี ฉะนั้นถ้าบริษัทนี้ทำงานผิดพลาดขึ้นมาแสดงว่าประชาชนอาจจะไม่ได้ใช้ไฟก็ได้"

"อีกอันหนึ่งที่คุณชื่นชมย้ำมากก็คือ การประเมินราคาทรัพย์สินที่ผิด มันต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ผมก็มาคิดภาพรวมของระบบในตลาดหุ้น ผมคิดตามที่เขาประเมินมาคือทรัพย์สิน 2 แสนกว่าล้าน ก็เท่ากับว่าใครมีเงินเพียง 5 พันล้าน หมื่นล้าน ก็สามารถเข้าไปนั่งบริหารได้เลยตามระบบของตลาดหุ้น ทุกครั้งที่คุณขยับ 5% ต้องแจ้ง แต่ถ้าคุณถือมากขึ้นไปถึง 25% คุณต้องทำ tender offer คุณต้องเปิดโต๊ะรับ พอถึง 15% เขาต้องถามแล้วคุณสนใจกิจการบริษัทนี้หรือเปล่า จะเข้าบริหารบริษัทนี้หรือเปล่า ฉะนั้นคนที่มีเงินมากๆ ก็สามารถที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของทรัพย์สินของประเทศได้ในราคาที่ต่ำ เราก็มาดูว่าตรงนี้มีกี่ตระกูลบ้านเรา และบังเอิญว่ามันก็ไปอยู่ในคณะรัฐบาลทั้งนั้น ผมเลยคิดว่าแบบนี้มันไม่โอเคแน่"

ทั้งหมดนี้คือที่ใส่ไปในร่างคำฟ้อง?

"เราตั้งประเด็นเสร็จแล้วก็เขียนครบหมด แต่บางอันอาจจะเป็นแค่ประโยคเพื่อให้ขยายต่อไป อีกอันหนึ่งก็คือถ้าอย่างนั้น พ.ร.ฎ. 2 ฉบับก็เท่ากับออกมาแล้ว มันให้ผลย้อนหลังในส่วนที่เป็นโทษกับประชาชนมากกว่า เดิมประชาชนมีสิทธิ์ 100% กับการดำเนินการของ กฟผ. สิทธิของประชาชนถูกตัดไป ความมั่นคงในการได้รับบริการ การมีโอกาสเป็นเจ้าของ การตรวจสอบ การได้รับบริการอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน การโต้แย้งคัดค้านโดยเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจมหาชน และโดยเฉพาะโอกาสในการกลับเป็นเจ้าของ เดิมคุณเกิดมาคุณเป็นเจ้าของ กฟผ.ได้เลย แต่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นเจ้าของต้องลงทุน กฎหมายที่มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษแบบนี้มันทำไม่ได้ แล้วก็มาดูในลำดับของกฎหมายว่าเดิม กฟผ.มันเป็น พ.ร.บ. แต่เอา พ.ร.ฎ.มายกเลิก เราก็มองว่ามันไม่ชอบ ฉะนั้นโดยรวมเราก็สรุปเรื่องแบบนี้แล้วก็บรรยายฟ้องไป"

ได้ถกเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.บ.ทุนฯ ไว้ก่อนไหม

"ผมมองว่ามันเป็นคนละประเด็น ที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ผมมองว่าเป็นแนวพื้นฐานทั่วๆ ไป ที่ชี้ว่า พ.ร.บ.ทุนฯ ไม่ขัด แต่วิธีการปฏิบัติต่างๆ ก็มีกฎหมายที่จะกำหนดวิธีการปฏิบัติไว้เหมือนกัน ฉะนั้นเรื่องการโอนอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติไปให้ฝ่ายบริหารอะไรต่างๆ พวกนี้ กระบวนการที่จะไปเกี่ยวข้องกับสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สาธารณประโยชน์ของประชาชน เรื่องความมั่นคงทุกๆ ด้าน มันจะต้องทำรายละเอียดครบถ้วนทุกขั้นตอน ประการสำคัญคือคนที่ทำจะต้องเป็นกลาง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ยอมรับ และไม่มีส่วนได้เสีย ขณะเดียวกันประชาชนทั้งประเทศต้องมีโอกาสรับรู้ แต่กระบวนการของ กฟผ.เท่าที่เราดูเท่าที่เรารับรู้ แม้เพียงแค่ติดตามข่าวสารก็เห็นความผิดปกติ เราก็เลยสรุปก็ฟ้องไปตามนี้"

"ตอนฟ้องผมก็เชื่อว่าคดีนี้มีโอกาสชนะ เพราะผมเชื่อว่าความชอบด้วยกฎหมายมันไม่ได้หมายถึงขั้นตอนการตรากฎหมายอย่างเดียว ความชอบด้วยกฎหมายมันจะต้องพูดถึงเหตุผล พอเอาเหตุผลเป็นตัวตั้งก็ต้องย้อนไปดูก่อนว่าที่มาของเหตุและผลมันมีที่มาอย่างไร พอต่อจากเหตุผล ในอนาคตคือการบังคับใช้ก็ต้องดูความสมเหตุสมผล ฉะนั้นความเห็นผม ความชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่กระบวนการตราที่ถูกต้องอย่างเดียว คุณตรามาถูกต้องหมดแต่เหตุผลคนไม่ยอมรับ หรือไม่สามารถอยู่ในสภาพที่บังคับได้จริง ยกตัวอย่างง่ายๆ ถนนที่คนใช้ประจำ เขายูเทิร์นประจำ วันดีคืนดีคุณไปปักป้ายห้ามยูเทิร์น ยังไงคนมันก็ยูเทิร์น คือคนมันพร้อมที่จะทำผิดกฎหมาย มันไม่สอดคล้องกับสถานการณ์สังคม ตรงนี้คือหนึ่งในความไม่ชอบ ยิ่งเขากำหนดวิธีการในการให้ทำไว้ก่อน คุณต้องทำให้ครบทุกข้อ ต้องไม่มีการทำน้อยกว่า ทำมากกว่าไม่เป็นไร ถ้าทำน้อยกว่าจะถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน ทีนี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางปกครอง แม้ในกฎหมายบางเรื่องไม่ได้กำหนดวิธีการขั้นตอนการกระทำไว้ให้ ก็ต้องไปถือตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งเขาจะกำหนดไว้ว่าใครมีสิทธิ์ทำ ประเภทไหนถือว่ามีส่วนได้เสียบ้าง และลักษณะแบบนี้มันเห็นชัดเจน อย่าง กสช.เราก็ฟ้องมา ก็เห็นอยู่แล้วว่าประเด็นคือเรื่องส่วนได้เสีย ฉะนั้นตรงนี้เห็นชัดเจนว่ามันมีเจตนา จงใจที่จะกระทำ เราเลยร่างฟ้องไป ผมคิดว่าตั้งแต่เริ่มต้นคดีนี้มันจะชี้ขาดกันที่กฎหมาย กับขั้นตอนในการออกกฎหมายทั้งหมด"

คือศาลปกครองจะไม่ชี้เรื่องนโยบายแปรรูป

"ใช่ ผมแถลงปิดคดีผมก็บอกว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่แปรรูปแล้วดีหรือไม่ดี อย่างที่บริษัท กฟผ.สู้มา ผมก็แถลงปิดคดีว่าอันนี้เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เพราะประเด็นในคดีคือคุณทำถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้ให้คุณหรือเปล่า แต่คุณจะเอาเรื่องมาพูดว่าดีหรือไม่ดี-ไม่ใช่ เพราะดีไม่ดีเป็นข้อเท็จจริงที่ทางสังคมต้องไปว่ากัน ถ้ามันดีมันดีกับใคร ดีกับประเทศ กับประชาชน หรือดีกับกลุ่มทุน หลักๆ เราก็จะไล่เรียงลำดับมาตามนี้ ซึ่งคำพิพากษาคดีนี้ถือว่าเป็นบรรทัดฐานเลยนะ เป็นคำพิพากษาที่เรียงลำดับขั้นตอนเหตุการณ์ และใช้ภาษาที่ต่อเนื่องสอดคล้อง อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย ทำให้เห็นทุกๆ ประเด็น ในขณะเดียวกันก็บอกว่าถ้าหากว่าจะทำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ คุณจะต้องคำนึงอะไรบ้าง หนึ่ง มันเป็นสมบัติของแผ่นดินไหม สอง มันเป็นประโยชน์สาธารณะไหม สาม มันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติหรือไม่ ฉะนั้นถ้าเกี่ยวข้องศาลก็วางบรรทัดฐานไว้ให้ บอกเลยว่าลักษณะแบบไหนใครมีส่วนได้เสีย ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันคำพิพากษาคดีนี้ลงไปในรายละเอียดถึงวิธีปฏิบัติในการรับฟังประชาชน ไอ้ประเภทเทคนิคว่าด้วยการประกาศในหนังสือพิมพ์ พออ่านตรงนี้ปุ๊บคนฮาเลย ว่าเออมันแย่มากเลย มันทำกันอย่างนี้เลยเหรอ แต่ถามว่าคำฟ้องคดีนี้เราลงรายละเอียดมากไหม เราไม่ได้ลงรายละเอียดมาก เพราะว่าเราไม่มีเวลา คือผมมีเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง เราก็จะกำหนดประเด็น ทุกประเด็นเป็นประเด็นที่ต้องไปหาข้อเท็จจริงมาประกอบ แต่เป็นประเด็นที่รับฟังได้"

ประเด็นที่ศาลชี้เราหาข้อเท็จจริงเองหรือว่าศาลหา

"ในกระบวนการทำงานของศาลปกครอง พอเรายื่นฟ้องปั๊บศาลรับฟ้อง ศาลจะแสวงหาข้อเท็จจริงเลย ในขณะเดียวกันเราก็ทำไปด้วย ถ้าเราเห็นว่าตรงนี้เป็นสาระสำคัญซึ่งศาลอาจจะยังไม่รู้หรืออาจจะหลงลืมไป เราก็ส่งไปได้ แต่โดยทางปฏิบัติของศาลปกครอง ศาลจะดำเนินการเองเพื่อให้คดีมันรวดเร็ว และบางอันเราไปขอออกหมายเรียก กว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติ บางทีเอกสารมันเยอะ คือเราไม่รู้ เอกสารบางตัวเขาอาจจะไม่ส่งมาก็ได้ แต่กับศาลเขาไปทำอย่างนั้นไม่ได้"

เรื่องลงประกาศ 3 วัน ศาลหาเองหรือ

"เราบอกว่ากระบวนการรับฟังประชาพิจารณ์ทำไม่ถูกต้อง ไม่ได้ดำเนินการวิจัยไม่ได้ให้ความรู้ ไม่ได้แจ้งเวลาสถานที่ต่างๆ รวมทั้งการประกาศหนังสือพิมพ์ คือเราเขียนในหลักการกว้างๆ เพื่อที่จะให้เป็นประเด็นในการที่ศาลจะไปเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง ฉะนั้นคำพิพากษาก็ออกมาตามแนวที่เราฟ้อง ที่เราแถลงปิดคดีทั้งหมด ก็ถือว่าครบถ้วน"

ครั้งแรกที่ส่งไป รัฐบาลก็ตีกลับว่าหมดอายุความ 90 วัน

"ประเด็นนั้นผมไม่หนักใจเลย แต่ว่าทางฝ่ายภาคประชาชนหนักใจมาก ผมก็บอกว่าคดีนี้ยังไงมันชัดเจนอยู่ในเรื่องประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นอายุความไม่เป็นอุปสรรค เพราะว่าคดีแม่อายที่ผมฟ้องก็เกิน เพราะเรื่องพวกนี้กว่าจะมาถึงเราช้าทั้งนั้น กสช.มาก็ช้าเหมือนกัน เกิน 90 วันทั้งนั้น แต่ว่ามันเป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะมันไปเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและมันมีผลต่อการพัฒนาบ้านเมือง มีผลเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ประชาชนมีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของในการตรวจสอบ ข้อกฎหมายมันชัดอยู่ คือคดีภาคประชาชนส่วนใหญ่ที่มาถึงเราแล้วจะขอเวลาจำกัดมาก คือเรื่องแบบร้อนแล้ว ต้อง deadline แล้ว เหมือน กสช.มาถึงผม ชื่อไปถึงวุฒิฯ แล้ว วุฒิฯ ยื่นแล้ว"

คดี กสช.ทำให้ทั้งพิทยา ว่องกุล และประมุท สูตะบุตร

"ของพี่ประมุทครั้งแรกยกฟ้อง แล้วพี่พิทยาชนะ อุทธรณ์ก็ชนะ พอมาครั้งหลังพี่พิทยาแกไม่สมัคร ศาลก็บอกว่าไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะไม่ได้สมัคร แต่ของพี่ประมุทศาลก็สั่งระงับ คือเรื่องพวกนี้มันชัดเจนว่าทำความผิดแบบซ้ำซาก ผมถึงบอกว่าเขาเจตนาทำ แต่ละคนที่เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการหรืออะไรต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์การเมืองการปกครองมายาวนาน มีองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญ ฉะนั้นการทำแบบนี้คือถ้าจะให้มองว่าทำผิดพลาดมันมองไม่ออก คุณมีฝ่ายกฎหมายที่เชี่ยวชาญเป็นระดับดอกเตอร์ตั้งหลายคน ขณะเดียวกันองค์กรทางปกครอง แม้แต่ศาลปกครองเขาก็มีฝ่ายแนะนำเรื่องกฎหมาย ก็หารือได้ รัฐบาลก็มีกฤษฎีกาอยู่ข้างตัว แต่คุณไม่ทำ มันเลยทำให้มองว่าเป็นเรื่องผิดพลาดไม่เจตนา มันไม่สนิทใจ"

"โดยเฉพาะเรื่อง กฟผ. เรื่องเราไม่รู้เลยที่ศาลพิพากษาคือกระบวนการในการจัดการทรัพย์สินยังไม่เสร็จสิ้น นี่เป็นเรื่องลับมากเลยนะ เพราะเราไม่มีทางเข้าไปถึงเอกสารตัวนั้นเลย เราไม่รู้ว่ามีตัวนี้ด้วย ไม่รู้ด้วยว่ามันยังจัดการไม่เสร็จสิ้น เรารู้แต่ว่าการจัดการทรัพย์สินมีปัญหาในเรื่องการประเมินมูลค่าทรัพย์สินแน่นอน แต่เราไม่รู้ว่ายังจัดการไม่เสร็จสิ้น แต่ศาลรู้ เพราะศาลดูเอกสารแล้ว"

"คือศาลมองว่าการออกพระราชกฤษฎีกาเป็นกระบวนการขั้นตอนสุดท้าย แต่ก่อนจะมาถึงพระราชกฤษฎีกาคุณต้องทำต่างๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนทั้งหมดจนเสร็จสิ้นแล้ว จึงมาให้พระราชกฤษฎีกาบอกว่ายกเลิก กฟผ. นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ศาลชี้ และแสดงให้เห็นว่าศาลทำงานอย่างดี ฉะนั้นผมถึงพูดตั้งแต่วันแรกว่ามันโกหก คือวันนั้นที่ผมแถลงปิดคดีเสร็จ ทางฝ่ายผู้แทนผู้ถูกฟ้องก็ลุกขึ้นบอกว่า พระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ในหลวงได้ลงพระปรมาภิไธยแล้ว ผมถึงบอกไงว่าถ้ากฎหมายนี้ไม่ชอบขึ้นมา คนลงนามสนองพระบรมราชโองการต้องรับผิดชอบ แต่บังเอิญว่ามันเป็นพระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร นั่นหมายความว่า ครม.ทุกคนมีส่วนในการร่างและต้องรับผิดชอบ สิ่งที่คุณทำมันเห็นชัดเจนโดยเฉพาะประเด็นที่ศาลชี้ว่ากระบวนการไม่ชอบ ผมถึงพูดว่าคุณทำเสมือนหนึ่งว่าเข้าใจได้ว่าคุณโกหกในหลวง คุณเพ็ดทูล คุณเอาของที่มันไม่ชอบไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปให้ท่านลง เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก และศาลชี้ว่า กฟผ.เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นความมั่นคงของชาติ คำพูดแค่นี้ชัดเจนว่าคุณเอาทรัพย์สินไปขายด้วยวิธีการง่ายๆ โดยประชาชนไม่รับรู้ได้ยังไง เพราะฉะนั้นถึงบอกว่ารับผิดชอบด้วยการลาออกนี่เล็กที่สุดแล้ว"

"สังคมต้องเรียกร้องให้เขารับผิดชอบต่อการกระทำตรงนี้ พวกนี้ไม่เคารพกระบวนการทางกฎหมายเลยนะ หลักนิติธรรมไม่เคารพเลย สองคือกระทำการไม่บังควร ต้องรู้อยู่แล้วว่า The King can do no wrong. ก่อนที่คุณจะทูลเกล้าฯ ขึ้นไปต้องสมบูรณ์ที่สุด ถ้าคุณเจตนาบริสุทธิ์ จะบอกว่าไม่รู้เหรอ นักกฎหมายกี่คน ท่านวิษณุ ท่านบวรศักดิ์ ท่านโภคิน ทั้งนั้นเลย แล้วรัฐบาลนี้ทำความผิดพลาดในเรื่องกระบวนการร่างกฎหมายมาโดยตลอด ในขณะนี้คุณล้มละลายในความน่าเชื่อถือต่อการบริหารบ้านเมือง มันต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าพอเขามาพูดเรื่องติดตามอีก 7 รัฐวิสาหกิจออกมาพูดเรื่อง market cap 3 แสนล้าน ไปถามว่าที่มันจะเสียหายเสียหายใคร ใครเสียหายแน่ ไปไล่ดูเถอะกลุ่มทุนต่างๆ ที่เข้ามาผมเชื่อว่าทุกอันมีคนใน ครม.เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่ด้วยตัวเองก็เครือญาติ เพื่อนสนิทหรือผู้มีอุปการคุณ และผมเชื่อว่าบริษัทมหาชนต่างๆ พวกนี้เป็นนอมินีทั้งนั้น ซึ่งผมกำลังรวบรวมหลักฐานและจะไล่ทีละประเด็นๆ"

จะโยงไปถึงรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้วด้วย

"ได้หมด รวมทั้งการโอนหุ้นของนายกฯ ด้วย คือผมก็ทำตามนโยบายที่ท่านนายกฯ ประกาศเรื่องคอรัปชั่น เขาร้องมาผมก็มีหน้าที่ที่จะต้องดู"

ตอนนี้มีกรณีอะไรบ้าง

"ร.ส.พ. ทีโอที การประปา เรื่องวินมาร์ค เรื่องการขายหุ้นเรื่องภาษี"



(ล้อมกรอบ)

ทนายสิทธิมนุษยชน


"เดิมผมทำงานอยู่ฝ่ายกฎหมายให้กับคณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรคาทอลิก ทำงานกับชาวเขา ก็จะเขียนหนังสือกฎหมายสำหรับชาวเขา แล้วก็เดินอบรมกฎหมายทีละหมู่บ้าน เดินอยู่ในป่าในเขา ในเขตพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด ช่วงนั้นทางกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมขาดนักกฎหมาย แล้วงานที่ผมทำมันจบพอดี ก็มาช่วยทางกลุ่มนี้ เพราะเขาทำเกี่ยวกับเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหา วิสามัญฆาตกรรม และผู้ต้องขัง ทีนี้มันก็จะมีเรื่องอื่นมาแทรกโดยตลอด ทั้งเกษตรกรรายย่อย สมัชชาคนจน ปากมูล ทุกเรื่องที่เป็นปัญหาภาคประชาชนเข้ามาอยู่ที่นั่นตลอด เราก็ต้องทำควบไปด้วย คือนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนมีจำกัด คดีทุกคดีที่เกิดขึ้นที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุยชนก็ต้องรับเข้ามาหมด คดีพระประจักษ์ ชาวบ้านที่สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา เรื่องสวนป่า พอดีผมก็ออกจากกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมก็มาทำงานออฟฟิศที่นี่"

ทุกวันนี้ไปไหนมาไหนต้องมีการ์ดเหมือนแกนนำผู้ชุมนุม

"มันก็ต้องดูแล อย่างคดีพี่สมชายเราไปก็โดนตีไฟหน้ารถ คือผมก็พูดตลอดว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ และเราก็ไม่ได้ไปแสดงความอาฆาตมาดร้าย ถึงคุณจะทำผิดก็ปล่อยไปตามกลไกของกฎหมาย ไม่มีความแค้นส่วนตัว แต่ในบางเรื่องก็ต้องยอมรับว่าเราต้องการให้เป็นบทเรียนกับสังคม เราก็นำบางเรื่องมาบอกเล่าต่อสื่อมวลชน มาแถลงข่าว มาจัดเวทีสัมมนา บางเรื่องก็เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศ ผมโดนขู่โดนตามเป็นเรื่องปกติ แต่ที่มีตรงนี้ก็เพื่อให้เรามีโอกาส มีเวลาได้ทำงานต่อไปเท่านั้นเอง ไม่ได้มีไว้เพื่อข่มขู่ มีเพื่อนร่วมเดินทางเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ยิ่งช่วงที่ภาคใต้ยุ่งๆ ผมก็ต้องวิ่งทั้งแม่อาย ทั้งลำพูน บางทีลงเครื่องกลับบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้าขึ้นเครื่องลงใต้"

ตอนนี้เขาตั้งสำนักงานกฎหมาย KAT แต่ฟังคดีที่รับว่าความแล้วก็มีคดีของ NGO คดีสิทธิมนุษยชนเสียส่วนใหญ่ ต้องทักว่าอย่างนี้ก็แทบจะไม่ได้รับว่าความคดีธุรกิจเลยสิ เขาบอกว่าก็มีน้องๆ และหุ้นส่วนช่วยกันทำ แต่บางครั้งก็ทำเองบ้าง

คดี NGO คดีสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย เขารับว่าความฟรีหมด แถมควักค่าใช้จ่ายให้ด้วย โดยจะต้องส่งเรื่องไปที่สภาทนายความก่อน แล้วส่งกลับมาที่เขาซึ่งเป็นกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชน

ที่จริงสภาทนายความมีงบค่าใช้จ่ายให้ แต่ที่ผ่านมาเขาก็ไม่ได้รับ

"เขาให้ แต่งานสภาทนายปีหนึ่งร้องเข้ามาเยอะมาก งบประมาณก็จำกัด ส่วนหนึ่งต้องใช้ในการบริหาร อีกส่วนเรื่องการให้ความรู้กับประชาชน แล้วจึงจะมาใช้ให้การช่วยเหลือทางกฎหมาย แต่คดีที่เข้ามามันเยอะมาก อย่างคดีแม่อายถ้าใช้คนขนาดนั้น เวลาขนาดนั้น สภาทนายต้องหมดเท่าไหร่ ผมเอาคนของผมไปผมรับผิดชอบจ่ายเอง ขับรถขึ้นลง"

บอกว่าทนายความที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความมีจำกัด ต่างคนต่างก็งานล้นมือ ซึ่งที่รับทำกันอยู่ตอนนี้ก็มีราว 10 กว่าคนเท่านั้น อยู่ในสภาพคล้ายๆ กันคือต้องควักเนื้อเองด้วย (เอ้า ช่วยโฆษณา ถ้าใครมีคดีแพ่งคดีมรดกอยากช่วยทนายสิทธิมนุษยชนก็ติดต่อไปได้)

อย่างคดีนี้ที่เป็นผลงานสำคัญระดับประเทศ นิติธรบอกว่า เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคก็โอนเงินมาให้ 2 หมื่นบาท ซึ่งเขาไม่ได้เอาไว้เองแต่ให้น้องๆ ในออฟฟิศแบ่งกัน เพราะวันที่ร่างคำฟ้องนั้นตัวเขาไม่ได้นอน น้องๆ ก็ไม่ได้นอนทั้งสำนักงาน ต้องช่วยกันพิมพ์ช่วยกันตรวจร่างยันเช้า.