พระอาจวิทยาคม (ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระอาจวิทยาคม)
พระอาจวิทยาคม
(ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์)
พระอาจวิทยาคม (ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์) แพทย์ใหญ่ศิริราชพยาบาลคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2435
เกิดยอร์ช บรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์
1 ธันวาคม พ.ศ. 2409
เมืองธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต3 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 (75 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
อาชีพนายแพทย์
คู่สมรสแมรี่ ไอนา รู้ด
เบอรธา เบลานท์

พระอาจวิทยาคม (ยอร์ช บรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์) (อังกฤษ: George Bradley McFarland; 1 ธันวาคม พ.ศ. 2409 – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2485) หรือ หมอ ยอด เมฆฟ้าลั่น เป็นแพทย์ชาวอเมริกันที่เกิดในสยาม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อกำเนิดวิชาแพทย์สมัยใหม่ในประเทศไทย เป็นบุตรชายของซามูเอล จี. แมคฟาร์แลนด์ มิชชันนารีนิกายเพรสไบทีเรียน เขาเกิดและเติบโตในสยาม และศึกษาด้านการแพทย์และทันตแพทยศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะกลับมายังสยามเป็นการถาวรเพื่อเป็นแพทย์ใหญ่ของโรงเรียนราชแพทยาลัยที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ที่โรงพยาบาลศิริราช (ปัจจุบันคือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) ที่ท่านสอนมา 35 ปีก่อนเกษียณอายุราชการ ท่านเขียนตำราการแพทย์แผนไทยเล่มแรก เรียบเรียงพจนานุกรมภาษาไทย-อังกฤษ และเป็นผู้พัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย[1][2]

เป็นพี่น้องกับเอ็ดวิน ฮันเตอร์ ผู้เผยแพร่และค้นคว้าเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยคนแรก และเป็นพี่น้องกับวิลเลียมเฮย์ซามูเอล นายทหารผู้คิดค้นคำศัพท์ทหารไทย เช่น กลับหลังหัน วันทยาวุธ ทั้งเป็นบุตรของสตรีผู้นำจักรเย็บผ้าไปใช้ที่เพชรบุรีเป็นคนแรกและสอนตัดผ้าให้ชาวบ้านจนมีแบบเสื้ออย่างเรียบง่ายสำหรับผู้หญิง

ประวัติ[แก้]

ยอร์ชเป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดที่บ้านหมอบรัดเลย์ ปากคลองบางกอกใหญ่ เป็นบุตรของศาสนาจารย์ เอส. จี. แมคฟาร์แลนด์ และนางเจนนี แมคฟาร์แลนด์ บิดามารดาเป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่ทำงานเพื่อเผยแพร่ศาสนาและพัฒนาสังคมไทยคนละ 36 ปี โดยเริ่มต้นที่เพชรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีบุตรธิดาสี่คนที่เกิดที่เมืองไทย รวมทั้งยอร์ชเอง และยังสอนให้บุตรธิดาทราบว่า ประเทศสยามเป็นแผ่นดินแม่ ต้องแทนบุญคุณ[3] และพี่น้องของท่าน เมื่อศึกษาจบมหาวิทยาลัย พี่ชายทั้งสองท่านกลับมาทำงานให้แก่รัฐบาลทั้งหมด รวมทั้งยอร์ชด้วย ยอร์ชได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนสวนอนันต์ที่บิดาเป็นครูใหญ่ ตามที่รัฐบาลขอให้จัดตั้งขึ้นในช่วงหนึ่ง เมื่ออายุ 17 ปี จบการศึกษามาเป็นครูช่วยบิดาสอนหนังสืออยู่ 2 ปีจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2427 สำเร็จปริญญา พ.ศ. 2431 จากวิทยาลัยวอร์ชิงตันและเจฟเฟอร์สัน ได้ปริญญาแพทยศาสตร์ใน พ.ศ. 2433 จากวิทยาลัยเวสเทอร์นเมดิคอล แล้วเรียนศัลยแพทย์เฉพาะทาง ที่วิทยาลัยบัลติมอร์ พ.ศ. 2433 จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อด้านศัลยกรรมและทันตกรรมจนได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต D.D.S อีกปริญญาหนึ่ง จาก Chirurgical College of Dentistry

ยอร์ชเดินทางกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2434 และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายแพทย์ใหญ่ศิริราชพยาบาลในปีต่อมานั้นเอง ซึ่งในขณะนั้น แพทย์พยาบาลอีกทั้งเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ทางการแพทย์ยังไม่พร้อม และยิ่งไปกว่านั้นคนไทยก็ยังไม่ยอมเข้ารักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันอีกด้วย ยอร์ชจึงริเริ่มเรียบเรียงตำราแพทย์และบัญญัติศัพท์แพทย์ขึ้นใช้ในการสอนและการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำอุปกรณ์การสอนที่เป็นเครื่องฉายกระจกสไลด์มาใช้เป็นคนแรก ยอร์ชได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งการเป็นแพทย์และการเป็นครูจนคนทั่วไปเรียกว่า "หมอยอร์ช" และได้รับการยกย่องในขณะนั้นว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันมีสมญาว่าเป็นอิฐก้อนแรกของโรงเรียนแพทย์อีกด้วย[4][5]

ในทางส่วนตัว ยอร์ชมีกิจการคลินิกทำฟัน รักษาฟัน ทำฟันปลอมสีดำ รักษาทั้งชาวบ้านและชาววัง และยอร์ชยังมีความรู้ด้านอื่นที่บิดาและพี่ชายส่งต่อให้

ด้วยเหตุที่หมอบรัดเลย์มอบเครื่องพิมพ์ให้แก่บิดาของยอร์ชเพื่อพิมพ์ตำราคำสวด บิดาของยอร์ชจึงค้นคว้าด้านการพิมพ์และเชี่ยวชาญภาษาไทย จนเขียนปทานุกรมและพูดภาษาไทยได้ชัดเจน และยอร์ชก็ทำต่อมา ยอร์ชชำนาญและรู้ภาษาไทยจนบัญญัติศัพท์ต่าง ๆ ได้อย่างดี

ก่อนเสียชีวิต พี่ชายยอร์ชได้มอบหมายให้ยอร์ชพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดให้แพร่หลาย โดยเริ่มต้นที่ยี่ห้อ สมิทพรีเมียร์ และในภายหลังยี่ห้อเรมิงตัน และยอร์ชยังคิดการพิมพ์สัมผัสจนแพร่หลายอีกด้วย ยอร์ชได้ตั้งกิจการดังกล่าวขึ้น มีพนักงานกว่า 50 คน

กระทั่งวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2458 ยอร์ชได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระอาจวิทยาคม ถือศักดินา 800[6] ต่อมาในวันที่ 28 ธันวาคม 2459 ได้รับพระราชทานยศ อำมาตย์เอก

ยศ[แก้]

  • 28 ธันวาคม 2459 – อำมาตย์เอก[7]

บั้นปลายชีวิต[แก้]

หลุมฝังศพของ พระอาจวิทยาคม

ยอร์ชลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2469 และได้มีส่วนในการย้ายโรงเรียนกุลสตรีวังหลังไปตั้งที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน ได้ช่วยเหลือสนับสนุนด้านการเงินสำหรับจัดตั้งโรงเรียนเยนเฮส์เมโมเรียลเพื่ออุทิศให้แก่มารดา ในปี พ.ศ. 2471 ยอร์ชเป็นบรรณาธิการหนังสื่อ "หนึ่งศตวรรษในสยาม ค.ศ. 1828-1928" (อังกฤษ: Historical Sketch of Protestant Missions in Siam 1828-1928) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งงานโปรเตสแตนต์ในสยามในปีเดียวกัน[8] บิดาของยอร์ชสร้างปทานุกรมมาก่อน และยอร์ชก็มาสานต่อ แก้ไข และเพิ่มถ่อยคำ มีการพิมพ์หลายครั้ง จนถึงในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2480 ก็ได้แต่งปทานุกรมภาษาไทย-อังกฤษออกเผยแพร่ด้วย

ยอร์ชสมรสกับแมรี่ ไอนา รู้ด และเบอรธา เบลานท์ ไม่มีบุตรธิดา ยอร์ชได้ดำรงชีวิตมาอย่างสงบและถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 75 ปีเศษ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. สุธาสินา เชาวน์เลิศเสรี (November 29, 2019). "George McFarland ชายผู้เป็นอิฐก้อนแรกของศิริราช และทำให้เกิดคณะแพทย์ฯ ศิริราชพยาบาล : The McFarlands in Thailand". The Cloud. สืบค้นเมื่อ June 3, 2021.
  2. "หมอแมคฟาร์แลนด์ "อิฐก้อนแรกของศิริราช"". Silpa Wattanatham. August 2, 2020. สืบค้นเมื่อ June 3, 2021.
  3. ปทานุกรม-พิมพ์ดีด-ตำราแพทย์ ฯลฯ มรดกที่ “แมคฟาร์แลนด์” ทิ้งไว้ให้สยาม ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563
  4. สุธาสินา เชาวน์เลิศเสรี (29 November 2019). "George McFarland ชายผู้เป็นอิฐก้อนแรกของศิริราช และทำให้เกิดคณะแพทย์ฯ ศิริราชพยาบาล : The McFarlands in Thailand". The Cloud. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
  5. "หมอแมคฟาร์แลนด์ "อิฐก้อนแรกของศิริราช"". Silpa Wattanatham. 2 August 2020. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
  6. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  7. พระราชทานยศ
  8. ระบบห้องสมุดอัตโนมัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์[ลิงก์เสีย], ค้นหาวันที่ 25 ธ.ค. 2556.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๑๙, ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๐
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๔๓ หน้า ๖๑๘, ๒๐ มกราคม ๑๑๙
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๐๖, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๖๙
  • พระอาจวิทยาคม ประมวลประวัติครู คุรุสภาจัดพิมพ์ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2535. หน้า 32

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]