พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ (ชิน บุนนาค)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ (ชิน บุนนาค)

อำมาตย์เอก พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ (ชิน บุนนาค) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2423 เป็นบุตรของพระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี (ชาย) กับ มารดาชื่อ ชื่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ หลวงประสิทธิราชศักดิ์ (ไชย บุนนาค) นายร้อยเอก กรมจเร ทหารม้า ทางด้านชีวิตครอบครัวมีบุตรธิดา 7 คน โดยบุตรที่เกิดกับคุณหญิงเปลื้อง ได้แก่ ชับ โชน และหม่อมปริม บุนนาค หม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล และ มีบุตรธิดาที่เกิดกับคุณหญิงเทียบ (ธิดานายจ่าง บุนนาค) ได้แก่ ชินเล็ก และกุลพันธ์

ด้านการศึกษาเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดพิชยญาติการาม และโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบและโรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงคนที่ 2 ของโรงเรียนต่อจากนายพุ่ม สาคร เมื่อปี พ.ศ. 2439 สอบได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เข้าเรียนที่ราชวิทยาลัยแห่งลอนดอน (King's College London) มหาวิทยาลัยลอนดอน สำเร็จวิชาวิศวกรรมโยธา ในปี พ.ศ. 2447[1] หลังจากศึกษาจบเข้ารับราชการในตำแหน่งนายช่าง กรมคลอง กระทรวงเกษตราธิการอยู่ 5 ปี ย้ายไปเป็นนายช่างรถไฟ หลวงสายใต้ กรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการ หลังจากนั้นได้เป็นคณบดีคนแรกของคณะยันตรศึกษาหรือคณะวิศวกรรมศาสตร์ กรมมหาวิทยาลัย กระทรวงธรรมการ เมื่อปี พ.ศ. 2460 และได้เป็นหัวหน้าแผนก 4 กรมยุทธโยธาทหารเรือ และผู้บังคับการ กองช่างนวกรรม กรมยุทธโยธาทหารเรือ กระทรวงทหารเรือ ต่อมาได้รับเป็น ตำแหน่งอธิการหอ “วังวินเซอร์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ (ชิน บุนนาค) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 จนได้ออกรับพระราชทานบำนาญ เมื่อ พ.ศ. 2469

พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์ช้างเผือก เหรียญดุษฎีมาลา และเข็มศิลปวิทยา

หลังจากออกจากราชการแล้ว ได้ไปทำไร่ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ถึงอนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. 2487 สิริอายุ 60 ปี

เครื่องราขอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]